สนข.เร่ง 168 โปรเจค EEC เชื่อมขนส่งทั่วไทย-GMS

สนข.เร่ง 168 โปรเจค EEC เชื่อมขนส่งทั่วไทย-GMS

สนข.เร่งอัดงบศึกษาโครงข่ายหนุนอีอีซี หวังเชื่อมการขนส่งและการท่องเที่ยว เผยภาพรวมโปรเจคด้านคมนาคม 168 โครงการ เม็ดเงินกว่า 9.88 แสนล้านบาท แล้วเสร็จ 37% ไฮสปีดเทรนจ่อส่งมอบพื้นที่เฟสแรก ตั้งเป้าเปิดให้บริการรถไฟช่วงพญาไท – อู่ตะเภา ในปี 2567

นายจิรโรจน์ ศุกลรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมระบบการขนส่งและจราจรในภูมิภาค สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการศึกษาการจัดทำแผนโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงฐานการผลิตในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กับประตูการค้าในพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดระนอง โดยระบุว่า ปัจจุบัน สนข.อยู่ระหว่างศึกษาพื้นที่พัฒนาท่าเรือทั้งในฝั่งทะเลอ่าวไทย และอันดามัน คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือน มิ.ย.นี้

นอกจากนี้ สนข.ยังอยู่ระหว่างศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน เช่น ท่าเรือ รถไฟ ถนน เป็นต้น ซึ่งจะเป็นโครงการที่เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.ระหว่างรัฐและเอกชน ปี 2562 อีกทั้งยังศึกษาโครงข่ายการคมนาคมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางและภาคใต้ เชื่อมโยงกับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภายใต้กรอบ GMS เพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร

สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษา จัดใช้งบประมาณศึกษารวมประมาณ 186 ล้านบาท โดยจะทยอยดำเนินการระหว่างปี 2564 – 2566 ผลการศึกษาแล้วเสร็จ และเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โดยมีเป้าหมายของการพัฒนาโครงข่ายด้านคมนาคม เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงการเดินทาง การขนส่ง เศรษฐกิจ และการค้า จากพื้นที่อีอีซีสู่กลุ่มจังหวัดทั่วประเทศและเชื่อมต่างประเทศ อีกทั้งสนับสนุนการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงกับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภายใต้กรอบ GMS

161588476417

รายยงานข่าวจาก สนข. เผยว่า ความคืบหน้าของการพัฒนาโครงข่ายด้านการคมนาคมในพื้นที่อีอีซี กระทรวงคมนาคม โดย สนข.ได้ดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซี แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ระหว่างปี 2560 – 2561 ระยะกลาง ปี 2562 – 2564 และระยะต่อไป ปี 2565 เป็นต้นไป รวมทั้งสิ้น 168 โครงการ วงเงินลงทุน 9.88 แสนล้านบาท โดยเป็นการพัฒนารัฐร่วมเอกชน หรือพีพีพี 59% จัดใช้งบประมาณ 30% รัฐวิสาหกิจลงทุน 10% และจัดสรรงบจากกองทุน 1%

ทั้งนี้ แบ่งโครงการพัฒนาในพื้นที่อีอีซี ออกตามหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคมที่ได้รับมอบหมาย พบว่า โครงการที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมทางหลวง (ทล.) มีจำนวนมากที่สุด 64 โครงการ มูลค่ารวม 1.51 แสนล้านบาท รองลงมา คือ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) จำนวน 22 โครงการ มูลค่า 6.29 หมื่นล้านบาท การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จำนวน 8 โครงการ มูลค่า 3.78 แสนล้านบาท การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) 3 โครงการ มูลค่า 1.46 แสนล้านบาท และกรมเจ้าท่า (จท.) 2 โครงการ มูลค่า 1.1 พันล้านบาท

