ผลักดัน EPR ความรับผิดชอบผู้ผลิต สู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

ผลักดัน EPR ความรับผิดชอบผู้ผลิต สู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

ปัจจุบัน แม้จะมีโครงการเรียกคืนบรรจุภัณฑ์เพื่อนำไปรีไซเคิล เช่น ขวด PET ฝาขวด กล่อง UHT แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ นำมาซึ่งการผลักดัน EPR ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตของไทยและทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้สำเร็จ

วารสารสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบาย ถึง “หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility : EPR)” เอาไว้ว่าเป็นเครื่องมือในการจัดการขยะและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย EPR ได้รับการนำเสนอเป็นครั้งแรกในช่วงปี 1990 โดย Dr.Thomas Lindhqvist แห่ง Lund University ประเทศสวีเดน

ประเทศที่พัฒนาแล้ว ภาครัฐจะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายโดยส่วนใหญ่จะออกเป็นกฎหมาย เพื่อกำหนดให้ผู้ผลิต เจ้าของแบรนด์ทุกเจ้าทุกรายในอุตสาหกรรมนั้นๆ ช่วยจัดระบบเรียกคืน (Take-back system) ขยะบรรจุภัณฑ์หรือซากผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นหลังการบริโภค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการขยะ และช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลท้องถิ่นที่ต้องจัดการขยะบรรจุภัณฑ์และซากผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด

ทั้งนี้แม้ชื่อหลักการจะเน้นไปที่ผู้ผลิต แต่ในการออกกฎหมาย รัฐบาลจะกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ช่วยรวบรวมด้วย เช่น ร้านค้าปลีก รัฐบาลท้องถิ่น รวมไปถึงหน้าที่ของผู้บริโภคที่ต้องส่งคืนขยะบรรจุภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้แล้วยังจุดที่ผู้ผลิตจัดไว้ให้

“ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี” นักวิจัยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า การจัดการปัญหาขยะ หลักการพื้นฐานที่ใช้ทั่วโลก โดยเฉพาะยุโปรซึ่งใช้มากว่า 46 ปี คือ “3R” Reduce-Reuse-Recycle ขณะที่ทุกวันนี้มี Circular Economy ในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้น ในต่างประเทศ มีการใช้หลักการ ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pay Principle) ทุกคนเป็นคนก่อขยะต้องร่วมรับผิดชอบ อย่างน้อยช่วยกันลดและคัดแยกขยะ ส่งคืนขยะเข้าสู่ระบบการจัดดการ ร่วมจ่ายค่ารีไซเคิล จัดการขยะ คำถาม คือ คนไทยพร้อมมากน้อยแค่ไหน

 “ประเทศไทยมีขยะมูลฝอย 28 ล้านตันต่อปี กว่า 60% เป็นขยะอินทรีย์ แต่สัดส่วนพลาสติกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขยะพลาสติก 1.9 ล้านตันต่อปี รีไซเคิลได้ 25% ระบบการจัดการของภาครัฐตามไม่ทันกับปริมาณขยะที่เพิ่มอย่างรวดเร็ว หากเปรียบเทียบความเข้มข้นของกฎหมายในหลายประเทศ เช่น เยอรมัน ชิลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม มีกฏหมายหลักที่กำหนดให้ประชาชนต้องแยกขยะ เป็นหน้าที่ของพลเมืองที่ต้องทำ แต่ของไทยยังเป็นกฏหมายลูก”

หากมองเพื่อนบ้านอาเซียน การเคลื่อนไหว EPR ใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ กฎหมาย มาตรการค่าธรรมเนียม กฏหมายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน และกฎหมายที่ใช้หลัก EPR นำหน้าเราไปโดยเฉพาะเวียนดนาม และสิงคโปร์ ดังนั้น ข้อเสนอต่อการขับเคลื่อน Circular Economy (CE) ใน ระยะสั้น คือ “ภาคเอกชน” รวมกันจัดตั้งกลไก EPR ด้าน ตลาดหลักทรัพย์ตั้งเกณฑ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับ CE / EPR ในหุ้นยั่งยืน ให้รางวัลห้างค้าปลีกที่มีการผลักดัน

ส่วน “ภาครัฐ” เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานระหว่างกระทรวงมาศึกษาความเป็นไปได้ ในการยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการหมุนเวียนทรัพยากรสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (CE Law) ร่วมกับผู้แทนภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ส่วน “กระทรวงอว. และ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)” ตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญยกร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ CE และศูนย์ทดสอบและรับรองมาตรฐาน รวมทั้งระบบการรับรองการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)

“กระทรวงการคลัง” มีมาตรการทางการเงินการคลัง สร้างแรงจูงใจ ให้มีการจัดซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนวัสดุรีไซเคิลหรือธุรกิจใช้ซ้ำ ด้าน BOI /ธนาคาร” มีมาตรการส่งเสริมการลงทุน การให้เงินกู้ดอกต่ำ สำหรับผู้ประกอกบการที่จะลงทุนในธุรกิจที่สอดคล้องกับ CE

