กลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ (22 มี.ค.64)

กลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ (22 มี.ค.64)

22-26 มีนาคม: แนวโน้มไซด์เวย์อิงทางลง

ยังไม่เห็นแววข่าวบวกในสัปดาห์นี้ ตลาดน่าจะขยับลงแบบ sideway down

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี SET ขยับตัวอยู่ในช่วงแคบ ๆ ตามที่เราคาดเอาไว้ในบทวิเคราะห์รายสัปดาห์ฉบับที่แล้ว ถึงแม้ว่าจะมีข่าวบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ และท่าทีของ FOMC ที่ออกไป ทาง dovish แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐก็ยังคงขยับขึ้นต่ออีก ส่งผลให้ตลาดหุ้น
ทั่วโลกปั่นป่วน นอกจากนี้ก็ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความปลอดภัยในการนำวัคซีนของ AstraZeneca มาฉีด ในขณะที่มีการนำมาตรการ lockdown กลับมาใช้ที่กรุงปารีส ซึ่งประเด็นลบเหล่านี้หักล้างผลจากมุมมองบวกของเศรษฐกิจมหภาคโลกจากมาตรการกระตุ้นของสหรัฐไปบางส่วน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศที่มีผลต่อตลาดค่อนข้างเงียบ โดยนักลงทุนยังคงติดตามการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในประเทศไทย สำหรับปัจจัยการเมือง ในสัปดาห์ที่แล้ว สภาลงมติคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินว่าต้องมีการทำประชามติก่อนที่จะเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ทั้งฉบับได้

สำหรับในสัปดาห์นี้ (22-26 มีนาคม) เราระมัดระวังกับทิศทางตลาดหุ้นไทยมากขึ้นจากเหตุผลหลายข้อ

ข้อแรกคือตลาดโลกขาดปัจจัยกระตุ้นใหม่ ๆ ในระยะสั้น เพราะข่าวใหญ่ ๆ ทางด้านมหภาค อย่างเช่น มาตรการกระตุ้นของสหรัฐ และ การตัดสินใจของ FOMC ออกมาหมดแล้ว ข้อสอง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งจะทำให้ตลาดผันผวนต่อไปอีก ข้อสาม ภาวะตลาดหุ้นเอเซียยังคงเป็นลบจากการที่ต้องระมัดระวังทิศทางหุ้นจีนจาก i) นโยบายที่เข้มงวดมากขึ้นในช่วงหลังของทางการจีน ii) ผลตอบรับที่ไม่ค่อยดีนักจากการประชุมระหว่างตัวแทนของจีนและสหรัฐที่ Alaska ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ตลาดคลายความคาดหวังว่าสงครามการค้าจะผ่อนคลายลงไป แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็เชื่อว่าดัชนี SET มี downside จำกัดเพราะสถานการณ์ในประเทศยังดีขึ้นต่อเนื่อง โดยยังคงเดินหน้าฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ต่อไป ซึ่งจะกรุยทางไปสู่การผ่อนคลายมาตรการทางสังคมเพิ่มเติมอีกในเร็ว ๆ นี้

ติดตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ, การตัดสินใจของกนง. และกระแสข่าวการเมืองในประเทศ

(0/-) ตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ถึงแม้ว่า Fed จะส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะทนกับภาวะเงินเฟ้อในระยะสั้น และจะรักษาอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำแบบ ultraaccommodative ไว้อีก 1-2 ปีจากจี้ แต่สภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ, มาตรการกระตุ้น และอุปทาน
พันธบัตรใหม่ที่จะเพิ่มเช้ามาก็หนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรขยับสูงขึ้นอีก

(0) การประชุม กนง. ในวันที่ 24 มีนาคม ในขณะที่ตลาดมองว่า กนง. น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้เท่าเดิมที่ 0.5% เราคิดว่าประเด็นน่าสนใจที่ต้องติดตามได้แก่ i) กนง. จะปรับประมาณการ GDP ปี 2564 จากปัจจุบันที่ 3.2% หรือไม่ และ ii) กนง. จะประกาศแผนเพิ่มเติมในการลดภาระทางการเงินให้กับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางหรือไม่

(0) สถานการณ์ทางการเมืองหลังจากที่สภามีมติคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ นักการเมืองบางค่ายในพรรคร่วมรัฐบาลได้เปิดเผยแผนที่จะเสนอขอแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำประชามติก่อน

เน้น defensive เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในระยะสั้น; แนะนักลงทุนระยะกลางให้เข้าซื้อเมื่อย่อ

ในภาวะที่ตลาดอาจจะพักฐานหรือย่อลง เราคาดว่าหุ้นกลุ่ม large-cap น่าจะขยับอยู่ในช่วงแคบ ๆ ในขณะที่หุ้นที่มีธีมน่าสนใจอย่างเช่น การกลับมาเปิดเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง หรือหุ้นที่ราคายัง laggard อาจจะ outperform ดัชนี SET ได้ในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า โดยในส่วนของหุ้นในธีม re-opening เรา
ยังคงชอบ BDMS*, CPN* และ MAJOR* ส่วนกลุ่มที่ราคายัง laggard เราชอบหุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และหุ้นบางตัวในกลุ่มการบริโภค อย่างเช่น STEC*, CPALL* และ HMPRO* สำหรับการลงทุนในระยะที่ยาวขึ้น เรายังคงแนะนำให้เข้าซื้อเมื่อตลาดย่อลง เนื่องจากเรามองว่า ‘อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่พุ่งขึ้นจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ’ จะส่งผลบวกสุทธิต่อตลาดหุ้นโลกและตลาดหุ้นไทย