'ราชทัณฑ์' แจงไทม์ไลน์ตรวจโควิดแกนนำราษฎร แจ้งเอาผิดเพจ 'อานนท์ นำภา'

'ราชทัณฑ์' แจงไทม์ไลน์ตรวจโควิดแกนนำราษฎร แจ้งเอาผิดเพจ 'อานนท์ นำภา'

"ราชทัณฑ์" แจงไทม์ไลน์ตรวจโควิดแกนนำราษฎร-แจ้งเอาผิดเพจ "อานนท์ นำภา" ชี้ตรวจโควิดดึกปกติ ยันมีกล้องวงจรปิดพร้อมแสดงต่อศาล

ที่กรมราชทัณฑ์ นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วย นพ.วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ร่วมแถลงชี้แจงกรณี นายอานนท์ นำพา เขียนจดหมายอ้างถูกเจ้าหน้าที่พยายามนำตัวออกจากห้องควบคุมกลางดึก กลัวจะถูกทำร้ายหมายเอาชีวิต จนถูกนำไปเผยแพร่ในโซเซียลมีเดีย โดยนายอายุตม์ กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่นำตัวผู้ต้องขังไปตรวจหาเชื้อโควิด 19  ซึ่งเป็นมาตรการปกติของเรือนจำที่ป้องกันการแพร่ระบาด และป้องกันเหตุจราจลที่อาจเกิดขึ้นในเรือนจำ

เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดเป็นความมั่นคงของทางเรือนจำ ที่ผ่านมาการคัดกรองโควิดในรูปแบบนี้ก็ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี และการพบเชื้อร้อยละ 90 ก็เกิดจากการตรวจเชิงลึก ไม่ใช่เป็นการแสดงอาการป่วย ภายในเรือนจำมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดทุกพื้นที่ รวมถึงภายในห้องควบคุม หากศาลเรียกหลักฐานส่วนนี้ก็สามารถนำไปแสดงต่อศาลได้ว่าไม่มีการทำร้ายร่างกาย หรือละเมิดสิทธิจำเลย หรือผู้ต้องขังอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ การคุมตัวจำเลย หรือผู้ต้องขังออกไปนอกสถานที่ เช่น นำตัวไปเบิกความที่ศาล เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะมีการค้นตัวทั้งขาไปและขากลับ รวมถึงการเยี่ยมญาติหากจะฝากสิ่งของเข้ามาหรือออกจากเรือนจำจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเรือนจำ ดังนั้น จดหมายของนายอานนท์ ไม่ได้นำออกไปจากเรือนจำ และในเรือนจำไม่มีเครื่องมือสื่อสาร แม้แต่นาฬิกาก็ไม่มี

“กรณีนี้กรมราชทัณฑ์ได้แจ้งความดำเนินคดีกับแอดมินเพจ "อานนท์ นำภา" ไปก่อนหน้านี้แล้ว 2 ครั้ง และจะแจ้งความเพิ่มอีก เพื่อสืบหาว่า แอดมินโพสต์ข้อความจากที่ไหน” นายอายุตม์ กล่าว

นายอายุตม์ ยังกล่าวถึงกรณี นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน ประกาศอดอาหารประท้วงที่ไม่ได้รับการประกันตัวว่านายพริษฐ์ได้แจ้งเจ้าหน้าที่จะอดอาหาร ดื่มเพียงน้ำ นม และเกลือแร่เท่านั้น ทางกรมราชทัณฑ์ จึงจัดเตรียมนมและเกลือแร่ให้ผู้ต้องขัง พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิด เตรียมพยาบาลวิชาชีพ ทีมแพทย์ และนักจิตวิทยาคอยจับตาดูแลความปลอดภัย หากพบว่า มีอาการป่วยอ่อนเพลียจากการอดอาหารก็จะนำตัวส่งรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งอยู่ใกล้กับเรือนจำพิเศษกรุงเทพทันที

ด้าน นพ.วีระกิตติ์ กล่าวว่า ตนในฐานะรองอธิบดีฝ่ายปฏิบัติการ และเป็นแพทย์ด้วย ขอชี้แจงว่า เหตุการณ์ในวันนั้นหลังจากที่ศาลมีคำสั่งให้ย้ายจำเลย 3 คน คือ นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน และนายปียรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ จากเรือนจำพิเศษธนบุรีซึ่งเป็นเรือนจำพื้นที่เสี่ยงที่มีการแพร่ระบาดเชื้อโควิด มาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

โดยจำเลยทั้งหมดมาถึงประมาณ 18.40 น. หลังจากทำการซักประวัติเสร็จก็ได้นำตัวไปขังรวมกับผู้ต้องขังที่เป็นแกนนำราษฎรและผู้ต้องขังอื่นๆ รวม 16 รายที่แดน 2 ซึ่งใช้เป็นสถานที่กักกันโรคเพื่อรอตรวจคัดครองโควิด จากนั้นช่วงเวลาประมาณ 22.00 น. แพทย์เวรและเจ้าหน้าที่ตรวจโควิดจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นแพทย์หญิงทั้งหมด ได้เตรียมเครื่องมือเข้ามาตรวจโควิดผู้ต้องขังอื่น และเข้าตรวจโควิดในเวลาประมาณ 23.00 น. โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้าไปเจรจาขอความร่วมมือกับผู้ต้องขัง แต่ปรากฎว่าผู้ต้องขัง 7 รายไม่ยินยอมให้ความร่วมมือในการตรวจโควิด

นพ.วีระกิตติ์ กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่จึงนำผู้ต้องขังอื่น 9 คนไปตรวจโควิด โดยนำตัวออกไปตรวจในที่โล่งทีละคนจนเสร็จ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ หรือประมาณเที่ยงคืนก็ได้เจรจากับผู้ต้องขังที่เหลือเพื่อตรวจโควิดอีกครั้ง แต่ผู้ต้องขังไม่ยินยอม จึงขอให้แยกห้องกับผู้ต้องขังอีก 9 รายที่ให้ความร่วมมือ เนื่องจากผู้ต้องขังที่ไม่ยอมตรวจโควิดมีจำนวนน้อยกว่า แต่ทั้งหมดก็ยังไม่ให้ความร่วมมือ จึงจัดเจ้าหน้าที่ชุดดูแลความปลอดภัยภายในเรือนจำมานำผู้ต้องขังอื่น 9 คนออกไป และกักตัวผู้ต้องขังที่ไม่ยอมตรวจโควิด 14 วัน

 “ยืนยันว่าตลอดเหตุการณ์ไม่มีการแตะตัวจำเลย และไม่มีเหตุวุ่นวายใดๆ เกิดขึ้น แต่จำเลยพูดกับเจ้าหน้าที่ว่า "พรุ่งนี้มีเรื่องแน่" และเหตุการณ์นี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีประชาชนไม่ยอมตรวจหาเชื้อโควิด ทั้งนี้การตรวจโควิดในเวลากลางคืนถือว่าเป็นเรื่องปกติ ที่ผ่านมาก็เคยตรวจป้องกันการแพร่ระบาดแบบนี้ในหลายเรือนจำ และเมื่อวันที่ 15-16 ต.ค.63 ก็เคยมีการตรวจหนึ่งในแกนนำในช่วงเวลา 23.00- 01.00 น.มาแล้ว ซึ่งแกนนำคนนั้นยังขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนอื่นๆอย่างเท่าเทียมด้วย” นพ.วีระกิตติ์ กล่าว