แพล้นท์โทโลยี-สยามเฮมพ์ ควงพันธมิตร เอสแอนด์พี-กิฟฟารีน-แบล็คแคนยอน-อาร์โนฯ ลุยสินค้ากัญชง-กัญชา 

แพล้นท์โทโลยี-สยามเฮมพ์ ควงพันธมิตร เอสแอนด์พี-กิฟฟารีน-แบล็คแคนยอน-อาร์โนฯ ลุยสินค้ากัญชง-กัญชา 

เมื่อไทยปลดล็อกกัญชา-กัญชง ให้นำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่งผลให้ธุรกิจเล็กใหญ่ขานรับการทำตลาดอย่างคึกคัก เดินหน้าพัฒนาสินค้าและบริการจนสามารถเสิร์ฟให้ผู้บริโภค ส่วนที่ยังรอการอนุญาตสเต็ปถัดไป ผู้ประกอบการต่างวิจัยและพัฒนาสินค้ารอคิกออฟสู่ตลาด

บริษัท แพล้นท์โทโลยี จำกัด หนึ่งในผู้ได้รับอนุญาตให้นำเข้าเมล็ดกัญชา เพื่อส่งเสริมให้ความรู้ในการปลูกพืชกัญชงในระดับอุตสาหกรรม เดินหน้ายกระดับ “กัญชง มุ่งสู่ การสร้างเศรษฐกิจฐานรากของไทยอย่างยั่งยืน” 

นายชาติประชา สอนกลิ่น กรรมการผู้จัดการบริษัท แพล้นโทโลยี จํากัด เปิดเผยว่า บริษัทมีแนวคิดในการก้าวเป็นผู้นำอุตสหกรรมบริการเกี่ยวกับกัญชง จึงพยายามสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่น่าเชื่อถือเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจและพัฒนากัญชง โดยเฉพาะการโฟกัสด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะปลูก ส่งเสริมอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ 

ทั้งนี้ การเพาะปลูกพืชกัญชงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่สำคัญเป็นเรื่องใหม่สำหรับเกษตรกรไทย จึงต้องให้ความรู้ ทำความเข้าใจกับเกษตรกรอย่างมาก เพื่อให้ได้ผลผลิตกัญชงที่มีคุณภาพป้อนสู่โรงงานสกัดและแปรรูปต่อไป 

“เกษตรกรจะปลูกพืชกัญชงต้องเข้าใจระบบให้ดี ในฐานะที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเกษตรมานาน ประกอบกับมีบริการครบวงจรเกี่ยวกับการเพาะปลูกกัญชงทั้งแบรนด์แวร์(Brainware)เทคโนโลยี(Hardware)และซอฟท์แวร์ มีโมเดลธุรกิจที่รองรับการเพาะปลูกตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ระบบส่งเสริมการเกษตร เทคโนโลยีการเพาะปลูก วิทยาการก่อนและหลังเก็บเกี่ยว ฯ จะช่วยเพิ่มศักยภาพ และยกระดับเศรษฐกิจฐานรากได้”

ที่ผ่านมา บริษัทมีการอบรมเกษตรกรหลายรุ่น จนสามารถสร้างเป็นเครือข่ายเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ 2,143 ราย มีพื้นที่เพาะปลูกรองรับกว่า 10,000 ไร่ เพื่อสร้างผลผลิตป้อนให้กับโรงงานสกัดและแปรรูปต่อไป 

161615054843

++ผนึกพันธมิตรเชื่อมเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรม

ล่าสุด บริษัทได้ลงนามความร่วมมือหรือเอ็มโอยู กับพันธมิตรเพื่อเชื่อมต่อเครือข่ายการเพาะปลูกกัญชงไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ดังนี้ กลุ่มบริษัทผู้ผลิต(สกัด)กัญชง ได้แก่ บริษัท สุพรีม ฟาร์มาเทค จํากัด โรงงานสกัดน้ํามันจากเมล็ดกัญชง บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จํากัด (มหาชน) บริษัท สยาม เฮอเบิล เทค จํากัด และบริษัท อีสเทิร์น

