เอกชนควักกว่า 10 ล้าน ขอนำเข้า 'วัคซีนโควิด' ฉีดแรงงาน 5 หมื่นคน

เอกชนควักกว่า 10 ล้าน ขอนำเข้า 'วัคซีนโควิด' ฉีดแรงงาน 5 หมื่นคน

ส.อ.ท. แบ่งเบาภาระรัฐบาล เร่งนำเข้าวัคซีนโควิด-19 มาฉีดให้แรงงานเองทั้งคนไทย-ต่างชาติ เผยล็อตแรก 109 บริษัท แรงงานกว่า 5 หมื่นคน จำนวนกว่า 1 แสนโดส คาดใช้เงินกว่า 10 ล้านบาท ด้านดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ เริ่มฟื้น หลังผ่อนคลายมาตรการควบคุม

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนต้องการที่จะแบ่งเบาภาระภาครัฐ โดยการเปิดให้ภาคเอกชนสามารถสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 มาฉีดให้กับพนักงาน โดย ส.อ.ท. ได้ไปสำรวจความต้องการของบริษัทต่าง ๆ ที่จะฉีดวัคซีนให้กับแรงงานในรอบแรก จำนวน 109 บริษัท มีจำนวนแรงงานกว่า 5.1 หมื่นคน และยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องการฉีดเอง โดยองค์การเภสัชกรรมจะเป็นผู้จัดหามาให้ ซึ่งไม่ใช้สัดส่วนที่รัฐบาลนำมาฉีดให้ประชาชน แต่เป็นล็อตต่อไปที่สั่งซื้อมาให้เอกชนนำไปฉีด ทำให้ไม่กระทบต่อประชาชน รวมทั้งสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรจะเร่งตรวจสอบรับรองเพิ่มขึ้น เพราะในโลกนี้มีวัคซีนโควิด-19 กว่า 10 ชนิด  เพื่อเพิ่มช่องทางให้กับเอกชนนำเข้ามาฉีดได้มากขึ้น

ส.อ.ท. มองว่าภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และในขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มฟท้นมีการผลิตเพิ่มขึ้นทำให้ไม่สามารถที่จะปล่อยให้เกิดการสะดุดลงได้การผลิตต้องต่อเนื่อง คนงานในภาคอุตสาหกรรมจึงมีความจำเป็น คาดว่าจะเริ่มฉีดเดือนมิ.ย. สถานการณ์วัคซีน ขณะนี้มีเพียง 2 ชนิด คือ ซิโนแวค กับ แอสตร้าเซนเนก้าที่ขึ้นทะเบียน อย. หากจองได้แล้วตกประมาณโดสละ 1 พันบาท รวมแล้วคนละ 2 พันบาท เมื่อคูณกับจำนวนแรงงานกว่า 5.1 หมื่นคน รวมต้องใช้เงินราว 10.2 ล้านบาท

โดยได้ประสานงานไปยังกระทรวงสาธารณสุขหากโรงงานขนาดเล็กไม่เกิน 100 คน ก็จะเดินทางไปรับการฉีดที่โรงพยาบาล หรือสาธารณสุข แต่หากเป็นโรงงานขนาดใหญ่แรงงานกว่า 100 คนขึ้นไป บางโรงงานเป็นพันคน ก็จะให้หมอเข้าไปฉีดที่โรงงาน และ ส.อ.ท. กำลังจะเปิดสำรวจความต้องการวัคซีน ระยะ 2 เพื่อนำมาฉีดให้กับแรงงานต่อไป โดยจะปิดรับในวันที่ 31 มี.ค. 2564 ซึ่งต้องฉีดให้แล้วเสร็จไม่เกินเดือนมิ.ย.นี้

“ภาคอุตสาหกรรมจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เอะมาก การผลิตส่งออกไม่หยุดชะงักเศรษฐกิจก็ไม่สามารถเดินต่อไปได้ โดยเฉพาะโรงกลั่นน้ำมัน โรงงานเหล็ก ที่ไม่สามารถหยุดเดินเครื่องจักรได้ ดังนั้นการเร่งฉีดให้กับคนกลุ่มนี้ก็จะช่วยเศรษฐกิจได้มาก จากการสำรวจในรอบแรกส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอาหารและยา รวมทั้งยังมีคนหลายชาติอยู่ในโรงงานไม่มีสิทธิ์ฉีดวัคซีนฟรี จึงควรฉีดคนกลุ่มนี้ด้วย เอกชนพร้อมที่จะรับภาระเอง เพื่อไม่ให้กระทบต่องบประมาณของประเทศ”

สำหรับ ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนก.พ.2564 อยู่ที่ระดับ 85.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 83.5  ในเดือนม.ค. 2564 โดยค่าดัชนีฯ โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากภาคการผลิตกลับมาขยายตัวตามอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ของภาครัฐ อาทิ การอนุญาตให้สถานศึกษาเปิดเรียนตามปกติ การขยายเวลานั่งรับประทานในร้านอาหารถึง 23.00 น.รวมทั้งอนุญาตให้กิจการบางประเภทเปิดดำเนินการได้ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ รวมทั้งการเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศอย่างต่อเนื่อง ในด้านการส่งออกมี คำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า รวมทั้งความคืบหน้าในการกระจายวัคซีนโควิด-19 ในประเทศต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจการค้าโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่งออกยังคงประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องรวมทั้งอัตราค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูงส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้น ขณะที่การแข็งค่าของเงินบาทมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออก

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,403 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนก.พ.2564 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 55.4, ราคาน้ำมัน ร้อยละ 47.1 และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ร้อยละ 42.5 ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 68.5, และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 35.1 ตามลำดับ

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 92.0 จากระดับ 91.1 ในเดือนม.ค.2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมทั้งความคืบหน้าในการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนในประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาค การผลิตขยายตัว รวมทั้งประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาทิ สหรัฐฯ และจีน มีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ส่วนข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ 1. เร่งรัดการฉีดวัคซีน COVID-19 ให้เป็นไปตามแผนโดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง 2. อนุญาตให้เอกชนนำเข้าวัคซีน COVID-19 ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้ว เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระภาครัฐและช่วยให้การฉีดวัคซีนเร็วขึ้น 3. ภาครัฐควรดำเนินมาตรการฟื้นฟูผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องหลังจากมีการฉีดวัคซีน COVID-19 ตามแผนให้แก่ประชาชนแล้ว 4. เร่งแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และ 5. เร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก

ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ย้อนหลัง 3 ปี จัดทำเป็น Dashboard เผยแพร่ในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม Industry Data Space (iDS) ของสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถเข้าไปใช้บริการข้อมูลดังกล่าวได้ที่ www.fti.or.th/ids