อนาคตฐาน 'ท่องเที่ยวไทย' หลังโควิด

อนาคตฐาน 'ท่องเที่ยวไทย' หลังโควิด

เปิดบทวิเคราะห์ 6 แนวโน้มอนาคตภาพการ "ท่องเที่ยวไทย" หลังวิกฤติโควิด-19 บนความไม่แน่นอน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนฟื้นฟูการท่องเที่ยวไทยในระยะสั้นและระยะกลาง

สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เนื่องจากนานาประเทศต่างก็ล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโรค เมื่อเปรียบเทียบรายได้ภาคการท่องเที่ยวกับปี 2562 คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะใช้เวลาในการฟื้นตัวจนถึงประมาณปี 2567 แต่จีนจะฟื้นตัวเร็วกว่าโลก 1 ปี ขึ้นอยู่กับการได้รับวัคซีนและความพร้อมของแต่ละประเทศเศรษฐกิจหลัก

มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะได้รับมอบหมายจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ให้วาดภาพอนาคตฐานและยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับการวิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยวไทย ซึ่ง รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ นักวิจัยอนาคตศาสตร์ ได้สังเคราะห์อนาคตฐานของการท่องเที่ยวไทย 

จากการกวาดสัญญาณหาแนวโน้มสำคัญของการท่องเที่ยวระดับโลก รวมถึงปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการท่องเที่ยวก่อนและระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 พบว่าในภาพอนาคตฐาน (Baseline future) ของการท่องเที่ยวไทยในช่วงระยะสั้นและระยะกลาง เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลง แนวโน้มที่คาดว่าจะกลับไปเป็นเหมือนก่อนหน้าสถานการณ์โควิด-19 มีดังต่อไปนี้

1) นักท่องเที่ยวจะนิยมการเดินทางท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตและประสบการณ์เพิ่มขึ้น

2) รูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวยืดหยุ่นและหลากหลายขึ้น

3) นักท่องเที่ยวจะแสวงหากิจกรรมการมีส่วนร่วมกับชุมชนในพื้นที่ท่องเที่ยวและผลลัพธ์ในระยะยาวที่ยั่งยืน หมายความว่านักท่องเที่ยวมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น

4) ช่องทางออนไลน์ทุกรูปแบบเป็นแหล่งข้อมูลและพื้นที่หลักสำหรับการค้นหาและให้บริการด้านการท่องเที่ยว

5) ที่ตั้งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของการนำเสนอสินค้าท่องเที่ยว เป็นทุนประเดิมที่ก่อให้เกิดความได้เปรียบ แต่ในยุคปัจจุบันและในอนาคตข้อมูลจะเป็นตัวที่สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitive advantage) ที่ทำให้ลูกค้าได้เข้าถึงสินค้าที่มีคุณภาพและศักยภาพได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น

6) การท่องเที่ยวแบบไร้เงินสดและการใช้นวัตกรรมบนฐานบล็อกเชนจะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้จะเพิ่มความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวจากโจรกรรมแบบเดิมๆ แต่ผู้ประกอบการและรัฐบาลก็ต้องเพิ่มความสามารถในการกำกับดูแลความปลอดภัยด้านไซเบอร์มากขึ้น

เมื่อวิเคราะห์ระดับความไม่แน่นอนและระดับผลกระทบของปัจจัยที่ขับเคลื่อนแนวโน้มสำคัญ พบว่าปัจจัยที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนและมีผลกระทบสูง ซึ่งจะเป็นอนาคตฐานของการท่องเที่ยวไทยเมื่อการท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมาใหม่ มีดังต่อไปนี้

1) การท่องเที่ยวกลุ่มเล็กจะเป็นกระแสใหม่ ธุรกิจท่องเที่ยวต้องปรับตัวให้สามารถบริการกลุ่มเล็ก เป็นการบริหารจัดการจุดหมายปลายทาง (Destination management) ให้มีกิจกรรมสร้างสรรค์มากขึ้น

2) ตลาดนักท่องเที่ยวจีนและอินเดียจะเติบโตแบบต่อเนื่อง

3) เมื่อการท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้น การกระจุกตัวของการท่องเที่ยวและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรท่องเที่ยว จะกลับมาเป็นความท้าทายที่ต้องแก้ไขก่อนทรัพยากรธรรมชาติจะเสื่อมโทรมลงจนฟื้นคืนไม่ได้

4) เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการท่องเที่ยว การเติบโตของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มและธุรกิจการท่องเที่ยวบนโลกออนไลน์จะเป็นไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ซึ่งในขณะนี้ผู้ประกอบการไทยยังอาศัย Facebook และแพลตฟอร์มของต่างชาติเป็นหลัก

5) การลงทุนจากประเทศจีนในธุรกิจท่องเที่ยวจะเข้ามาในทุกห่วงโซ่การบริการด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจไทยมีทางเลือกว่าจะแข่งขันด้วยราคา เป็นพันธมิตร หรือจะสร้างสินค้าและบริการที่ธุรกิจจีนเลียนแบบไม่ได้

6) คุณภาพอากาศในเมืองหลักจะเป็นอุปสรรคของการท่องเที่ยวมากในระยะสั้นและระยะปานกลาง

นอกจากนี้ เนื่องจากความเสี่ยงจากการติดโรคโควิด-19 จะยังไม่หมดไปภายในเร็ววัน แม้ว่าจำนวนประชากรที่ฉีดวัคซีนจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ก็ตาม พฤติกรรมการท่องเที่ยวในช่วงระยะสั้นและระยะกลางคาดว่านักท่องเที่ยวจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่คุ้นเคย คาดการณ์ได้ และเชื่อถือได้มากขึ้น โดยเน้นการท่องเที่ยวในประเทศหรือในระดับภูมิภาค และจะใส่ใจสุขภาพ สุขอนามัย และความปลอดภัยมากขึ้น ความไว้วางใจในผู้ประกอบการจึงจะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว

จากอนาคตฐานข้างต้น “จีน” จึงถือเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดในเชิงยุทธศาสตร์การฟื้นฟูการท่องเที่ยวไทยในระยะสั้นและระยะกลาง ซึ่งการฟื้นฟูการท่องเที่ยวระยะสั้นของไทยต้องอาศัยการเจรจาระหว่างรัฐบาลอย่างเร่งด่วนกับจีนให้ยอมเปิดมณฑลที่ปลอดเชื้อโคโรนาไวรัสกับจังหวัดที่ปลอดเชื้อแล้ว เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ให้สามารถบินตรงและเข้ามาท่องเที่ยวในคลัสเตอร์ของจังหวัดที่ปลอดภัยแล้ว

สำหรับในภาคผู้ประกอบการ นัยเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ทั้งสำหรับนโยบายสาธารณะของรัฐบาลและการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ คือการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล นับตั้งแต่แพลตฟอร์มการจัดการข้อมูล (Data management platform) ไปจนถึงการสร้างขีดความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ในด้านการท่องเที่ยวของไทย ผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องเป็นผู้ประกอบการดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ

ธุรกิจไม่ว่าจะเป็นขนาดไหนต้องพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ให้สามารถใช้สื่อออนไลน์นำสินค้าที่เป็นผลมาจากจุดเด่นในพื้นที่ (Asset on location) ของตนที่ขณะนี้เป็นสินค้าและบริการที่ขายให้ลูกค้าครั้งเดียวจบ (One time product) ให้เป็นสินค้าที่ขายได้อย่างต่อเนื่องทุกเวลา (All time product) ซึ่งสามารถขายได้ไม่จำกัดว่านักท่องเที่ยวจะมาเยือนหรือไม่ แม้แต่โรงแรมอาจต้องเปิดคอร์สสอน Online fine dining ตั้งแต่การจัดโต๊ะอาหารแบบไฮโซ จนถึงการเสิร์ฟเครื่องดื่มชนิดต่างๆ รวมทั้งขายอาหารสำเร็จรูปด้วย สำหรับลูกค้าที่เคยมาเที่ยวแล้วติดใจในรสมือและบริการของเชฟโรงแรม

ธุรกิจท่องเที่ยวต้องลงทุนหรือมีพันธมิตรเพื่อประดิษฐ์สร้างสินค้าและบริการที่หลากหลาย และนำเสนอได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ อาศัยนักท่องเที่ยวเป็นเอเย่นต์ที่จะเผยแพร่สินค้าไทยในต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี อนาคตฐานที่วาดภาพไว้อาจไม่ใช่อนาคตที่พึงประสงค์ โดยเฉพาะในประเด็นความเสื่อมโทรมของทรัพยากร คราวถัดไปเราจะลองดูฉากทัศน์อื่นๆ ที่เป็นไปได้ในอนาคตว่าเราสามารถเลือกทางเดินอะไรได้บ้าง