ทำไมต้องเลื่อนฉีด “แอสตร้าเซนเนก้า” ไปอีก 2 สัปดาห์

ทำไมต้องเลื่อนฉีด “แอสตร้าเซนเนก้า” ไปอีก 2 สัปดาห์

หลังจากกระทรวงสาธารณสุข ชะลอฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อรอผลการตรวจสอบจากยุโรป กรณีลิ่มเลือดแข็งตัวเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ โดยถือว่าเป็นกระบวนการตามปกติ ของทุกประเทศที่ต้องชะลอและรอผลตรวจสอบ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

วัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” ที่เดินทางมาถึงไทย 1.17 แสนโดส เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2564 มีแผนใช้ 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ โดยฉีดกลุ่มเป้าหมายอายุ 60 ปีขึ้นไป ให้คนละ 2 เข็ม ห่างกัน 10-12 สัปดาห์ ให้บริการให้บริการในสถานพยาบาลที่แต่ละจังหวัดกำหนด และมีกำหนดการฉีดให้แก่ พล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันนี้ 12 มีนาคม 2564 แต่กลับต้องทำการชะลอไปก่อนนั้น

หลายประเทศประกาศชะลอฉีด

เนื่องจาก “แอสตร้าเซนเนก้า” ได้ทำการส่งวัคซีนรุ่นผลิต "ABV5300" จำนวน 1 ล้านโดส ให้แก่ 17 ประเทศในสหภาพยุโรป โดยเดนมาร์กพบมีผู้ป่วยเกิดลิ่มเลือดหลายราย เสียชีวิต 1 ราย ทำให้หลายประเทศในยุโรปประกาศชะลอการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า  หลังพบผู้ป่วยมีลิ่มเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดดำดังกล่าว รวมถึงคณะแพทย์และทีมงานด้านการฉีดวัคซีนของไทย ต้องนำมาพิจารณาชะลอการฉีดวัคซีนออกไปก่อน ราว 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากการให้วัคซีนประชาชนต้องปลอดภัยที่สุด

เพื่อรอการสืบค้นสาเหตุว่าอาการที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ โดยเบื้องต้นคาดว่าอาจไม่เกี่ยวกับวัคซีน เนื่องจากเหตุอุบัติการณ์เกิดลิ่มเลือดไม่ต่างจากภาวะปกติ และไม่เคยเป็นผลข้างเคียงของวัคซีนตัวใดในโลกมาก่อน ส่วนการฉีดวัคซีนของซิโนแวคยังเดินหน้าให้แก่กลุ่มเสี่ยงเป้าหมายต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศ เช่น ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ ออสเตรีย เอสโตเนีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก ลัตเวีย ที่ใช้วัคซีนรุ่นเดียวกัน ประกาศชะลอการใช้ด้วย ล่าสุด องค์กร European Medicine Agency (EMA) ได้ประเมินอุบัติการณ์การเกิดลิ่มเลือด เบื้องต้นพบว่า ตัวเลขการเกิดไม่แตกต่างกับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องปกติเมื่อเกิดเหตุการณ์หลังฉีดวัคซีน จะมีการชะลอและสอบสวนจนกว่าจะชัดเจนจึงกลับมาฉีดอีกครั้ง เช่น กรณีเกาหลีใต้ ที่มีผู้เสียชีวิตเป็นข่าวในสัปดาห์ก่อน มีการยืนยันแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนและกลับมาฉีดใหม่

รอการตรวจสอบผลข้างเคียง

“ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ” หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า กรณีที่เกิดขึ้นมีการฉีดวัคซีนไป 3 ล้านโดส มีผู้ป่วยเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำจำนวน 22 ราย เสียชีวิต 1 ราย อุบัติการณ์ประมาณ 7 ในล้านราย

จึงต้องมีการสอบสวนว่าเป็นเหตุการณ์ที่แม้ไม่ได้ฉีดวัคซีนก็เกิดหรือไม่ อุบัติการณ์การเกิดเท่ากันหรือไม่ ถ้าฉีดแล้วเกิดขึ้นมากกว่าในภาวะปกติ ก็ต้องหาสาเหตุว่าวัคซีนไปทำให้เกิดอะไรจึงทำให้เลือดแข็งตัวได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ลิ่มเลือดอุดตันสามารถเกิดขึ้นได้ในยามปกติ

โดยเฉพาะการนั่งนานๆ หรือผู้สูงอายุที่นอนนานๆ มีโอกาสเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดดำ และมีโอกาสหลุดเข้าไปอุดในปอด หากเป็นก้อนขนาดใหญ่อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต ซึ่งภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำพบมากในคนแอฟริกันและยุโรปมากกว่าเอเชีย โดยยุโรปพบมากกว่าเอเชียถึง 3 เท่า มาจากปัจจัยทางพันธุกรรม