1616740786100

สำหรับสถานการณ์ดำเนินงานของโครงการด้านคมนาคมทั้ง 168 โครงการ ผลการดำเนินการ ณ เดือน ก.ย.2563 พบว่าโครงการที่ดำเนินการและก่อสร้างแล้วเสร็จ มีจำนวน 63 โครงการ คิดเป็น 37% โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการและก่อสร้าง 60 โครงการ คิดเป็น 36% โครงการที่มีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานเป็นแบบพีพีพี 6 โครงการ คิดเป็น 4% โครงการที่มีการยกเลิกหรือตัดออกจากแผนปฏิบัติการ จำนวน 7 โครงการ คิดเป็น 4% โครงการที่ยังไม่ได้ดำเนินการหรือจะขอรับงบประมาณในปี 2565 เป็นต้นไป จำนวน 32 โครงการ คิดเป็น 19%

โดยโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่จัดอยู่ในระยะเร่งด่วน อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนา อาทิ โครงการพีพีพีรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โครงการพีพีพีก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ท่าอากาศยานอู่ตะเภา โครงการพีพีพีท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการพีพีพีท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 โครงการมอเตอร์เวย์ ช่วงพัทยา - มาบตาพุด โครงการพัฒนาสถานีรถไฟอู่ตะเภา และโครงการอาคารผู้โดยสาร ท่าเรือจุกเสม็ด เป็นต้น

รายงานข่าว ระบุด้วยว่า ความคืบหน้าของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในอีอีซี พบว่า รถไฟไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) อยู่ระหว่างเตรียมส่งมอบพื้นที่ส่วนแรก ช่วงสุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา ภายในปีนี้ พร้อมทั้งส่งมอบรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ให้เอกชนคู่สัญญาเข้าบริหารภายใน ต.ค.2564 ส่วนระยะต่อไป ร.ฟ.ท.จะส่งมอบพื้นที่ช่วงพญาไท - ดอนเมือง ในปี 2565 เร่งรัดงานก่อสร้างและมีเป้าหมายเปิดให้บริการรถไฟช่วงพญาไท – อู่ตะเภา ในปี 2567 ก่อนจะเปิดให้บริการทั้งเส้นทางในปี 2568

อีกทั้ง โครงการไฮสปีดเทรนสายนี้ จะช่วยยกระดับการเดินทางเชื่อมโยงจากกรุงเทพฯ - พื้นที่อีอีซี ใช้เวลาไม่เกิน 60 นาที ด้วยความเร็วเดินรถสูงถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในระยะทาง 220 กิโลเมตร ให้บริการ 10 สถานี อีกทั้งจะมีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบแนวเส้นทางรถไฟ และพื้นที่แปลงสำคัญอย่างพื้นที่มักกะสัน 140 ไร่ เป็นอีอีซีเกตเวย์ เบื้องต้นมีการกำหนดราคาโดยสารอยู่ที่ 100 – 500 บาทตามระยะทาง คาดว่าจะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงถึง 50,900 ล้านบาท

ขณะที่โครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภา มีการลงนามสัญญาเมื่อ 19 มิ.ย.2563 แผนดำเนินงานจะเริ่มก่อสร้างปลายปี 2564 และมีกำหนดเปิดให้บริการระยะแรกในปี 2567 โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นเกตเวย์อีอีซีเชื่อมกับโลก มีการพัฒนาโครงการสนับสนุนอุตสาหกรรมด้านการบินและการท่องเที่ยว อาทิ ศูนย์ธุรกิจ เขตประกอบการค้าเสรี อุตสาหกรรมดิจิทัล ศูนย์โลจิสติกส์ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน เป็นต้น โดยคาดว่าโครงการนี้จะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจถึง 1.89 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีความคืบหน้าโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน โดยบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างทบทวนโครงการ คาดว่าจะมีความชัดเจนหลังจัดตั้งคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ และมีเป้าหมายเปิดให้บริการไม่ช้ากว่าท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งมีกำหนดเปิดให้บริการระยะแรกในปี 2567

เช่นเดียวกับโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ปัจจุบัน กทท.ได้เสนอผลการเจรจาและความเห็นต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (สกพอ.) มีเป้าหมายก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือ F แล้วเสร็จปลายปี 2565 ก่อนส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเริ่มสร้างท่าเรือ F และเปิดให้บริการภายในปี 2568