นักวิจัยไทย เดินหน้าพัฒนา 'สมุนไพร' สู่ 'ยารักษาโควิด'

นักวิจัยไทย เดินหน้าพัฒนา 'สมุนไพร' สู่ 'ยารักษาโควิด'

การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วโลกหลักแสนรายต่อวัน นอกจากจะมีการคิดค้นวัคซีนเพื่อป้องกันแล้ว หลายหน่วยงานยังได้ศึกษาวิจัย "ยารักษาโควิด" รวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีการวิจัยยาจากสมุนไพรและพัฒนาภูมิปัญญา ทั้งฟ้าทลายโจร กัญชง กัญชา ต้นยาสูบ และเปลือกส้ม

ที่ผ่านมา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ทำการศึกษานำร่องการใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วย โควิด-19 ร่วมกับโรงพยาบาลสมุทรปราการ จำนวน 6 ราย ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้น ในผู้ป่วยที่รับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ขนาด 180 มิลลิกรัม/วัน  พบว่า ผู้ป่วยทุกราย มีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่สามของการได้รับสารสกัดดังกล่าว โดยหากแยกรายละเอียดอาการ จะพบว่า อาการไอ, เจ็บคอ, มีเสมหะ , มีน้ำมูก , ปวดกล้ามเนื้อ และปวดศีรษะ มีอาการดีขึ้น ผู้ป่วยไม่มีอาการข้างเคียง ค่าการทำงานของตับและไต อยู่ในเกณฑ์ปกติ

  • วิจัยฟ้าทะลายโจร รักษาโควิด ระยะ 2

ล่าสุด กรมการแพทย์แผนไทยฯ ร่วมกับ โรงพยาบาลสมุทรปราการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และองค์การเภสัชกรรม ศึกษาวิจัยทางคลินิกเพิ่มเติม ระยะที่ 2 เพื่อศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของสารสกัดฟ้าทะลายโจรขนาดสูงต่อระยะเวลาการหายจากอาการโรคโควิด-19 เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของสมุนไพร"ฟ้าทะลายโจร"ในการร่วมรักษาโรคโควิด-19

ซึ่งได้ออกแบบการศึกษาวิจัยเป็นแบบสุ่มปกปิดสองทาง เพื่อลดอคติ ของการประเมินผลและมีหลักฐานการวิจัยที่ชัดเจนน่าเชื่อถือในการยืนยันประสิทธิผลของสารสกัดฟ้าทะลายโจร และเพิ่มเติม การเพาะเลี้ยงเชื้อจากสิ่งส่งตรวจ จากตัวอย่างโพรงจมูกของอาสาสมัครเพื่อศึกษาผลของสารสกัดฟ้าทะลายโจร ต่อจำนวนเชื้อไวรัส

การศึกษาวิจัยนี้ต้องการอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 60 ราย โดยที่ผ่านมา เก็บข้อมูลอาสาสมัครในโครงการแล้ว 30 ราย และส่งต่อตัวอย่างของอาสาสมัครแก่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำเนินการเพาะเลี้ยงเชื้อ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการวิจัยและเผยความก้าวหน้าของการวิจัยดังกล่าวต่อไป

  • ยาและวัคซีน จากต้นยาสูบ

ทางฝั่ง ทีมวิจัยศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนายาและวัคซีนสำหรับ"ไวรัสโควิด19"จากต้นยาสูบ โดยเลือกใช้ต้นยาสูบเป็นแหล่งผลิตแอนติบอดี เนื่องจากต้นยาสูบเป็นแหล่งผลิตแอนติบอดีที่มีประสิทธิภาพ ใช้ระยะเวลาการผลิตสั้น

โดยการสกัดโมโนโคลนอลแอนติบอดีจากพืช จะใช้ต้นยาสูบที่มีต้นกำเนิดจากประเทศออสเตรเลีย สายพันธุ์ที่มีปริมาณนิโคตินต่ำ อายุราว 1 เดือน จากนั้นจะนำส่งแบคทีเรียที่มีรหัสพันธุกรรมแอนติบอดี "โควิด 19" เข้าไปในใบยาสูบโดยใช้แรงดันสุญญากาศ

เมื่อครบกำหนด 4-7 วัน ตัดต้นยาสูบออกมาสกัดโปรตีนด้วยการปั่นใบยาสูบผสมกับสารละลายบัฟเฟอร์ กรองกากปั่นแยกตะกอนให้ได้เฉพาะสารสกัดใส สู่กระบวนการทำให้แอนติบอดีบริสุทธิ์ จากนั้น นำไปทดลองประสิทธิภาพการยับยั้งการติดเชื้อไวรัส โควิด 19 ก่อนนำไปพัฒนาต่อเป็นยารักษา

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา โมโนโคลนอลแอนติบอดีจากพืช สามารถนำไปทำการรักษาผู้ป่วยชาวอเมริกันที่ได้รับเชื้อไวรัส Ebola เมื่อปี 2557  นอกจากนี้ ชิ้นส่วนของไวรัสและโมโนโคลนอลแอนติบอดีจากพืช ยังสามารถนำไปพัฒนาเป็นชุดตรวจโรคได้ ซึ่งจะช่วยคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้น และควบคุมการระบาดของโรคได้

  • กัญชา-กัญชง รักษาผู้ป่วยโควิด-19

เมื่อต้นเดือนมกราคม ที่ผ่านมา นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว เกี่ยวกับการใช้กัญชาและกัญชง ในการรักษาโควิด-19 โดยระบุว่า การใช้กัญชาดังกล่าว เป็นยาในทางการแพทย์ ไม่ใช่เป็นการเสพเพื่อความสนุกเฮฮา โดยผู้ขาดความรู้และความเข้าใจ จำเป็นต้องศึกษาทั้งหลักฐานกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และหลักฐานประจักษ์ในผู้ป่วยที่กระทรวงสาธารณสุขได้นำไปใช้ในชุมชนเกือบ 20,000 ราย และทำการติดตามหนึ่งปี

ข้อมูลดังกล่าวมาจากคณะผู้วิจัยหลายแห่ง โดยตั้งเป้าในการลดการอักเสบอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นในโควิด-19  และเป็นต้นตอให้เกิดปอดเสียหายอย่างรุนแรงและตามมาด้วยการเกิดเยื่อพังผืด และทำให้ปอดเสียหายถาวรแม้ว่าจะกำจัดไวรัสตายหมด

โดยได้ทำการศึกษาในหนูที่ติดเชื้อโควิด-19 รักษาโดยการให้สารที่กระตุ้นการสร้าง interferon หรือให้กัญชง CBD เมื่อเทียบกับไม่ให้อะไรเลยพบว่า กลุ่มที่ให้ CBD มีอาการดีกว่าและปอดถูกทำลายน้อยกว่า รวมทั้งการอักเสบจะลดลง และดูว่าจะสัมพันธ์กับระดับของ apelin ที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ผู้วิจัยอีกคณะได้ทดสอบโดยใช้สารออกฤทธิ์ THC ในรูปแบบการทดลองที่ทำให้เกิดสภาพปอดเสียหายในระดับวิกฤต ARDS จากการได้รับ Staphylococcal Enterotoxin B Exposur

เนื่องจากพยาธิสภาพมีลักษณะคล้ายกันกับที่พบในโควิด-19 ที่มีมรสุมภูมิวิกฤติ cytokine storm ดังนั้น จึงมีทางเป็นไปได้ในการใช้กัญชาในการลดการอักเสบที่จะนำไปสู่ความเสียหาย รวมทั้งการเกิดเยื่อพังผืดในเนื้อปอด ทั้งนี้การใช้กัญชาดังกล่าวไม่ใช่เป็นรูปแบบของการสูบกัญชาอย่างที่เข้าใจกัน แต่เป็นการใช้กัญชาทางการแพทย์เพื่อการรักษา

คณะผู้วิจัยจากอิสราเอลเสนอใช้การรักษาด้วย CBD (กันชง) ร่วมกับ เธอปีน terpenes ในโควิด 19 เพื่อลดการอักเสบที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง โดยการทดสอบในหลอดทดลองนำเม็ดเลือดขาวของคนปกติ และกระตุ้นให้เกิดการอักเสบจากการใส่ Lipopolysaccharides หลังจากนั้นเปรียบเทียบการใช้กันชงร่วมกับเธอปีนเทียบกับสเตียรอยด์ ใน cytotoxicity assay พบว่าได้ผลในการลดการอักเสบดีกว่าสเตียรอยด์ ทั้งนี้ ยังเป็นเพียงการศึกษาในหลอดทดลอง

และเนื่องจากสารออกฤทธิ์ดังกล่าว ไม่มีผลต่อสภาวะทางจิตใจและเป็นการใช้ทางการแพทย์ โดยที่กันชงไม่ผิดกฎหมายอีกทั้งสารออกฤทธิ์เธอปีน ไม่มีผลต่อจิตประสาทเช่นเดียวกัน ดังนั้น ควรนำมาใช้ร่วมกับการรักษาแผนปัจจุบันในผู้ป่วยโควิด-19

  • สกัดรูติน จากเปลือกส้ม ต้านโควิด

ล่าสุด ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยค้นพบสารที่มีโอกาสจะพัฒนาไปเป็นยา (Candidate) ที่น่าสนใจอยู่หลายชนิด ทั้งสารที่มาจากยาแผนปัจจุบันที่มีอยู่เดิม และสารจากสมุนไพรไทยมากกว่า 60 ชนิด ตัวที่น่าสนใจที่สุดที่ทีมวิจัยค้นพบในขณะนี้ คือ รูติน (rutin) ซึ่งเป็นสารไบโอฟลาโวนอยด์ที่พบในผิวเปลือกส้ม

“ผศ.ดร.ธัญญดา รุ่งโรจน์มงคล” ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายว่า “รูติน” คาดว่าจะสามารถยับยั้งเอนไซน์โปรตีเอสในโควิด-19 ทำให้เพิ่มจำนวนไม่ได้ พอเพิ่มจำนวนไม่ได้ก็จะมีโอกาสทำให้การติดเชื้อไม่ลุกลาม แต่หากเป็นการอักเสบของปอด ที่ทำให้ปอดเสียหาย ถึงแม้ไวรัสไม่อยู่แล้ว การกินรูตินเข้าไปจะไม่ช่วยอะไร ดังนั้น เวลาศึกษาต้องดูว่ากินตอนไหน กินเพื่อป้องกัน หรือเพื่อรักษา ต้องทำการศึกษาขั้นตอนวิจัยในมนุษย์ต่อไป

ด้าน “ดร.กิตติคุณ วังกานนท์” ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ระบุเพิ่มเติมว่า กลุ่มวิจัยจุฬาฯ สนใจศึกษาเอนไซม์ย่อยโปรตีน หรือโปรตีเอส (protease) ของเชื้อก่อโรคโควิด-19 ซึ่งต้องการโปรตีนเอสในวัฏจักรชีวิต ยาที่ยับยั้งการทำงานของโปรตีเอส อาจเป็นหนทางในการป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 ควบคู่กับวัคซีน โดยความรู้ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ เมอร์ส ซาร์ส บ่งชี้ว่า โปรตีเอส เป็นเป้าหมายสำหรับการพัฒนายาที่ดี ในปัจจุบัน บริษัทยา เช่น ไฟเซอร์ กำลังพัฒนายาเพื่อยับยั้งการทำงานของโปรตีเอส

ห้องปฏิบัติการของจุฬาฯ สามารถทดสอบ การยับยั้งโปรตีเอสของยาที่มีใช้อยู่แล้ว และสารสกัดสมุนไพรหลายชนิด นอกจากนั้น ยังสามารถหาโครงสร้างสามมิติของโปรตีเอสได้ ซึ่งจะทำให้ทราบถึงกลไกการทำงานในระดับโมเลกุลและสามารถพัฒนายาที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นต่อไปได้  โดยภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่แรกและที่เดียวในประเทศไทยที่สามารถศึกษาโครงสร้างของโปรตีเอสของเชื้อโควิด-19 ที่สังเคราะห์ขึ้นมาได้ในระดับโมเลกุล

“เราอาจจะได้ยินว่ามีการใช้ยาของโรคเอดส์มารักษาผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ตัวหนึ่ง ไวรัสโควิด-19 ก็เช่นเดียวกับไวรัสที่ก่อโรคเอดส์ มันจะสร้างสายโปรตีนที่ยาวมาก เป็นโปรตีนหลายตัวที่เชื่อมต่อกัน และต้องมีเอนไซม์ย่อยโปรตีน หรือที่เรียกกันว่าโปรตีเอส (Protease) มาทำให้โปรตีนที่ยาวๆ นี้เป็นชิ้นเล็กๆ แต่ละชิ้นก็จะทำหน้าที่ต่างกันไป นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกมองว่าเอนไซม์นี้คือเป้าหมายในการผลิตยาที่ดีอีกจุดหนึ่ง” ดร.กิตติคุณ อธิบาย 

ปัจจุบันภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ สามารถสังเคราะห์โปรตีเอสได้เป็นจำนวนมาก ผนวกกับความสามารถในการวิเคราะห์โครงสร้างโปรตีนในระดับโมเลกุล ทำให้สามารถนำโปรตีเอสเหล่านี้มาทดสอบหรือตกผลึกร่วมกับสารต่างๆ ได้ทันที

“ขั้นตอนต่อไปที่อยากจะเห็น คือ มุมมองในแง่ของการวิจัยยาสมุนไพร ส่วนตัวไม่ค่อยเห็นความแตกต่างระหว่างยาสมุนไพรและยาแผนปัจจุบัน เพราะยาแผนปัจจุบันหลายตัวมาจากยาสมุนไพร เช่น มอร์ฟีน อย่างไรก็ตาม ต้องผ่านการสกัดในห้องปฏิบัติการ รู้ขนาด รู้การใช้ ดังนั้น แม้จะศึกษาสมุนไพร แต่ก็อยากให้ไปให้ถึงการนำไปใช้ได้จริง” ดร.กิตติคุณ กล่าว