TDRI จี้รัฐเลิก 'หว่านเงิน' 1.1 แสนล้านอุ้มชาวนา

ทีดีอาร์ไอ ชี้รัฐควรเลิกนำงบอุดหนุนข้าว 1.1 แสนล้าน หว่านช่วยชาวนา แต่ปรับรูปแบบช่วยเฉพาะรายที่มีการปรับตัว

ทีดีอาร์ไอ ชี้รัฐควรเลิกนำงบอุดหนุนข้าว 1.1 แสนล้าน หว่านช่วยชาวนา แต่ปรับรูปแบบช่วยเฉพาะรายที่มีการปรับตัว ด้านสภาเกษตรกรไทย เตือนอาชีพชาวนาหาย หากไม่ปรับตัว จี้พัฒนาพันธุ์ข้าวสู้ และให้เงินอุดหนุนชาวนาที่ปรับโครงสร้างการผลิต อัดยุทธศาสตร์รัฐทำข้าวไทยพ่ายคู่แข่ง ด้านการส่งออกข้าวไทยต่ำสุดรอบ 20 ปี อาจเหลือแค่ 5 ล้านตัน

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ไทยสูญเสียตลาดการส่งออกข้าวให้กับประเทศคู่แข่งขันอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากการส่งออกข้าวไทยในปี 2563 พบว่าไทยเสียตลาดทั้งการส่งออกข้าวขาวและข้าวหอมมะลิ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิไทยส่งออกได้แค่ 1 ล้านกว่าตัน จากเดิมที่เคยส่งออกได้เกิน 2 ล้านตัน สาเหตุที่ไทยเสียตลาด เพราะผลผลิตต่อไร่ข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่ง อีกทั้งเกษตรกรไม่มีการปรับตัว เนื่องจากได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐมากเกินไป

ทั้งนี้ จะเห็นจะได้ว่างบอุดหนุนข้าวรวมทั้งหมดเมื่อปีที่ผ่านมาใช้เงินสูงถึง 1.1 แสนล้านบาท ซี่งมากกว่างบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนั้นทางแก้ไขปัญหารัฐบาลต้องปรับรูปแบบการอุดหนุนชาวนาใหม่ โดยจะอุดหนุนก็ต่อเมื่อชาวนามีการปรับตัว หรือปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อให้แข่งขันได้ ทั้งการลดต้นทุนการผลิต การสนับสนุนตลาด และรัฐจะต้องมีการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าวไทย เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ในการแข่งขันด้วย ส่วนโครงการประกันรายได้ และโครงการรับจำนำข้าว สามารถทำได้ก็ต่อเมื่อราคาข้าวตกต่ำ เกิดภัยแลัง ต้องการช่วยต้องมีเงื่อนไข ช่วยเฉพาะที่จำเป็น เช่น ตั้งราคาเพดานในการช่วย


สภาเกษตรกรไทยเตือนชาวนาเตรียมเลิกอาชีพ

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรไทย กล่าวว่า สถานการณ์ข้าวไทยน่าห่วงในแง่ของการแข่งขัน เพราะสินค้าข้าวไทยปัจจุบันเป็นพืชส่งออก แต่การแข่งขันของไทยกลับลดน้อยถอยลง ซ้ำมีการปรับตัวช้า ทำให้ไทยสู้คู่แข่งขันไม่ได้ และเชื่อว่าหากไม่ทำอะไรเลย ชาวนาจะต้องเลิกอาชีพ และคงปลูกข้าวเฉพาะกินในประเทศเท่านั้น ไม่ต้องส่งออก เพราะทุกวันนี้ที่ชาวนายังมีการปลูกข้าวอยู่มาก เพราะรัฐบาลอุดหนุน แต่หากรัฐเลิกอุดหนุนก็อยู่ไม่ได้ จะเกิดกลียุค ประเทศล่มสลาย และที่ข้าวไทยพ่ายแพ้ ไม่ใช่เพราะชาวนาไม่เก่ง แต่เป็นเพราะยุทธศาสตร์ของภาครัฐไม่เก่ง

สำหรับทางแก้ไขปัญหาแบบเร่งด่วน คือ ไทยต้องปฏิรูปวิจัยพันธุ์ข้าวทั้งระบบ เพื่อให้แข่งขัน ได้ โดยแยกการวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวออกจากระบบราชการ เพราะระบบราชการไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการแข่งขัน รวมทั้งรัฐต้องปรับรูปแบบการอุดหนุนมาช่วยเกษตรกรที่มีการปรับโครงสร้างการผลิตเท่านั้น เช่น มีการทำเกษตรผสม และหากภายใน 5 ปี ชาวนารายนั้นไม่ต้องพึ่งพาเงินจากรัฐ รัฐก็ควรมีรางวัลด้วยการช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในการจูงใจให้ชาวนาปรับตัว โดยควรเลิกแจกเงินแบบไม่มีเงื่อนไข


คาดส่งออกข้าวปี 64 เหลือ 5 ล้านตันต่ำสุดรอบ 20 ปี

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวไทยในเดือนมกราคม 2564 มีปริมาณแค่ 4.2 แสนตัน เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก เพราะตามปกติเดือนมกราคม ควรส่งออกได้ที่ 8 แสนตันถึง 1 ล้านตัน และหากการส่งออกข้าวยังไม่กระเตื้องคาดว่าการส่งออกข้าวไทยทั้งปี 2564 จะมีประมาณ 5 ล้านตันเท่านั้น หรือต่ำสุดในรอบ 20 ปี โดยไทยจะยังคงส่งออกเป็นอันดับ 3 ตามหลังอินเดีย และเวียดนาม ซึ่งปัญหาของข้าวไทยคือราคาสูงกว่าคู่แข่งขัน ทั้งต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า ประกอบกับค่าเงินบาทแข็งค่าทำให้ราคาข้าวไทยจึงแพง


นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ อดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ศักยภาพข้าวไทยขณะนี้เป็นเรื่องน่าห่วง เพราะการส่งออกข้าวไทยถดถอยลงมาก โดยปี 2563 สามารถส่งออกได้แค่ 5.8 ล้านตัน ซึ่งไทยเสียตลาดส่งออกให้คู่แข่งขัน โดยข้าวขาว 5% การส่งออกลดลงไป 30% จากเดิมส่งออกได้ 5 ล้านตัน เหลือ 3 ล้านตันกว่าๆ และข้าวหอมมะลิส่งออกลด 20% จากส่งออกได้ 2 ล้านกว่าตัน เหลือ 1 ล้านกว่าตัน ซึ่งประเทศคู่แข่งมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่แข่งขันกับไทยได้ โดยเฉพาะข้าวพันธุ์พื้นนุ่ม ซึ่งทางแก้ไขรัฐบาลต้องเร่งปรับปรุงพันธุ์ เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น โดยผลผลิตข้าวสดของไทยปัจจุบันอยู่ที่ 700 กิโลกรัมต่อไร่ ควรเพิ่มเป็น 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนข้าวแห้งไทยอยู่ที่ 400 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ขณะที่เวียดนามมีผลผลิตข้าวแห้ง 700 กว่ากิโลกรัมต่อไร่