'ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค' อัดเพิ่มหมื่นล้าน ชูโปรเจค 'ซูเปอร์ลักชัวรี' ใจกลางกรุง

'ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค' อัดเพิ่มหมื่นล้าน ชูโปรเจค 'ซูเปอร์ลักชัวรี' ใจกลางกรุง

“ดุสิตธานี” ปรับแผนลงทุนบิ๊กโปรเจค “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ตอบโจทย์วิถีนิวนอร์มอล เดินหน้าเพิ่มเงินทุนตามสัดส่วนอีก 4.3 พันล้านบาท ขยายมูลค่าโครงการแตะ 4.6 หมื่นล้านบาท

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากกลุ่มดุสิตธานี ได้ร่วมกับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบผสมผสาน (Mixed-Use) ภายใต้ชื่อ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ล่าสุดกลุ่มดุสิตธานี และบมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ตัดสินใจร่วมกันในการเพิ่มเงินลงทุนโครงการดังกล่าวเพิ่มอีก 9,300 ล้านบาท จากเดิม 36,700 ล้านบาท เพิ่มเป็น 46,000 ล้านบาท

โดยกลุ่มดุสิตธานีจะเพิ่มเงินลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการนี้อีก 4,335 ล้านบาท จากเงินลงทุนเดิม 12,915 ล้านบาท เพิ่มเป็น 17,250 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯได้เตรียมเงินลงทุนจากส่วนของผู้ถือหุ้นและวงเงินจากสถาบันการเงินไว้เรียบร้อยแล้ว โดยเงินทุนที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้ จะนำไปพัฒนาโครงสร้างและพื้นที่โดยรวมของโรงแรม อาคารที่พักอาศัย และโครงสร้างศูนย์การค้า ส่งผลให้พื้นที่ใช้งานโดยรวมเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ใน 3 หรือคิดเป็นพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นกว่า 7 หมื่นตารางเมตร ซึ่งบริษัทฯได้ทำการศึกษาอย่างรอบคอบและเชื่อมั่นว่าการเพิ่มเงินลงทุนในครั้งนี้จะทำให้โครงการมีผลตอบแทนที่ดีขึ้น

ทั้งนี้บริษัทฯจะนำเสนอวาระดังกล่าวเพื่อขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นจากผู้ถือหุ้นด้วยคะแนนเสียง 75% ของผู้ถือหุ้นทั้งหมดที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง

สำหรับการตัดสินใจเพิ่มเงินทุนโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค มาจากสาเหตุหลัก 3 ประการ ประการแรก เราต้องการดึงศักยภาพของสถานที่ตั้งโครงการให้ออกมาได้สูงสุด เนื่องจากโครงการตั้งอยู่ในย่าน Super Core CBD ซึ่งเป็นจุดตัดของการจราจรทั้งลอยฟ้า บนดิน และใต้ดินที่เชื่อมโยงกรุงเทพฯทั้งย่านเก่า ย่านใหม่ ย่านการค้า และย่านการเงินเข้าด้วยกัน รวมถึงอยู่ตรงข้ามกับสวนลุมพินี จึงทำให้สถานที่ตั้งโครงการมีความพิเศษ

“การเพิ่มเงินทุนจะทำให้เราสามารถลงรายละเอียดในแต่ละส่วนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการทำรูฟพาร์คหรือสวนสาธารณะลอยฟ้าขนาด 7 ไร่ ที่มีความสูงถึง 20 เมตรไล่ระดับ ตั้งแต่ดาดฟ้าชั้น 3 ถึงดาดฟ้าชั้น 7 ของอาคาร ในการสร้างพื้นที่สีเขียว เพื่อเพิ่มคุณค่าของการใช้ชีวิตให้ตอบโจทย์รูปแบบการใช้ชีวิตวิถีใหม่”

ประการที่สอง กลุ่มดุสิตธานีต้องการสร้างจุดเด่นและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ แห่งใหม่ให้สามารถสานต่อวิสัยทัศน์ในการเป็นสัญลักษณ์ของโรงแรมไทยที่ได้มาตรฐานระดับโลก ด้วยการออกแบบห้องพักขนาดใหญ่ให้มีความเป็นส่วนตัวสูงสุดสำหรับผู้เข้าพัก และทุกห้องสามารถรับวิวสวนลุมพินีได้อย่างเต็มที่

ประการสุดท้าย คือความคาดหวังรายได้ที่สูงขึ้นจากการปรับโครงการที่พักอาศัยที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนเมือง เป็น 2 แบรนด์ คือ ในระดับลักชัวรีสำหรับแบรนด์ดุสิต เรสซิเดนเซส และระดับไฮเอนด์สำหรับแบรนด์ดุสิต พาร์คไซด์

สำหรับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) มีมูลค่าเงินลงทุนเดิม 17,393 ล้านบาท ได้ลงทุนเพิ่มเติมในโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค 3,751 ล้านบาท รวมวงเงิน 21,144 ล้านบาท เพื่อสร้างความแตกต่างและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับโครงการ รวมถึงการใช้ศักยภาพของที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ การพัฒนาเพิ่มเติมในส่วนของศูนย์การค้า มีการปรับรูปแบบและการจัดพื้นที่ค้าปลีกในรูปแบบใหม่เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า การปรับเพิ่มความต้องการและมาตรฐานในการก่อสร้างและความปลอดภัยให้สูงขึ้น คาดแล้วเสร็จไตรมาส 3 ปี 2567 ในส่วนอาคารสำนักงาน ได้เพิ่มรูฟท็อปบาร์ และพื้นที่มีทติ้ง เพื่อเป็นจุดขายใหม่ให้กับโครงการอาคารสำนักงาน แล้วเสร็จไตรมาสแรก ปี 2567 สำหรับโรงแรม ปรับเพิ่มจำนวนห้องพัก และพื้นที่ก่อสร้าง ออกแบบห้องพักขนาดใหญ่ให้มีความเป็นส่วนตัวสูงสำหรับผู้เข้าพัก ปรับปรุงเพื่อให้ห้องพักทุกห้องสามารถมองเห็นวิวสวนลุมพินี กำหนดแล้วเสร็จไตรมาส 3 ปี 2566 ทางด้านที่พักอาศัย ปรับเพิ่มพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สูงขึ้น พร้อมปรับตำแหน่งของแบรนด์ให้เป็นระดับ “ซูเปอร์ ลักชัวรี” เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น แล้วเสร็จไตรมาส 4 ปี 2567