การประเมินโซ่อุปทานสีเขียว

การประเมินโซ่อุปทานสีเขียว

การวิเคราะห์ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์หนึ่ง ๆ จึงไม่ควรทำแบบแยกส่วน แต่ควรพิจารณาผลกระทบทั้งทางด้านการสร้างขยะ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสิ้นเปลืองทรัพยากร โดยมองผลกระทบในภาพรวม

การขัดแย้งกันของกิจกรรมโลจิสติกส์ที่ใช้เพื่อสนับสนุนนโยบายการลดขยะ (Zero Waste) และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Zero Carbon) เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้การประเมินความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่แท้จริงทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เช่น กิจกรรมโลจิสติกส์ย้อนกลับ ที่เป็นการลดขยะจากการนำของเสียย้อนกลับมาสร้างคุณค่าใหม่หรือนำไปทำลายทิ้งโดยไม่ให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม แต่กลับกลายเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดการปล่อยมลพิษเข้าสู่สิ่งแวดล้อมจากกระบวนการขนส่งสินค้าย้อนกลับมาที่ซัพพลายเออร์หรือแหล่งกำจัดปฏิกูล

หรือการจัดการโลจิสติกส์ที่ถูกมองว่าเป็นการสร้างประสิทธิภาพทั้งทางด้านต้นทุนและการตอบสนองความต้องการชองลูกค้า เช่น การขนส่งผ่านศูนย์กระจายสินค้าที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจทั้งด้านการลดต้นทุนการกระจายสินค้า ความรวดเร็วในการนำส่งสินค้า รวมไปถึงการช่วยลดจำนวนการขนส่งเที่ยวเปล่า (Empty Backhaul) และการขนส่งแบบไม่เต็มคัน (Less than truckload) ผ่านการทำ Cross-docking ภายในศูนย์กระจายสินค้า อย่างไรก็ตาม การสร้างประสิทธิภาพในการกระจายสินค้า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสร้างความคุ้มค่าในการใช้พลังงานซึ่งได้จากการทำ Cross-docking ก็ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียพื้นที่สีเขียว รวมถึงการใช้พลังงานและทรัพยากรที่เพิ่มมากขึ้นจากการตั้งศูนย์กระจายสินค้าและการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

การขาดวิธีการประเมินความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นมาตรฐานและได้รับการยอมรับจากทุกหน่วยงาน ยังส่งผลให้การอ้างอิงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของแต่ละผลิตภัณฑ์มีความแตกต่างกันจนไม่สามารถวัดระดับและจัดประเภทผลิตภัณฑ์สีเขียวหรือผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนได้ กล่าวคือ ไม่สามารถที่จะระบุได้ว่าผลิตภัณฑ์ใดเป็น ‘ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน’ มากกว่ากัน เนื่องจากการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถพิจารณาได้หลายมิติ ไม่ใช่เพียงแค่ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น การที่ไม่สามารถประเมินค่าความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างครบถ้วนแม่นยำและเป็นมาตรฐานเดียวกันจึงกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความสามารถในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการวัดความสำเร็จในการเป็นโซ่อุปทานสีเขียวอย่างแท้จริง ตามคำกล่าวที่ว่า 'You can’t manage what you can’t measure'

แนวทางการจัดการกับความท้าทายดังกล่าวต้องอาศัยการพัฒนาตัวชี้วัดด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ผนวกหลักการ Total Cost Tradeoff ที่ใช้กับการจัดการโลจิสติกส์มาประยุกต์ใช้ โดยหลักการดังกล่าวจะให้ความสำคัญกับการจัดการกับกิจกรรมโลจิสติกส์ต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุนรวม หาใช่การมุ่งลดต้นทุนในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งหรือความพยายามที่จะลดต้นทุนของทุกกิจกรรม เนื่องจากกิจกรรมต่าง ๆ ในระบบโลจิสติกส์มีความสัมพันธ์และส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน การลดต้นทุนของกิจกรรมโลจิสติกส์หนึ่ง ๆ อาจทำให้ต้นทุนของกิจกรรมอื่นสูงขึ้นมากกว่าต้นทุนที่ลดได้จากกิจกรรมแรก เช่น การลดต้นทุนการขนส่งสินค้าโดยเปลี่ยนไปใช้รูปแบบการขนส่งต้นทุนต่ำที่ต้องแลกมาด้วยระยะเวลาการนำส่งที่นานขึ้น อาจส่งผลให้ต้นทุนการถือครองสินค้าคงคลังสูงขึ้นจากการที่ต้องถือครองสินค้าจำนวนมากเพื่อรองรับความต้องการสินค้าในช่วงที่รอสินค้าล็อตใหม่ที่กำลังจัดส่งมา จนทำให้ต้นทุนรวมสุดท้ายสูงขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น 

ดังนั้น การวิเคราะห์ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์หนึ่ง ๆ จึงไม่ควรทำแบบแยกส่วน แต่ควรพิจารณาผลกระทบทั้งทางด้านการสร้างขยะ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสิ้นเปลืองทรัพยากร โดยมองผลกระทบในภาพรวม (Holistic view) ของโซ่อุปทานเป็นสำคัญ และต้องพิจารณาในทุกกิจกรรมตลอดโซ่อุปทาน จึงจะสามารถและทำการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมมากที่สุด นอกจากนี้ การจัดหาหน่วยงานกลางจากภายนอก เพื่อทำหน้าที่ในการพัฒนาดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสีเขียวที่สะท้อนภาพรวมของการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ในทุกมิติรวมกันได้จริง ตลอดจนทำหน้าที่ประเมินและรับรองความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเที่ยงตรง เป็นมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง จึงจะสามารถจัดระดับการเป็นผลิตภัณฑ์สีเขียวหรือ รวมถึงการวัดความเป็นโซ่อุปทานที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง