ถอดบทเรียน“ปชป.-พปชร.” กระแส“ประยุทธ์”ชี้ขาดเลือกซ่อม

ถอดบทเรียน“ปชป.-พปชร.”  กระแส“ประยุทธ์”ชี้ขาดเลือกซ่อม

"เขาเป็นเจ้าของนโยบาย เขาเหมือนเจ้าของรถ เราเหมือนผู้โดยสาร วันหนึ่งถ้าเจ้าของรถบอกให้เราลงจากรถ เราก็ต้องลง แล้วจะทำยังไงได้ นโยบายหาเสียงก็เช่นเดียวกัน เมื่อเขานำผลงานของรัฐบาลไปหาเสียง แล้วชาวบ้านจะเชื่อใครล่ะ”

เสร็จศึกเลือกตั้งซ่อม “เขต 3 จ.นครศรีธรรมราช” ฉากต่อไปต้องวัดใจ วัดความสัมพันธ์ของ “พรรคร่วมรัฐบาล” ระหว่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แม้จะตัดกันไม่ขาดสบั้นเสียทีเดียว แต่เป็นแผลร้าวลึกในหัวใจแน่นอน

“อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ” จาก พปชร. กวาดคะแนนไป 48,701 คะแนน เข้าวินอันดับหนึ่ง “พงศ์สินธุ์ เสนพงศ์” จาก ปชป. น้องชาย “เทพไท เสนพงศ์” เจ้าของพื้นที่เดิม ได้ 44,632 คะแนน ตามมาเป็นอันดับสอง

เป็นอีกครั้งที่ พปชร.ประกาศศักดาเหนือ ปชป.ในแผ่นดินด้ามขวาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ ปชป.ผูกขาดมานาน จนมีวาทกรรม “ส่งเสาไฟฟ้าลงก็ชนะ” แต่มาวันนี้การเมืองเปลี่ยนไปแล้ว

“กรุงเทพธุรกิจ” พูดคุยกับตัวแทนทั้งสองพรรคคู่แข่ง เพื่อถอดบทเรียนการเลือกตั้งในสนามนี้ที่ปชป.ถูก พปชร.โค่นลงจากแชมป์อย่างสูสี 

“ชัยชนะ เดชเดโช” ผู้อำนวยการเลือกตั้งเขต 3 จ.นครศรีธรรมราช ในฐานะแม่ทัพการเลือกตั้งซ่อม พรรคประชาธิปัตย์ และ “รงค์ บุญสวยขวัญ” ส.ส.นครศรีธรรมราช ในฐานะประธานภาค 8 พรรคพลังประชารัฐ ได้สรุปบทเรียนในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ เพื่อวางยุทธศาสตร์รอทำศึกรอบหน้า

“ชัยชนะ” วิเคราะห์ว่า โครงการของรัฐบาลถูกใจประชาชน ตั้งแต่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ต่อยอดมาโครงการคนละครึ่ง โครงการไทยชนะ และอีกหลายโครงการ มีผลต่อคะแนนนิยมในตัว พล.อ.ประยุทธ์ และส่งผลมายังพรรค พปชร. ซึ่ง กระแสพรรคพปชร.สู้กระแส พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้

“แม้เราจะอยู่ร่วมรัฐบาลเดียวกัน แต่ต้องยอมรับว่าเขาเป็นเจ้าของนโยบาย เขาเหมือนเจ้าของรถ เราเหมือนผู้โดยสาร วันหนึ่งถ้าเจ้าของรถบอกให้เราลงจากรถ เราก็ต้องลง แล้วจะทำยังไงได้ นโยบายหาเสียงก็เช่นเดียวกัน เมื่อเขานำผลงานของรัฐบาลไปหาเสียง แล้วชาวบ้านจะเชื่อใครล่ะ”

"การที่ประชาธิปัตย์เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรกร หรือโครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยสำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ก็มีประชาชนเห็นด้วยเช่นกัน แต่ต้องยอมรับอีกว่า เมื่อเป็นพรรคร่วม แต่สุดท้ายผลงานที่ออกมานั้นก็เป็นของรัฐบาล ทำให้พลังประชารัฐได้เปรียบตรงนี้ ไม่ว่าเราจะทำอย่างไร" 

“โดยเฉพาะโครงการเราชนะ โครงการคนละครึ่ง หรือโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็มีประชาชนได้การดูแลจากโครงการนี้กว้างกว่าโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรกร ทั้งชาวสวนยางหรือชาวนา ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้ประชาธิปัตย์แพ้ไป 4 พันคะแนน”

“ชัยชนะ” ยอมรับว่าตั้งแต่ประกาศตัวผู้สมัคร จนถึงการจับเบอร์ผู้สมัคร คะแนนของ “พงศ์สินธุ์” ค่อนข้างเป็นรอง “อาญาสิทธิ์” แต่ก่อนการเลือกตั้ง ทีมของพรรคและทีมในพื้นที่ทำคะแนนตีตื้นได้อย่างดี และมีโอกาสพลิกกลับมาชนะ

“เราคิดฐานว่า 4 อำเภอในเขต 3 จ.นครศรีธรรมราช มีประชาชนออกมาเลือกตั้งนายก อบจ. 100,000 คน เราคาดว่าคะแนนที่ได้ 45,000 คะแนน ซึ่งเราทำได้ตามเป้า (44,632 คะแนน) เราก็จะชนะ แต่ที่ผิดคาดคือคนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 106,000 คน ซึ่งคะแนนสวิงไปอยู่ฝั่งตรงข้ามทำให้เราแพ้”

"การเลือกตั้งที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จในเรื่องผลคะแนนที่เพิ่มขึ้นมาหมื่นคะแนน แต่บทเรียนความพ่ายแพ้ครั้งนี้ ต้องยอมรับว่าพลังประชารัฐได้ยกทัพหลวง ตั้งแต่รัฐมนตรี ส.ส.มาในพื้นที่เลือกตั้งทั้งหมด โดยสิ่งที่ผู้สมัครประชาธิปัตย์แพ้ไป 4 พันคะแนน เพราะประชาชนพอใจนโยบาย ซึ่งเป็นโครงการที่ถูกใจประชาชนในเรื่องนี้"

อย่างไรก็ตาม “ชัยชนะ” เชื่อว่าการเลือกตั้งซ่อมจะแตกต่างจากการเลือกตั้งใหญ่ หากพรรค ปชป.กลับไปทบทวนและทำการบ้านมากขึ้น ก็จะกลับมาทวงแชมป์คืนได้ เนื่องจากการเลือกตั้งซ่อมประชาชนรู้อยู่แล้วว่า นายกฯ คือ พล.อ.ประยุทธ์ แต่การเลือกตั้งใหญ่คนจะเลือกตัวแทนของแต่ละพรรคไปเป็นนายกฯ ซึ่งมันแตกต่างกันอยู่

หลังจากนี้เราต้องทำพื้นที่ให้เข้มแข็งมากขึ้น อธิบายการทำงานในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลให้ประชาชนเข้าใจ และยังมีอีกหลายโจทย์ที่ต้องแก้ไข

“ขณะที่การเลือกตั้งซ่อมที่อาจเกิดขึ้นที่ จ.ชุมพรนั้น ประชาธิปัตย์ต้องแก้ปัญหาในเรื่องนโยบายที่ทำอยู่ หรือที่นโยบายแกนนำพรรครัฐบาลทำอยู่ด้วย เพื่อทำอย่างไรให้ประชาชนทราบว่า เป็นผลงานที่ประชาธิปัตย์ทำร่วมกับรัฐบาลเช่นกัน” ชัยชนะ” ทิ้งท้าย

ด้านพลังประชารัฐ ฝ่ายที่พลิกกลับมาได้ชัยชนะ “รงค์ บุญสวยขวัญ” ส.ส.นครศรีธรรมราช ในฐานะประธานภาค 8 พรรคพลังประชารัฐ อธิบายถึงยุทธศาสตร์การเลือกซ่อมสนามเขต 3 นี้ว่า ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญคือตัวผู้สมัครอย่าง “อาญาสิทธิ์” ซึ่งเป็นผู้สมัครคนเดียวในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ที่มีภูมิลำเนาเป็นคนพื้นที่ เกิดที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ

“เมื่อเกิดที่นั่นก็ลงสมัครที่นั่น เรื่องนี้คนนครฯถือกันมาก จะยกเว้นก็กรณีเป็นคนมาจากที่อื่นแล้วมาทำงานในพื้นที่อยู่หลายสิบปีจนประสบความสำเร็จ”

ที่สำคัญ “นายอาญาสิทธิ์” ถือเป็นนักปกครอง เคยมีตำแหน่งเป็นทั้งปลัดอำเภอ และนายอำเภอในพื้นที่ เขต 3 ของนครศรีธรรมราช ได้แก่ อ.พระพรหม อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.จุฬาภรณ์ และอ.ชะอวด ทำให้คลุกคลีเป็นที่รู้จักของชาวบ้านทั้ง 4 อำเภอเป็นอย่างดี

ปัจจัยสำคัญต่อมา คือพรรค พปชร.เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มี “พล.อ.ประยุทธ์” ดังนั้นการที่ประชาชนเลือก “นายอาญาสิทธิ์” คือการให้กำลังใจนายกฯ และทำให้เสถียรภาพรัฐบาลมั่นคงขึ้น และเป็นการตอกย้ำว่า นโยบายรัฐบาลที่ออกมาเยียวยาประชาชน เป็นนโยบายที่ถูกต้อง เดินมาถูกทาง

“กลยุทธ์ของพลังประชารัฐคือการให้เกียรติคนนครฯ เขต3 เพราะเป็นครั้งแรกที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไปขึ้นเวทีปราศรัยครั้งแรกในชีวิต ถือเป็นการให้เกียรติประชาชนมาก”

รวมถึงการไปเดินตลาด เมืองนี้มีความสำคัญมากถึงต้องมาเอง เป็นการตอกย้ำกับประชาชนว่า เราเอาจริง ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ พร้อมรักษากติกาประชาธิปไตย ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง มีทั้งคนทั้งนโยบาย ไม่มีฮั้ว

สำหรับยุทธศาสตร์การปราศรัยของพรรค พปชร.ไม่ปราศรัยโจมตี ไม่รื้อฟื้นเรื่องเก่า เคารพกระบวนการหาเสียงที่ถูกต้อง จึงทำให้เราเป็นที่น่าเชื่อถือมากขึ้น

“อาญาสิทธิ์โปรไฟล์ดี สังกัดมีเสน่ห์ เท่ที่กลยุทธ์ สุดๆ ที่นายป้อมลงมานอบน้อมคนเมืองคอน”

“ชัยชนะ-รงค์” ตัวแทนจาก 2 พรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องกลายเป็นคู่แข่ง สรุปตรงกันว่า ตัวแปรการเลือกตั้งซ่อม เขต 3 จ.นครศรีธรรมราช อยู่ที่ชายชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” แม้จะไม่เปิดตัวสนับสนุนใครอย่างเป็นทางการ แต่กระแสของนายกฯประยุทธ์ คือจุดชี้ขาดการเลือกตั้งซ่อมสนามนี้