การยาสูบฯ ดิ้นหารายได้ จ่อลุยธุรกิจ ’กัญชง-กัญชา’

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) การยาสูบฯดิ้นหารายได้ จ่อลุยธุรกิจ ’กัญชง-กัญชา’

ผู้ว่าการ การยาสูบแห่งประเทศไทย ภาณุพล รัตนกาญจนภัทร ระบุ อยู่ระหว่างวางแผนดำเนินธุรกิจใหม่ร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย องค์การเภสัช เพื่อพัฒนาพืชประเภทกัญชงและกัญชาให้เป็นหนึ่งในสินค้าที่จะสร้างรายได้ให้กับองค์กรและเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ ซึ่งปัจจุบันได้รับผลกระทบจากโครงสร้างภาษีใหม่ทำให้รายได้ขององค์กรลดลงอย่างมาก ขณะเดียวกัน เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบก็ได้รับกระทบจากการผลิตที่น้อยลงเช่นกัน

การทำธุรกิจดังกล่าวยังติดข้อจำกัดในกฎหมายการจัดตั้งของการยาสูบฯที่ระบุให้การยาสูบฯทำธุรกิจที่เกี่ยวกับใบยาสูบและพืชอื่นๆ ซึ่งคำว่า พืชอื่นๆนั้น ยังไม่ชัดเจนว่า จะสามารถเป็นกัญชงหรือกัญชาได้หรือไม่ จึงต้องมีการตีความ โดยขณะนี้ การยาสูบฯได้ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความในประเด็นดังกล่าว

“แม้ว่าตามกฎหมายยาสูบฯจะกำหนดให้การยาสูบฯสามารถผลิตใบยาสูบ และรวมถึงพืชอื่นได้ก็ตาม แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า การยาสูบฯมีความสามารถในการศึกษา วิจัย ต่อยอดในเงินพาณิชย์ ในกัญชาและกัญชง จึงได้หารือกับทางสำนักกงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)และคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ออกกฎกระทรวงตามพ.ร.บ.ยาสูบ ให้การยาสูบฯสามารถดำเนินการในธุรกิจดังกล่าวได้”

ทั้งนี้ ขณะนี้ การยาสูบฯกำลังอยู่ในระหว่างการยกร่างกฎกระทรวง เพื่อให้การยาสูบฯ มีอำนาจในการปลูกและผลิตสารที่ได้จากกัญชาและกัญชง ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่า จะเป็น ยา เครื่องสำอาง เป็นต้น แต่ยืนยันว่า การยาสูบฯจะไม่นำใบกัญชงและกัญชามาผลิตเป็นบุหรี่อย่างแน่นอน

โอกาสของธุรกิจในการผลิตสารที่เป็นประโยชน์ในกัญชาและกัญชง น่าจะมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งสามารถช่วยทดแทนรายได้ของชาวไร่ใบยาสูบและการยาสูบฯที่ลดลง จากผลของโครงสร้างภาษียาสูบในช่วงที่ผ่านมาได้

ส่วนผลกระทบของโครงสร้างภาษียาสูบ ทำให้รายได้ของเกษตรกรที่ขายใบยาสูบให้กับการยาสูบฯลดลง จากที่เคยซื้อใบยาจากชาวไร่ 30 ล้านกิโลกรัมต่อปี ปัจจุบันเหลือเพียง 13 ล้านกิโลกรัมต่อปี ขณะที่ กำไรต่อซองของการยาสูบฯที่เคยได้รับ 5-6บาท/ซอง ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 50 สตางค์ต่อซองเท่านั้น

“หากสามารถทำให้ชาวไร่ยาสูบ หันมาปลูกกัญชาหรือกัญชงได้ จะทำให้รายได้ของชาวไร่ สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับการปลูกใบยาสูบ โดยรายได้ต่อไร่ของการปลูกใบยาสูบอยู่ที่ประมาณ 2.3 หมื่นบาทต่อไร่ต่อปี ขณะที่ รายได้ต่อไร่จากการปลูกกัญชา อยู่ที่ 1.5-2 แสนบาทต่อไร่ต่อปี”

ปัจจุบันการยาสูบฯมีพื้นที่ของตัวเองในการปลูกใบยา 4.9 พันไร่ และพื้นที่เพาะปลูกใบยาในเครือข่ายของการยาสูบฯที่ส่งใบยาขายให้กับการยาสูบอีก 6 หมื่นไร่ ซึ่งศักยภาพในการเปลี่ยนมาปลูกกัญชาและกัญชงได้ ซึ่งมีระบบควบคุมไม่ให้นำกัญชาและกัญชงไปใช้เป็นสารเสพติดได้ ปัจจุบัน เกษตรกรที่ปลูกใบยามีทั้งหมด 1.4 หมื่นครอบครัวและเมื่อรวมแรงในการผลิตใบยาสูบ น่าจะมีคนที่เกี่ยวข้องกว่า 3 แสนคน