'คมนาคม' หนุนแลนด์บริดจ์ ดันผุด 2 ท่าเรือชุมพร-ระนอง

'คมนาคม' หนุนแลนด์บริดจ์ ดันผุด 2 ท่าเรือชุมพร-ระนอง

“คมนาคม” เร่งสร้าง 2 ท่าเรือชุมพร - ระนอง เคาะทำเลที่ตั้ง มิ.ย.นี้ หวังดันแลนด์บริดจ์ ขึ้นแท่นฮับขนส่งน้ำมันดิบ ชี้ดีมานด์ผ่านทางช่องแคบมะละกา 16 ล้านบาร์เรลต่อวัน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึง โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ และเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridge) โดยระบุว่า ที่ประชุมได้เร่งรัดสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เร่งกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกทำเลที่ตั้งโครงการพัฒนาท่าเรือชุมพร และระนอง เพื่อเชื่อมการเดินทางฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย

โดยการคัดเลือกทำเลที่ตั้งโครงการพัฒนาท่าเรือทั้ง 2 ฝั่งนั้นจะต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจ คาดว่าจะสามารถสรุปผลการคัดเลือกได้ในช่วงประมาณเดือน มิ.ย.นี้ ก่อนที่กรมทางหลวง (ทล.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และออกแบบเบื้องต้น แนวเส้นทางโครงการทางหลวงพิเศษ และทางรถไฟตามกรอบการดำเนินการโครงการ MR-MAP เชื่อมต่อท่าเรือสองฝั่ง

161580525132

สำหรับเป้าหมายของการเร่งรัดศึกษาทำเลก่อสร้างท่าเรือดังกล่าว เนื่องจากการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานในโครงการแลนด์บริดจ์ ต้องคำนึงถึงภาพรวมในการขนส่งทางทะเลของโลก ซึ่งในปัจจุบันการขนส่งสินค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิกใช้เส้นทางผ่านช่องแคบมะละกาเป็นเส้นทางหลัก

โดยจากสถิติการขนส่งสินค้าประเภทน้ำมันดิบในปี 2559 พบว่าปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตจากพื้นที่เอเชียตะวันออกกลาง ขนส่งผ่านช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือที่เชื่อมระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมาน ประมาณ 19.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน และผ่านทางช่องแคบมะละกา ประมาณ 16.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อขนส่งไปยังประเทศ แถบมหาสมุทรแปซิฟิก

161580526518

ส่งผลให้ท่าเรือสิงคโปร์กลายเป็นท่าเรือที่มีคลังน้ำมันและท่าเทียบเรือ น้ำมันใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ขณะที่พื้นที่ภาคใต้มีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ทั้งจากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ เป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค จึงมีแนวโน้มในการจูงใจ ผู้ประกอบการขนส่งและนักลงทุนให้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้มากขึ้น

“โครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง เป็นทางเลือกในการขนส่งน้ำมันดิบ หรือ Oil Bridge โดยขนส่ง น้ำมันทางเรือจากช่องแคบฮอร์มุซ มายังท่าเรือระนอง และผ่านทางท่อไปยังท่าเรือชุมพร เพื่อขนส่งทางเรือไปยัง ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค รวมถึงประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้”