ไทยขึ้นทะเบียน 'วัคซีนโควิด19' ตัวที่ 3 แล้ว

ไทยขึ้นทะเบียน 'วัคซีนโควิด19' ตัวที่ 3 แล้ว

อย.ขึ้นทะเบียน “วัคซีนโควิด19”ในไทย ตัวที่ 3 ของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ต่อจากซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า ชนิดฉีดเข็มเดียว ย้ำยังต้องใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน อายุทะเบียน 1 ปี

ทะเบียนอายุ 1 ปี      
 เมื่อเวลา16.45 น. วันที่ 25 มี.ค.2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า  ได้รับรายงานจากนพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ว่า อย.ได้พิจารณาอนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด19 ของจอนห์สันแอนด์จอห์สัน โดยบริษัท แจนเซนแล้ว เป็นวัคซีนรายที่ 3  ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนใช้ในประเทศไทย แต่ยังต้องใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน

         ขณะนี้ วัคซีนทั้ง 3 รายที่ขอขึ้นทะเบียนในประเทศไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ครบทั้ง 3 ราย คือ ซิโนแวค แอสตร้าเซนเนกา และ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทย ไม่ได้ปิดกั้นการขึ้นทะเบียนและใช้วัคซีน ในประเทศไทย ขอเชิญชวนให้ผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นๆ มาขึ้นทะเบียน เพื่อนำมาใช้ในประเทศไทย ให้คนไทยได้มีทางเลือกในการรับวัคซีน มากขึ้น

        นพ.ไพศาล กล่าวว่า ตนได้ลงนามขึ้นทะเบียนวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน แล้วโดยมีบริษัทแจนเซน-ซีแลก จำกัด เป็นผู้ขึ้นทะเบียนขอนำเข้า วัคซีนนี้เป็นวัคซีนชนิดเข็มเดียว ทะเบียนมีอายุ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 2564 – 24 มี.ค. 2565  

 ผชช.ชี้ไม่มีปัญหาเรื่องภูมิต้านทานเดิม

       ผู้สื่อข่าวถามว่า การขึ้นทะเบียนมีเงื่อนไขหรือไม่ เนื่องจากยังมีข้อห่วงใยเรื่องอะดิโนไวรัส ในคนไทย นพ.ไพศาล กล่าวว่า เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญก็มีการถกเถียงกันอยู่ โดยผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่าไม่มีเงื่อนไขเรื่องแอนติบอดี้ที่มีอยู่ก่อน (preexisting antibody)ของอะดิโนไวรัส 26  จึงไม่มีผลต่อประสิทธิผลของวัคซีน โดยมีการเทียบข้อมูลจากการทำการทดลองทางคลินิกที่ประเทศบราซิล ซึ่งเป็นประเทศที่มีการติดเชื้ออะดิโนไวรัส 26 เท่าๆ กับประเทศไทย ตัวเลขประมาณ 30-40 % โดยวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ที่นำไปทดลองก็มีประสิทธิผลเช่นเดียวกัน 66- 70% แต่เมื่อมีการนำมาใช้ในประเทศไทยต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง

 รพ.เอกชนสนใจบริการได้

        นพ.ไพศาล กล่าวด้วยว่า สำหรับรพ.เอกชน ภาคเอกชน หากต้องการให้บริการเกี่ยวกับวัคซีนชนิดที่มีการขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉินในประเทศไทยแล้วนั้  สามารถมาขึ้นทะเบียนกับกรมควบคุมโรคได้ เพราะการฉีดในภาวะฉุกเฉินต้องให้กรมควบคุมโรคดูแล ฉีดตามหลักเกณฑ์ และมีมาตรการเรื่องการรายงานผล และการติดตามอาการข้างเคียง อย่างเช่น วัคซีนของจอห์นสันฯไม่ได้มีคำสั่งซื้อจากรัฐบาล หรือกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)แต่อย่างใด ซึ่งเอกชนสามารถไปเจรจาได้  เป็นสิ่งแสดงชัดเจนว่ารัฐไม่ได้ปิดกั้น

3 บริษัทหารือเตรียมยื่น

          นพ.ไพศาล กล่าวอีกว่า วัคซีนของบริษัท บารัต ไบโอเทค เทคโนโลยี ประเทศอินเดีย นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด อยู่ระหว่างการยื่นเอกสารแบบต่อเนื่อง หรือ rolling submission และสำหรับวัคซีนอื่น ๆ ได้แก่ วัคซีนโมเดอร์นา ของประเทศสหรัฐอเมริกา วัคซีนสปุตนิก ไฟว์ ของประเทศรัสเซีย และวัคซีน ซิโนฟาร์ม ของประเทศจีน ได้มีการเข้าหารือกับ อย. เพื่อเตรียมการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 แล้ว  

           ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  วัคซีนโควิด19ของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เป็นวัคซีนชนิดไวรัล แว็กเตอร์ หรือไวรัสเป็นพาหะ โดยใช้อะดิโนไวรัสของคน ต่างจากวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ที่เป็นชนิดไวรัล แว็กเตอร์เช่นกัน แต่ใช้อะดิโนไวรัสของลิงชิมแพนซี  โดยวัคซีนโควิด19 ของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันนี้  สถาบันวัคซีนแห่งชาติระบุเมื่อวันที่ 18 มี.ค.264 ว่า เป็น 1 ใน 13 ชนิดที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization : EUA) ซึ่งเป็นการอนุญาตให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉิน โดยหน่วยงานควบคุมกำกับของแต่ลประเทL โดยพิจารณาจากผลการทดสอบวัคซีนในมนุษย์(อาจมีผลเฟส3แล้วหรือไม่ก็ได้) ให้สามารถใช้กับประชากรกลุ่มเป้าหมายในประเทศนั้นๆได้

       และเป็น 1 ใน 3 ชนิดที่ได้รับการรับรอง(Emergency Use Listing :EUL) จากองค์การอนามัยโลก(WHO) ซึ่งเป็นการประเมินวัคซีนในภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข มีเป้าหมายเพื่อให้สามารถใช้วัคซีนได้ในวงกว้าง เนื่องจากระบบควบคุมกำกับของบางประเทศอาจไม่มีความพร้อมและไม่มีมาตรฐานเพียงพอ จึงให้ใช้การอ้างอิงจากEUL โดยการประเมินจะทำโดยผู้เชี่ยวชาญของWHO เช่นเดียวกับวัคซีนของไฟเซอร์/ไบออนเทค และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า