สเปคตรัม กรุ๊ป จํากัด โรงงานสกัดสารซีบีดี ลุ่มบริษัทผลิตโรงเรือนสําหรับการเพาะปลูกแบบอัจฉริยะ ได้แก่ บริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จํากัด (มหาชน) ที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตโรงเรือนสําหรับปลูกพืช บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จํากัด ที่มีความเชียวชาญในระบบเพาะปลูกอัตโนมัติ นําความรู้ผสมผสานในการสร้างระบบการปลูกที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Ai) ช่วยพัฒนาระบบการปลูก การควบคุมปัจจัยสิ่งแวดล้อม เพื่อทําให้ได้ผลผลิตสูง มีคุณภาพ และพร้อมที่จะป้อนผลผลิตเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ บริษัท สยาม เฮมพ์ จํากัด ที่เป็นพันธมิตรกับบริษัท แพล้นโทโลยี จํากัด ยังลงนามความร่วมมือกับ บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จํากัด บริษัท อโณไทย 2019 จํากัด บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จํากัด บริษัท กิฟฟารีน สกายไลน์ ยูนิตี้ จํากัด และบริษัท สยามเฟรช เอ็นเตอร์ไพรส์ จํากัด เพื่อนําผลผลิตกัญชง-กัญชา ไปสู่ภาคการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีคุณภาพ เข้าถึงประชาชนได้ง่ายขึ้น อีกทั้งสยาม เฮมพ์ จะเป็นผู้ประสานสร้างเครือข่ายและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการด้วย 

อย่างไรก็ตาม จากกระแสกัญชากัญชงมาแรง ทำให้ปัจจุบันบริษัทแพล้นท์โทโลยี ยังมีผู้ประกอบการอีกนับร้อยรายต้องการเป็นพันธมิตร 

++อาหาร-เครื่องดื่ม-ขายตรง ลุยสินค้ากัญชา

นางกรรณิการ์ ชินประสิทธิ์ชัย ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดอาวุโส บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้นำใบกัญชาไปเป็นส่วนประกอบของอาหารเมนูต่างๆ เช่น ผัดไท ก๋วยเตี๋ยว และเครื่องดื่ม ประเดิมให้บริการที่ร้านแบล็คแคนยอนสาขากรมการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งคาดว่าจะสร้างความตื่นเต้น ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องการลองสินค้า และกระตุ้นให้ธุรกิจร้านอาหารกลับมาคึกคัก มีชีวิตชีวาอีกครั้ง หลังจากได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ระบาด

"เมนูอาหารกัญชงเป็นการสร้างเสน่ห์ให้ธุรกิจอาหารกลับมามีชีวิตชีวิต ผู้บริโภคเองก็ต้องการลองรับประทาน"

นายพงศ์พสุ  อุณาพรหม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดอาวุโส  บริษัท กิฟฟารีน สกายไลน์ ยูนิตี้ จํากัด กล่าวว่า บริษัทศึกษาสินค้าเกี่ยวกับกัญชงมา 2 เดือนแล้ว หากอย.อนุญาตให้นำมาใช้ในสินค้าได้ คาดว่าจะประเดิมพัฒนาสู่สินค้าชาชง เนื่องจากผลิตภัณฑ์มีงานวิจัยรองรับผลลัพธ์แล้ว ส่วนเครื่องสำอางอยู่ระหว่างการทดสอบและรอผลวิจัย

“หากอย.มีข้อกำหนดที่ชัดเจน  และอนญาตให้นำกัญชงมาใช้ในสินค้าได้ บริษัทพร้อมจะปรับสูตร และเปิดตัวสู่ตลาดได้ทันที” 

ด้านตัวแทนจากบริษัท อโณทัย 2019 จำกัด ผู้ประกอบการร้านอาหารอาโนส์(Arno's) กล่าวว่า บริษัทได้พัฒนาเมนูอาหารที่ผสมกัญชาจำนวน 40 เมนู เช่น กระเพราเนื้อริบอายผสมใบกัญชา, ก๋วยเตี๋ยวเนื้อรวมพิเศษ ผสมใบกัญชา ไข่เจียวใบกัญชา และยำใบกัญชากรอบฯ เสิร์ฟแก่ลูกค้าสาขาทองหล่อเป็นแห่งแรก โดยผลตอบรับจากผู้บริโภคค่อนข้างดี มียอดขายราว 6,000-7,000 บาทต่อวัน หากแตะ 15,000 บาทต่อวันจะขยายการเสิร์ฟเมนูไปยังสาขาอื่นๆ 

161615025951

“ราคาของเมนูอาหารที่ผสมกัญชาจะปรับเพิ่มขึ้น 30-40 บาทต่อจาน เช่น เดิมกระเพราะขาย 60 บาท จะเพิ่มเป็น 90 บาท เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้บริษัททดลองขาย 1 สัปดาห์แล้ว”     

ด้านเอสแอนด์พีฯ ทดลองทำคุกกี้กัญชา แต่ยังไม่มีรายละเอียดในการเปิดตัวสู่ตลาด