ปิดช่องโกง' เราเที่ยวด้วยกัน' หาทางออกช่วยภาคท่องเที่ยว

ปิดช่องโกง' เราเที่ยวด้วยกัน' หาทางออกช่วยภาคท่องเที่ยว

รอลุ้นแก้ปัญหาทุจริตโครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน" สศช. เรียก ททท. กรุงไทย หารือ 15 มี.ค.นี้วางระบบใหม่ ปรับเงื่อนไขโครงการลดเงินอุดหนุน ตัด E-evocher ขยายสิทธิ์เพิ่ม เปิดทางออกเพิ่มช่วยเหลือการท่องเที่ยวในประเทศลดผลกระทบจากโควิด-19

เป็นเรื่องที่น่าเสียใจและเสียดายแทนประชาชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ต่างก็รอคอยโครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน" ระยะที่ 3 ที่จะมีการขยายสิทธิ์ให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมได้อีก 2 ล้านสิทธิ์ และขยายระยะเวลาโครงการออกไปอีกจนถึงเดือน ก.ค.2564 แต่โครงการดังกล่าวยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่อย่างใด 

เหตุผลที่สภาพัฒนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 ยังไม่อนุมัติให้มีการขยายโครงการเราเที่ยวด้วยกันในระยะที่ 3 เนื่องจากยังมีจุดอ่อนในเรื่องของการใช้สิทธิ์ในโครงการที่อาจจะเกิดการทุจริตซ้ำรอยขึ้นอีกในโครงการนี้อีกหลังจากในช่วงต้นปีที่ผ่านมามีการจับผู้กระทำผิดในโครงการนี้หลายร้อยราย 

ในเรื่องนี้ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าในวันที่  15 มี.ค.ที่จะถึงนี้จะต้องมีการหารือกันอีกครั้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ว่าจะมีแนวทางอย่างไรในการป้องกันการทุจริตหากมีแนวทางที่ดีก็จะสามารถขยายระยะเวลา และเพิ่มสิทธิ์ให้กับโครงการนี้ได้ 

ส่วนแนวทางที่จะมีการพิจารณาเพิ่มเติมในโครงการเราเที่ยวด้วยกันยังพิจารณาในอีก 2 ประเด็นได้แก่ 

1.หากมีการขยายระยะเวลาเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 ออกไปอาจมีการปรับลดเพดานราคาห้องพักจากสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท และภาครัฐอุดหนุนเงินให้ไม่เกิน 40% หรือประมาณ 3,000 บาท โดยอาจลดเพดานลงเหลือไม่เกินห้องละ 2,700 บาท

ซึ่งเป็นสถิติที่ ททท.รายงานว่าเป็นราคาห้องเฉลี่ยที่คนไทยเข้าพักในโครงการระยะที่ 1 และ2 โดยหากลดเพดานค่าที่พักลงเหลือในระดับราคาดังกล่าวก็จะทำให้จำนวนเงินที่ภาครัฐจะอุดหนุนลดลงเหลือประมาณ 1,000 - 2,000 บาทต่อสิทธิ์เท่านั้นซึ่งจำนวนเงินที่ลดน้อยลงอาจทำให้สามารถขยายจำนวนสิทธิ์ที่จะให้ประชาชนในโครงการนี้ได้มากขึ้น 

2.ในเรื่องของ E- voucher ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันที่มีการจ่ายสนับสนุนการท่องเที่ยวอยู่วันละ 900 บาท ส่วนนี้อาจพิจารณายกเลิกเพราะปัจจุบันมีส่วนโครงการที่สนับสนุนการใช้จ่ายและเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนที่ร้านค้าต่างๆเข้าร่วมอยู่แล้ว ได้แก่ โครงการเราชนะ คนละครึ่ง และกำลังจะมีโครงการม.33เรารักกันที่ประชาชนก็จะใช้การใช้จ่ายผ่านช่องทางเหล่านี้อยู่แล้ว 

สำหรับอีกแนวทางหนึ่งที่ต้องหารือกันก็คือหากไม่มีการเดินหน้าโครงการเราเที่ยวด้วยกันในระยะที่ 3 จะมีโครงการในลักษณะใดที่ช่วยเหลือภาคท่องเที่ยวได้อีกซึ่งการกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ต่อเนื่องเพราะที่ผ่านมาโครงการนี้ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้เกือบ 3 หมื่นล้านบาท 

"ที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่าโครงการเราเที่ยวด้วยกันนั้นช่วยสนับสนุนให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประทศ มีการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ และช่วยให้อัตราการเข้าพักของธุรกิจโรงแรมดีขึ้นเรื่อยจึงยังคงจำเป็นที่จะมีโครงการที่ช่วยเหลือภาคท่องเที่ยวในประเทศอยู่แต่ก็ต้องดูให้รัดกุมไม่มีการทุจริตเหมือที่เคยเกิดขึ้น"  

161545773575

แนะแนวทางป้องกันทุจริตเราเที่ยวด้วยกัน

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯได้เสนอแนวทางการปรับปรุงเงื่นไขโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โดยจะกำหนดมาตรการป้องกันการกระทำที่จะก่อให้เกิดการทุจริต และทำให้กระบวนการทำงานรัดกุม โปร่งใสมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถใช้จ่ายงบประมาณได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ ได้แก่ 

  • ป้องกันการใช้สิทธิ์ห้องพักเกินจำนวนห้องพักจริง โดยให้ธนาคารกรุงไทยฯ จัดให้มีระบบที่แสดงจำนวนห้องพักของแต่ละโรงแรมที่พักหากมีการจองเกินจำนวนห้องพักที่แจ้งไว้ ระบบจะสามารถจำกัดการจองได้ โดยมอบหมายให้ ททท. สำนักงานสาขาในประเทศเป็นผู้ดำเนินการ

161545790250

  • เพื่อป้องกันการขึ้นราคาห้องพักเกินจริง จึงเห็นควรให้มีการระบุในแบบฟอร์มยินยอม (Consent) ให้ชัดเจนว่าหากโรงแรมที่พักเจตนาขี้นราคาห้องพักเกินจริงสามารถเอาผิดเรียกเงินคืนและระงับการจ่ายเงินได้ และหากมีการกระทำผิดเงื่อนไขของโครงการฯ ต้องได้รับโทษไปจนถึงการตัดสิทธิ์ในการเข้าร่วมทุกโครงการของรัฐบาล

  • เพื่อป้องกันการใช้บัตรประชาชนผู้อื่นสวมสิทธิ์ จึงจะให้มีระบบสแกนใบหน้าของผู้ใช้สิทธิ์ในการเช็คอินเข้าที่พักและการใช้ E-Voucher ส่วนการยืนยันตัวตนที่สาขาของธนาคารกรุงไทยเป็นทางเลือกของผู้ใช้สิทธิ์

ต้องจับตาดูต่อไปว่าในที่สุดแล้วโครงการเราเที่ยวด้วยกันจะสามารถดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ หรือว่าจะต้องยุติโครงการนี้ไปซึ่งหากในที่สุดต้องยุติโครงการไปภาครัฐก็จะต้องเร่งหาโครงการใหม่ที่จะช่วยจูงใจให้ประชาชนท่องเที่ยวในประเทศ และช่วยเหลือภาคธุรกิจที่มียังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19