เปิดหน้า "101ส.ส.ร่วมรัฐบาล"หนุนแก้มาตรา9ร่างพ.ร.บ.ประชามติ

เปิดหน้า "101ส.ส.ร่วมรัฐบาล"หนุนแก้มาตรา9ร่างพ.ร.บ.ประชามติ

หลังรัฐสภาเสียงข้างมาก โหวตชนะ กมธ.ร่างพ.ร.บ.ประชามติ จนเป็นเหตุให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า หากวาระสาม ถูกคว่ำ จะต้องเดิมพันกับสถานภาพรัฐบาล ล่าสุดผลคะแนนลงมติได้เปิดเผยออกมาแล้ว

       ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ซึ่งพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งเป็นร่างกฎหมายสำคัญที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอเข้าสู่รัฐสภา ในวาระสอง ตามที่กรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาแล้วเสร็จ โดยที่ประชุมได้พิจารณาถึงหมวด 1 บททั่วไป มาตรา 9 ว่าด้วยหลักการให้การจัดออกเสียงประชามติ และควบคุมดูแลเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมาตราดังกล่าว กมธ.ฯ ได้แก้ไข โดยเพิ่มความว่าเสรี และเสมอภาค ไว้ในเนื้อหา
       ทั้งนี้การพิจารณาวาระดังกล่าวมีเหตุให้ต้องเลื่อนการพิจารณาออกไปในการประชุมรัฐสภา สมัยวิสามัยถัดไป ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 7-8 เมษายน หลังจากที่เสียงข้างมากของที่ประชุมรัฐสภา จำนวน 273 เสียง สนับสนุนให้มีการแก้ไขตามข้อเสนอของนายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย ต่อ 267 เสียงที่เห็นชอบกับกมธ.เสียงข้างมาก ส่งผลให้เนื้อหามาตรา 9 ถูกเพิ่มเติมเนื้อหา ซึ่งมีสาระสำคัญกำหนดกรอบและผู้ที่มีสิทธิ์ยื่นเรื่องให้ออกเสียงประชามติ  ได้แก่ การออกเสียงเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ, การออกเสียงที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นว่ามีเหตุอันสมควร, การออกเสียงตามกฎหมายกำหนดล การออกเสียงตามที่รัฐสภาพิจารณาและลงมติและ การออกเสียยงกรณีที่ประชาชนเข้าชื่อต่อครม.  ทั้งนี้ได้กำหนดบทยกเว้นห้ามทำประชามติ ในประเด็นที่ผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน 
       และเมื่อร่างมาตรา 9 ถูกแก้ไข จำเป็นต้องแก้ไขในมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 14 มาตรา 15 และหมวดว่าด้วยบทกำหนดโทษ ทำให้ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.ฐานะประธานกมธ.ฯ ขอให้ที่ประชุมเลื่อนการพิจารณาออกไป
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการลงคะแนนเสียง  273 ต่อ 267 ที่ห่างกันเพียง 6 เสียงนั้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นของสมาชิกรัฐสภาซีกพรรคฝ่ายค้าน ทั้งนี้มีเสียงของส.ส.ในซีกของพรรคร่วมรัฐบาล จำนวน 101 คนที่ลงคะแนนสนับสนุนการแก้ไขเนื้อหาที่เสนอโดยนายชูศักดิ์  ประกอบด้วย ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ  2 เสียง คือ นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น , นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์  ขณะที่พบว่ามี ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ​จำนวน 34 คนไม่พบการออกเสียงลงคะแนน 
       พรรคภูมิใจเกือบทั้งพรรค  จำนวน58 เสียง ยกเว้น 3 ส.ส.ที่ไม่ปรากฎการลงคะแนน คือ   นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายอนุทิน ชาญวีรกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ 
 
       พรรคประชาธิปัตย์  28 เสียง ยกเว้น นายธารา ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง , นายภานุ ศรีบุศยกาญจน์ ส.ส.นครศรีธรรมราช และ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา ที่ออกเสียงเห็นด้วยกับกมธ.เสียงข้างมาก  ส่วน 20 เสียงไม่พบการลงคะแนน
 
       พรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน 2 เสียง คือ นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายจุลพันธ์ โนนศรีชัย  ส.ส.บัญชีรายชื่อ
 
       พรรคเศรษฐกิจใหม่  3 เสียง คือ นายภาสกร เงินเจริกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นางมารศรี ขจรเรืองโรจน์  ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทั้งนี้พบว่านายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ประกาศสังกัดพรรคฝ่ายค้านได้ลงมติสนับสนุนด้วย , พรรคพลังท้องถิ่นไท 2เสียง คือ น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี และ นายโกวิทย์ พวงงาม  ส.ส.บัญชีรายชื่อ, พรรคชาติพัฒนาทั้ง  4 เสียง รวมถึงส.ส.พรรคเล็ก อาทิ นงสงศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลเมืองไทย, นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่, นายยรรยงก์ ถนอมพิชัยธำรง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย
       ส่วนส.ว.​ที่ลงมติเห็นด้วยกับกมธ.เสียงข้างน้อย ยได้แก่ นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน, นายพิศาล มาณวพัฒน์ และ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ขณะที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา งดออกเสียง มี ส.ว.  77 คนไม่พบการออกเสียงลงคะแนน
       ทั้งนี้กมธ. พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติ ได้นัดประชุมเพื่อหารือกันวันที่ 1-2 เมษายน เพื่อพิจารณาเนื้อหาที่ปรับให้สอดรับกับมาตรา 9 ที่มีการแก้ไข.