บุรีรัมย์รอดแล้ง น้ำยังมีมาก

บุรีรัมย์รอดแล้ง น้ำยังมีมาก

บุรีรัมย์ปลอดวิกฤติแล้งน้ำใช้การมากกว่าปี’63 ถึง 3 เท่าสทนช.ลงพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ รับลูก “บิ๊กป้อม”ส่งต่อนโยบายป้องกันภัยแล้ง ชี้บ่อบาดาลหนุนน้ำกินน้ำใช้ประชาชนได้ประโยชน์กว่า 200 ครัวเรือน มั่นใจแล้งนี้ไม่มีซ้ำรอยปีก่อน

หลังพบน้ำใช้การปีนี้มากกว่า 50% พร้อมถกหน่วยงานในพื้นที่รับมือฤดูฝนล่วงหน้า

ดร.สมเกียรติ  ประจำวงษ์  เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยในโอกาสลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือสถานการณ์ภัยแล้งและตรียมการช่วงฤดูฝนปี 2563/2564 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่า จากการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งล่าสุด พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการเน้นย้ำทุกหน่วยงานยังต้องติดตามให้ความช่วยเหลือและป้องกันผลกระทบภัยแล้งก่อนสิ้นฤดูอย่างเต็มนี้ ซึ่งบุรีรัมย์เป็นจังหวัดที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำจากปริมาณฝนที่ตกน้อยต่อเนื่อง 2 ปี แต่จากการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาประกอบกับปริมาณฝนที่ตกมากในพื้นที่ ส่งผลให้สถานการณ์น้ำในจังหวัดบุรีรัมย์ช่วงฤดูแล้งนี้ไม่น่ากังวลมากนัก

 โดยพบว่า ปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งน้ำต่างๆ มีน้ำใช้การมากกว่าปีที่ผ่านมา เช่น  “สระน้ำเหมืองเก่า”เทศบาลตำบลอิสาณ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 1.5 ล้าน ลบ.ม.จากขนาดความจุ 2.3 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างผนังกั้นน้ำ ช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาสามารถช่วยดักน้ำที่ไหลจากเขากระโดงไปเก็บไว้ที่“สระน้ำเหมืองเก่า”เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองน้ำดิบผลิตน้ำประปาพื้นที่เมืองบุรีรัมย์กรณีมีวิกฤติภัยแล้ง ซึ่งฤดูแล้งนี้ยังไม่ได้นำน้ำจากเหมืองเก่ามาใช้ผลิตน้ำประปาแต่อย่างใด

 

 เนื่องจากอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบหลักที่ใช้สนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภคของประชาชนจังหวัดบุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำ 14.76 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณความจุเก็บกัก 26 ล้าน ลบม. คิดเป็น 57 % ซึ่งถือว่ามีเพียงพอในการผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภค-บริโภคและเขตเศรษฐกิจสำคัญในตัวเมืองบุรีรัมย์ในช่วงแล้งนี้ได้อย่างเพียงพอ

  อย่างไรก็ตาม แม้ปริมาณน้ำอุปโภค-บริโภคจะไม่ขาดแคลน แต่ยังคงต้องจัดสรรน้ำเพื่อกิจกรรมการต่างๆตลอดทั้งฤดูและสำรองถึงต้นฤดูฝน จึงได้เน้นย้ำกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งให้เป็นไปตามแผนเนื่องจากสภาพน้ำต้นทุนมีจำกัด ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยเฉพาะรณรงค์ไม่ให้มีการเพาะปลูกข้าวเพิ่มขึ้นอีกเพื่อไม่ให้กระทบกับน้ำต้นทุน

ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีการเพาะปลูกแล้ว 3.2 หมื่นไร่จากแผน 1.6 หมื่นไร่  “สถานการณ์น้ำในพื้นที่บุรีรัมย์ช่วงฤดูแล้งปีนี้เบาใจได้ว่าไม่วิกฤติแน่นอน  เนื่องจากมีการบริหารจัดการน้ำได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ปริมาณน้ำใช้การได้ในแหล่งน้ำทุกขนาดความจุรวม 475 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีน้ำใช้การ รวม 266 ล้าน ลบ.ม.หรือ 56% (มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี’63 ถึง 154 ล้าน ลบ.ม.)

 แยกเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 1 แห่ง คือ อ่างฯ ลำนางรอง มีน้ำใช้การ 84 ล้าน ลบ.ม. หรือ 71% อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 11 แห่ง น้ำใช้การรวม 102  ล้าน ลบ.ม. หรือ 66% ขนาดเล็ก 4,380 แห่ง ความจุรวม 202 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีน้ำ 81 ล้าน ลบ.ม. หรือ 22%  

ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำรองรับยังมีโครงการที่รัฐบาลจัดสรรงบกลางปี’63 ในการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กป้องกันปัญหาภัยแล้งในจังหวัดบุรีรัมย์ทั้งสิ้น  490 โครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จ 149 โครงการ อาทิ  ก่อสร้างแหล่งน้ำใหม่ ฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิม สร้างระบบประปา รวมถึงโครงการบ่อบาดาลที่ อ.ประโคนชัย ที่ช่วยสนับสนุนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ต.สี่แหลี่ยม บ้านศรีบูรพา และชุมชนในพื้นที่กว่า 200 ครัวเรือนไม่ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ด้วย

 ทั้งนี้ ช่วงรอยต่อปลายฤดูแล้งต่อเนื่องฤดูฝนยังได้ถือโอกาสลงพื้นที่ครั้งนี้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซักซ้อมมาตรการรับมือฤดูฝนที่จะถึงนี้ล่วงหน้า ตามข้อสั่งการของ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ด้วยเช่นกัน” ดร.สมเกียรติ  กล่าว     

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในลุ่มน้ำมูลเกิดความยั่งยืน สทนช.ได้จัดทำโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) พื้นที่ลุ่มน้ำมูล โดยนำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชาติ 20 ปีสู่พื้นที่ลุ่มน้ำด้วยทางเลือกในการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพบริบทของพื้นที่ทั้งตอนบน ตอนกลางและตอนล่าง

ทั้งแม่น้ำมูลสายหลักและลำน้ำสาขาที่อยู่ฝั่งซ้าย-ฝั่งขวาของแม่น้ำมูลที่มีข้อจำกัดและศักยภาพของพื้นที่แตกต่างกันมากเนื่องจากเป็นลุ่มน้ำขนาดใหญ่ ขนาดพื้นที่ 44 ล้านไร่ ครอบคลุมในพื้นที่ 10 จังหวัด  โดยโครงการดังกล่าวจะสิ้นสุดการศึกษาในเดือนมีนาคมนี้ จากนั้น  โดยสทนช.เตรียมนำผลการศึกษาทั้งหมดเป็นกรอบในการพิจารณาระดับโครงการของแต่ละหน่วยงานที่จะลงในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลให้เป็นไปตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป