เช็คให้ชัวร์! 'โรคหลอดเลือดดำอุดตัน' อันตรายถึงชีวิต?

เช็คให้ชัวร์! 'โรคหลอดเลือดดำอุดตัน' อันตรายถึงชีวิต?

การฉีด “วัคซีนโควิด 19” เข็มแรกของบริษัท “แอสตร้าเซนเนก้า” ในประเทศไทยถูกเลื่อนออกไป หลังมีรายงานในหลายประเทศ พบผู้ฉีด วัคซีนโควิดของ “แอสตร้าเซเนก้า” แล้วเกิด "โรคหลอดเลือดดำอุดตัน"

ถึงแม้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ” หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan” ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่อง "วัคซีนโควิด 19" ข่าวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับ "การแข็งตัวของเลือดในหลอดเลือดดำ" ว่าอุบัติการณ์การเกิดการอุดตันของเส้นเลือดดำ พบได้บ่อยในคนยุโรป อเมริกามากกว่าคนเอเชีย ถึง 3 เท่าโดยปัจจัยทางพันธุกรรมมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องแน่นอนที่ทำให้คนยุโรปมีโอกาสเป็นมากกว่าคนเอเชีย

ทว่าจากสถิติการเสียชีวิตจากโรคร้ายอันดับต้นๆ ของประเทศไทย นอกจากโรคมะเร็งที่เราคุ้นเคยแล้ว โรคที่เกี่ยวเนื่องกับหลอดเลือด ก็เป็นสาเหตุที่มาแรงไม่แพ้กัน โดยสถิติทั่วโลก พบว่า "โรคหลอดเลือดดำอุดตัน"  เป็นสาเหตุการเสียชีวิต 1 ใน4 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

  • ทำความรู้จัก  “โรคหลอดเลือดดำอุดตัน”

“หลอดเลือดดำ” เป็นหลอดเลือดที่นำพาเลือดกลับเข้าสู่หัวใจ ทำหน้าที่ลำเลียงเลือดที่มีออกซิเจนต่ำจากทุกส่วนของร่างกายไหลกลับเข้าสู่หัวใจ โดยอาศัยการบีบตัวของกล้ามเนื้อรอบ “หลอดเลือดดำ” และส่วนที่เรียกว่า ลิ้นของ “หลอดเลือดดำ” (Valve) ทำหน้าที่คอยปิดกั้นไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับสู่ขา เหมือนบานประตูเปิดปิด

โดย “หลอดเลือดดำ” แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ หลอดเลือดดำที่อยู่ตื้น คือ เส้นเลือดที่สามารถมองเห็นได้จากผิวหนัง อาจเห็นเป็นสีเขียว สีแดง สีม่วง หรือเป็นเส้นเลือดขอด ส่วน หลอดเลือดดำที่อยู่ลึก ถือเป็นเส้นเลือดที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะทางการแพทย์แล้ว หากหลอดเลือดดำ ที่อยู่ลึกมีความผิดปกติเกิดขึ้นย่อมก่อให้เกิดปัญหาได้หลากหลาย และอาจร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้

สำหรับ “โรคหลอดเลือดดำอุดตัน” (venous thromboembolism) หรือ ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ เป็นภาวะที่เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ เกิดจากลิ่มเลือดอุดตันภายใน “หลอดเลือดดำ” โดยสามารถเกิดขึ้นได้ทุกบริเวณ แต่มักเกิดขึ้นที่บริเวณขา ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด บวม แดงของขาข้างนั้นๆ ตั้งแต่น่องจนมาถึงต้นขาได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : อย่าตื่นตระหนก "อุดตันเส้นเลือดดำ" พบใน "ยุโรปมากกว่าเอเชีย 3 เท่า"

  • สาเหตุของ “โรคหลอดเลือดดำอุดตัน”

ว่ากันว่า สาเหตุ “โรคหลอดเลือดดำอุตตัน” สามารถแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 60% พบมากที่สุดจากการฟื้นตัวหลังการผ่าตัด คือ ผู้ป่วยที่ต้องนอนติดเตียงเป็นเวลานาน ทำให้เลือดไม่ไหลเวียน 

ส่วน 40% มีสาเหตุร่วมทั้งกรรมพันธุ์ การรับประทานฮอร์โมนจำพวกยาคุมที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน) ซึ่งทำให้เลือดแข็งตัวได้ง่าย หรือในกรณีที่เกิดขึ้นกับ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง เกิดจากการที่ก้อนมะเร็งโตกดเบียดหลอดเลือดดำ และเนื้อร้ายสามารถสร้างสารเคมีที่ทำให้เลือดเกิดการแข็งตัวง่าย ผู้ที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานาน รวมถึงอายุที่มากขึ้น น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วย

  • “โรคหลอดเลือดดำอุดตัน” อาการเป็นแบบไหน?

อาการของโรคสังเกตได้เบื้องต้นดังนี้

- มีอาการบวมที่ขา แตกต่างจากอาการบวมที่มีสาเหตุจากโรคตับ ไต หรือหัวใจ ที่มีอาการขาบวมทั้ง 2 ข้าง แต่โรคหลอดเลือดดำอุดตันมีอาการบวมที่ขาข้างเดียว และจะไม่มีทางยุบ หรือหายบวมเองหากไม่ได้รับการรักษา

มีอาการร้อนที่ขา กดเจ็บตามแนวหลอดเลือดดำที่อุดตัน

ผิวหนังเป็นสีแดงหรือสีผิวที่ขาเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด

อาจสัมพันธ์กับการนั่งเครื่องบินหรือนั่งรถเป็นเวลานาน นั่งนิ่ง ๆ ไม่ขยับขานานเกิน 4 – 8 ชั่วโมง กล้ามเนื้อขาไม่เกิดการหดตัว กลไกการบีบรีดเลือดกลับสู่หัวใจจึงไม่เกิด เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เกิดการตกตะกอนในหลอดเลือด กลายเป็นลิ่มเลือดคั่ง จับตัวแข็ง อุดตันบริเวณน่อง (ใต้เข่า)

- ภาวะลิ่มเลือดดำอุดตันอาจเกิดขึ้นที่อื่นๆ ภายในร่างกาย เช่น ในช่องท้อง ทำให้มีอาการปวดท้อง, ในสมอง ทำให้มีอาการปวดศีรษะ อาเจียนหรือชัก, ที่แขน ทำให้แขนบวม เป็นต้น

- วิธีสังเกตอื่น ๆ คือ สังเกตจากอาการแวดล้อมของโรค ถ้ามีอาการเหนื่อยเฉียบพลัน แน่นหน้าอก หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะมีบางกรณีที่คนไข้ไม่มีอาการบวมที่ขา

ความน่ากลัวเมื่อเกิดลิ่มเลือด คือ  ลิ่มเลือดนั้นสามารถวิ่งขึ้นไปยังหัวใจแล้วอาจจะค้างอยู่ที่ปอด ถ้าลิ่มเลือดใหญ่มากพออาจส่งผลให้เลือดไม่ไปเลี้ยงที่ปอดและทำให้เสียชีวิตได้ทันที

  • วิธีรักษา “โรคหลอดเลือดดำอุดตัน”

นพ.คมกริช ฐานิสโร แพทย์  “โรงพยาบาลกรุงเทพ” อธิบายว่าแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาตามอาการที่เป็น และอาการแสดงของผู้ป่วย

1. สวมถุงน่องทางการแพทย์ (Compression Treatment)

เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาเส้นเลือดขอดในระดับน้อย – ปานกลาง และผู้ที่เป็นหลอดเลือดดำเรื้อรัง หรือแผลเรื้อรังที่เกิดจากการอุดตันในหลอดเลือดดำ

ควรสวมถุงน่องทางการแพทย์อยู่เสมอ เพื่อบีบเลือดที่คั่งอยู่บริเวณเส้นเลือดดำที่อยู่ตื้นให้วิ่งเข้าไปเส้นเลือดดำที่อยู่ลึก ทำให้อาการของเส้นเลือดขอดดีขึ้น ลดการเกิดตะคริว ลดอาการปวดน่อง และช่วยลดแรงดันในหลอดเลือดดำ ลดการอักเสบของผิวหนังและเร่งการหายของแผล

การสวมถุงน่องทางการแพทย์ที่ได้รับการออกแบบให้มีความดันของแรงรัดตามระดับที่ถูกต้อง ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาทิ ลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย และยกขาสูงในระหว่างวัน เป็นต้น เป็นประโยชน์ทั้งในแง่ของการป้องกัน การรักษา ตลอดจนเป็นการป้องกันการเกิดซ้ำของโรคได้ด้วย

2. ฉีดยา

การฉีดยาละลายลิ่มเลือดรักษาโรคหลอดเลือดดำอุดตัน เป็นการฉีดยาเพื่อไม่ให้ลิ่มเลือดหลุดเข้าไปในปอด ร่วมกับการทานยาป้องกันเลือดแข็งตัว เป็นการป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาปริมาณยาและยาตัวอื่น ๆ เพื่อลดปัญหาเลือดออกผิดปกติ

การฉีดสารเคมีรักษาเส้นเลือดขอด (Sclerotherapy) เป็นการฉีดสารที่คล้ายโฟมเข้าไปในหลอดเลือดดำเพื่อให้เกิดพังผืดในหลอดเลือด และทำให้เส้นเลือดเกิดการแข็งฝ่อตัว เหมาะสำหรับเส้นเลือดขอดที่มีขนาดไม่เกิน 3 มิลลิเมตร โดยใช้อัลตราซาวนด์ช่วยชี้นำตำแหน่งหลอดเลือดดำ หลังฉีดแล้วควรยกขาสูงและสวมถุงน่องทางการแพทย์ เพื่อลดโอกาสกลับมาเป็นเส้นเลือดขอดซ้ำ

3. การรักษาผ่านหลอดเลือด (Endovascular Therapy)

วิธีการรักษาเส้นเลือดขอดแบบแผลเล็ก Minimally Invasive Surgery สามารถทำการรักษาแบบ Day Case Surgery สามารถทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวันได้โดยไม่จำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาล แผลมีขนาดเล็กประมาณ 2 – 3 มิลลิเมตร ลดโอกาสเกิดการบาดเจ็บของเส้นประสาท ฟื้นตัวเร็ว โดย มี 2 วิธีคือ

การใช้เลเซอร์ความร้อน (Endovenous Laser Ablation: EVLA) หรือคลื่นวิทยุความถี่สูง (Endovenous Radio Frequency: EVRF) โดยการใช้สายสวนสอดเข้าไปในหลอดเลือดดำที่มีปัญหา เพื่อทำให้ผนัง “หลอดเลือดดำ” ที่โป่งพองหดตัวฝ่อลีบและผนังด้านในตีบติดกัน ด้วยพลังงานความร้อนจากเลเซอร์หรือคลื่นวิทยุความถี่สูง
  
หลังจากทำการรักษาแล้วจะทำการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ซ้ำเพื่อประเมินว่าหลอดเลือดดำได้ถูกทำให้ตีบโดยสมบูรณ์ และไม่มีการการจายของลิ่มเลือดไปยังหลอดเลือดดำชั้นลึก จากนั้นพันเท้าตลอดถึงต้นขาด้วยผ้ายืด Elastic Bandage เพื่อให้หลอดเลือดดำแฟบ และช่วยให้ผนังด้านในของหลอดเลือดดำติดกัน จากนั้นสวมถุงน่องทางการแพทย์เพื่อพยุงกล้ามเนื้อบริเวณขาทั้งหมด วิธีนี้เหมาะสำหรับเส้นเลือดขอดที่ไม่คดเคี้ยวมากเกินไป และไม่มีประวัติโรคหลอดเลือดลึกดำอุดตัน

4. การผ่าตัด

- การผ่าตัดแผลเล็กลอกหลอดเลือดดำที่มีปัญหาออก ถือเป็นมาตรฐานในการรักษาเส้นเลือดขอดที่มีขนาดใหญ่และผิดรูป เส้นเลือดขอดที่อยู่ชิดกับผิวหนังทำให้ไม่สามารถฉีดยาได้

เส้นเลือดขอดโป่งพองและหลอดเลือดดำอุดตัน ซึ่งไม่สามารถใส่สายสวนได้ ซึ่งก่อนทำการผ่าตัดแพทย์จะทำการตรวจยืนยันด้วยการทำอัลตราซาวนด์ในท่ายืนก่อน เพื่อดูความผิดปกติของหลอดเลือดดำระบบอื่นร่วมด้วยหรือไม่

ดูตำแหน่งและขนาดของหลอดเลือดดำ ความลึกจากผิวหนัง ทิศทางการวางตัวของหลอดเลือดดำ แผลผ่าตัดมีขนาด 3 – 4 เซนติเมตรบริเวณรอยพับขาหนีบ แพทย์ใช้เครื่องมือเกี่ยวเส้นเลือดดำที่มีปัญหาออกผ่านทางแผลเล็ก ๆ แยกเป็นจุดๆ หลังการผ่าตัดแนะนำให้ผู้ป่วยใส่ถุงน่องทางการแพทย์ เพื่อลดอาการปวดบวมและอัตราการเกิดหลอดเลือดดำขอดซ้ำต่ำ

อย่างไรก็ตาม “โรคหลอดเลือดดำอุดตัน” แพทย์แนะนำว่า หากจะต้องยืนนาน ๆ ให้เดินเสียยังดีกว่า ถ้าจะต้องนั่งนาน ๆ ให้นอนเสียดีกว่า ฉะนั้นแล้ว ถึงคราวต้องเดินทางไกลพยายามยืดเส้นยืดสายขยับแข็งขา กระดกข้อเท้าเพื่อให้เลือดไหลเวียนดีไม่คั่งค้าง เป็นพฤติกรรมที่พึงปฏิบัติ ป้องกันการเกิดโรคจากหลอดเลือดดำ

อ้างอิง:Bangkok Hospital ,bangkokbiznews(1), “Yong Poovorawan”