“สำหรับการชะลอการฉีดวัคซีน คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรรอผลพิสูจน์ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ เป็นเฉพาะรุ่นนี้หรือไม่ ไม่ใช่ว่าวัคซีนไม่ดี เชื่อว่าผลการตรวจสอบของยุโรปอาจออกมาใน 1-2 วันนี้ สำหรับประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศเสี่ยงสูง การชะลอฉีดไป 2 สัปดาห์ ไม่ได้เกิดผลกระทบต่อสถานการณ์โควิด 19 ในประเทศ”

"แอสตร้าเซนเนก้า" ประสิทธิภาพเป็นอย่างไร 

วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า เป็นชนิดไวรัลแว็กเตอร์ ผลิตจากเชื้อไวรัสชิมแปนซีอะดีโน มาดัดแปลงพันธุกรรม ทำให้ไม่สามารถแบ่งตัวและก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ สามารถทำให้สร้างโปรตีนเหมือนของเชื้อซาร์สโควี-2 ที่ก่อโรคโควิด-19 กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต่อต้านเชื้อนี้ วัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันความเจ็บป่วยจากโควิด-19 ได้สูงมาก โดยเฉพาะโรครุนแรง วัคซีนอาจป้องกันโรคแบบไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการไม่ได้ โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 2 เข็ม ห่างกัน 10-12 สัปดาห์ เก็บรักษาในอุณหภูมิ 2-8 องศา

  • ป้องกันการติดเชื้อทุกแบบ 1%
  • ป้องกันโรคแบบมีอาการ 4%
  • ป้องกันโรครุนแรง เสียชีวิต 100 %

ข้อห้าม และ ข้อควรระวัง

  • ข้อห้าม ในคนแพ้รุนแรงจากการฉีดครั้งก่อน และ แพ้ส่วนประกอบของวัคซีนรุนแรง
  • ข้อควรระวัง ผู้ที่เจ็บป่วยเฉียบพลัน ควรเลื่อนฉีดไปก่อน แต่หากเป็นหวัดเล็กน้อยสามารถฉีดได้ รวมถึงกลุ่มบุคคลที่มีข้อมูลการศึกษาอยู่บ้างแต่ไม่มาก แต่พิจารณาให้ฉีดได้ หากพบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูงหรือเป็นกลุ่มเป้าหมาย คือ อายุมากกว่า 65 ปี มีโรคประจำตัว เช่น อ้วน โรคปอด หัวใจ หลอดเลือด เบาหวาน และผู้ที่เคยเป็นโควิด-19 มาก่อน ขณะที่กลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปี หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ติดเชื้อเอชไอวี อาจพิจารณาให้ฉีดได้แต่ยังไม่มีผลการศึกษา

ระบบการติดตามหลังฉีดของไทย

  • เก็บขวดวัคซีนในตู้เย็นพร้อมเลขรหัสขวดและชื่อผู้รับวัคซีนเป็นเวลา 30 วัน (ใช้กรณีมีผลข้างเคียง)
  • ติดตามหลังฉีด 30 นาที หลังฉีดวันที่ 1,7 และ30 (หากมีอาการให้รีบพบแพทย์รพ.ใกล้บบ้านทันที)
  • รายงานผ่านไลน์หมอพร้อม กรณีไม่มีสมาร์ทโฟนติดตามผ่าน อสม. หรือ โทรศัพท์
  • หากมีผลข้างเคียงรุนแรง จะมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเกิดจากวัคซีนหรือไม่
  • หากมีผลข้างเคียงรุนแรงจากวัคซีน มีการจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นตามมาตรา 41

อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน

  • อาการเกิดขึ้นได้ทั่วไป มีไข้ต่ำหรือปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดบวมแดงร้อนบริเวณที่ฉีดวัคซีน ปวดเมื่อย/อ่อนเพลีย อาการอื่นๆ เช่น ท้องเสีย
  • อาการต้องจับตามองพิเศษ มีไข้สูง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ปวดศีรษะรุนแรง ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีจุดเลือดออกจำนวนมาก ผื่นขึ้นทั้งตัว อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง ชัก /หมดสติ หากมีอาการควรรีบแจ้งแพทย์ทันที

เกิดผลข้างเคียงรุนแรงเยียวยาอย่างไร

  • กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวรหรือเจ็บป่วยเรื้อรัง จ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 4-4 แสนบาท
  • กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการ จ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 1-2.4 แสนบาท
  • กรณีบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 1 แสนบาท

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม เปิดประสิทธิภาพ-ข้อห้าม วัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า'