ขณะที่ข้อเสนอ ระยะกลางและยาว ได้แก่ 1) ผลักดันให้มีการออก พ.ร.บ.ส่งเสริมการหมุนเวียนทรัพยากรสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (CE Law) และหน่วยงานกลางที่มีอำนาจหน้าที่ในการให้แรงจูงใจ กำกับดูแล สร้างความรู้และตระหนัก 2) ให้มีการออกกฏหมายลำดับรอง กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการในการจัดระบบ EPR สำหรับผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์เป้าหมาย และ 3) ศธ. อว. และอปท. ให้สถานศึกษาในสังกัดสร้างความตระหนักรู้เรื่องขยะและ CE แก่เยาวชนรวมถึงสื่อมวลชนทุกแขนงร่วมรณรงค์ต่อเนื่อง

"ดร.กาญจนา วานิชกร" รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ระบุว่า เรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ BCG Economy ซึ่งกลุ่มของนักวิชาการพยายามผลักดันแนวคิด BCG ตั้งแต่ปี 2561 หากติดตามในเรื่องการค้าในต่างประเทศจะเห็นว่าภาคเอกชนขับเคลื่อนนำหน้าเราไปเยอะมาก เป็นที่มาของการพยายามมองในเชิงระบบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

โดยการดำเนินการ 2 ปีที่ผ่านมา มีการออกแบบโปรแกรม 4 โปรแกรม คือ CE Champions สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนภาคเอกชน , CE Platforms พัฒนา Solution Platform เพื่อรองรับผู้เล่นกลุ่มต่างๆ , CE R&D ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และ CE Citizen ที่เน้นการสร้างคนและตลาดเศรษฐกิจหมุนเวียน

“สเต็ปต่อไปอยากจะดูเชิงลึก โดยเจาะลึกว่าทำอย่างไรให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เริ่มจากบรรจุภัณฑ์พลาสติก กล่องยูเอชที โดยสร้างเครือข่าย ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ ทั้งในมุมการจัดการขยะ และเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมกับการสร้างเครือข่ายในต่างประเทศ เพราะหลายประเทศใช้กฎหมายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ถึงเวลาหรือยังที่ไทยจะส่งเสริมเรื่องนี้” ดร.กาญจนา กล่าวทิ้งท้าย

  • เอกชน เดินหน้าตั้งจุดรับคืน

สุวิทย์ กิ่งแก้ว ที่ปรึกษาอาวุโส คณะเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ซีพี ออลล์ และ กรรมการ บริษัท แวลู ครีเอชั่น จำกัด ระบุว่า เซเว่นสนใจที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งการ “ลด” ในโครงการนำแก้วมาราคาพิเศษ งดให้ ช้อน ส้อม (ต้องร้องขอ) หรือ ม.ธรรมศาสตร์ ขายหลอดให้กับนักศึกษาที่ต้องการ ฯลฯ “ทดแทน” ด้วยถุงกระดาษ กระดาษหุ้มหลอด ฝายกดื่ม แก้วกระดาษเคลือบ PBS และ ไม้คนกาแฟร้อน/หลอดย่อยสลายได้ (PLA) ในปี 2563 สามารถลดถุงพลาสติก 1,935 ล้านใบ ลดหลอด 1,001 ล้านชิ้น ลดช้อน ส้อม แก้ว 28 ล้านชิ้น และ ลดพลาสติกถ้วยข้าวสวย 305 ตันต่อปี

Refun Machine” รับขวดพลาสติกโดยให้คูปองเพื่อแลกซื้อเครื่องดื่มในเครือ Pepsi ได้ เครื่องจะทำการอัดขวดพลาสติก เมื่อเครื่องเต็มจะส่ง SMS ไปยังผู้จัดการร้านและรวบรวมส่งเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ปัจจุบัน มีจำนวน 10 เครื่อง ในมหาวิทยาลัยและอาคารสำนักงาน ถัดมา คือ “ถังคัดแยกขยะ” รับขยะสะอาดประเภทขวดพลาสติก กระป๋องเครื่องดื่ม วางไปแล้ว 300 สาขา ตั้งเป้าไตรมาส 3/2564 วางครบทุกสาขาทั่วประเทศ

“กล่องวิเศษ” ร่วมกับ บริษัท เอส ไอ จี คอบบินล็อค จำกัด , บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด และบริษัท เต็ดตร้าแพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด รับกล่อง UHT ไปผลิตโต๊ะ เก้าอี้ บริจาคให้กับพื้นที่ขาดแคลน ยอดบริจาคสะสม ม.ค.62 – ธ.ค. 63 จำนวน 78,176 กล่อง ทำโต๊ะเก้าอี้ได้ 31 ชุด