เฝ้าระวังอาการ 30 นาที หลังฉีดวัคซีนโควิด จำเป็นอย่างไร ?

เฝ้าระวังอาการ 30 นาที หลังฉีดวัคซีนโควิด จำเป็นอย่างไร ?

หลังจากการฉีดวัคซีนโควิด 19 มีโอกาสที่ผู้ฉีดมีอาการแพ้วัคซีน ซึ่งปกติจะใช้เวลา 15 นาทีในการสังเกตอาการ แต่ในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้สังเกตอาการในสถานที่นั้นๆ เป็นเวลา 30 นาที เพื่อความปลอดภัยของผู้ได้รับวัคซีน

การฉีดวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต เพื่อปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ และเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยให้คนไทยทุกคนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ สำหรับในระยะแรกที่วัคซีนมีจำกัด 2 ล้านโดสของบริษัทซิโนแวค จึงฉีดให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เสี่ยงก่อน ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย เช่น ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ อสม. เป็นต้น และประชาชนที่มีโรคประจำตัว ส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ยังต้องระงับการฉีดวัคซีนของซิโนแวคไว้ก่อน เนื่องจากมีผลการศึกษาวิจัยในกลุ่มอายุดังกล่าวน้อย

 

ข้อมูลการ ฉีดวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2564 ฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายใน 13 จังหวัด รวม 17,697 ราย เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และอสม. 15,981 ราย, เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 1,603 ราย ประชาชนที่มีโรคประจำตัว 22 ราย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 91 ราย

  • ไทยพบผู้มีอาการข้างเคียง 1.5%

ในจำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนไป พบผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ 270 ราย มีอาการ ปวด บวม บริเวณที่ฉีด ร้อยละ 24, คลื่นไส้ ร้อยละ15, เวียนศีรษะ ร้อยละ 13 และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ร้อยละ 8 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน ให้ข้อมูลว่าในต่างประเทศพบได้ 1 ใน 3 ของผู้ที่รับวัคซีนโควิด 19 อาจพบอาการข้างเคียงอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ส่วนในประเทศไทยมีรายงานพบผู้ที่มีอาการเพียง ร้อยละ 1.5 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดหมายไว้ และยังไม่พบผู้ที่มีอาการรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน

สำหรับ ผลการดำเนินงานให้บริการวัคซีน โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ล่าสุด วันที่ 6 มีนาคม 64 จำนวนวัคซีนที่ได้รับจัดสรร 33,600 โด๊ส บุคลากรทางการแพทย์สาธารณสุข เป้าหมาย 3,696 ราย ผลงาน 2,902 ราย อาการข้างเคียงที่พบ รุนแรง 2  ราย  0.07 %ไม่รุนแรง  11 ราย 0.38%

  • ทำไมต้องซักประวัติก่อนฉีด 

ข้อมูลจาก สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ก่อนรับวัคซีนโควิด 19 แพทย์จะซักประวัติการแพ้ยาหรือแพ้อาหารอย่างรุนแรง การแพ้วัคซีนตัวอื่นหรือส่วนประกอบของวัคซีน หลังจากได้รับภายใน 30 นาที ส่วนผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง จะต้องอยู่ในภาวะที่สามารถควบคุมอาการได้ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับแพทย์ในการประเมินพร้อมในการฉีดวัคซีน หากไม่พร้อมจะเลื่อนออกไปก่อน

นอกจากนี้ หลังฉีดรับวัคซีนทุกคนจะต้องพักรอเพื่อสังเกตอาการจนครบ 30 นาที ตามโปรแกรมการฉีดวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขวางไว้เพื่อความปลอดภัย อย่างรอบคอบ หากกลับบ้านแล้วเกิดอาการหอบเหนื่อย แน่นหน้าอก ผื่นขึ้นตามตัว ความดันตก วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม ขอให้พบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วน 1669 ส่วนอาการไม่พึงประสงค์เพียงเล็กน้อยที่พบบ่อย เช่น ไข้ เจ็บบริเวณที่ฉีด ปวดเมื่อยเนื้อตัว คลื่นไส้ จะหายได้ภายใน 1-2 วัน

วัคซีนที่นำมาใช้ในประเทศไทย ได้ผ่านการขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉินช่วงที่มีการระบาดของโรค มีความปลอดภัย รวมถึงระบบการฉีดที่โรงพยาบาลมีความพร้อม มีการเฝ้าระวัง 30 นาทีหลังฉีด และติดตามอย่างใกล้ชิดทั้ง 2 เข็มเป็นระยะเวลา 1 เดือน ขอให้ทุกคนวางใจ อย่างไรก็ตาม การฉีดขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ความพร้อมด้านสุขภาพของผู้รับวัคซีน และการประเมินของแพทย์

  • เตรียมพร้อมก่อนฉีดวัคซีน

สำหรับ การเตรียมความพร้อมร่างกายก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 เป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญ ขอให้ปฏิบัติดังนี้

1. ก่อนเข้ารับบริการฉีดวัคซีน ให้ตรวจสอบว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ได้ลงทะเบียนไว้หรือไม่

2. พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรงดอาหาร

3. ไม่กินยาลดไข้ หรือยาแก้ปวด

4. แจ้งประวัติการแพ้วัคซีน ยา หรืออาหาร

5. หากมีไข้ ท้องเสียรุนแรง ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีอาการของโรคควบคุมได้ไม่ดี ให้เลื่อนออกไปก่อน

6. สำหรับหญิงตั้งครรภ์ยังไม่แนะนำให้ฉีด

  • เพิ่มเวลาสังเกตอาการ จาก 15 นาที เป็น 30 นาที

ที่ผ่านมา ได้มีการดำเนินการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องมาประมาณหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งได้รับรายงานอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนประปรายในบางพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง อย่างไรก็ตาม แม้วัคซีนจะมีความปลอดภัย แต่อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นได้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องเฝ้าระวังอาการหลังฉีด 30 นาที โดยหลังรับวัคซีนจะมีการสังเกตอาการเพื่อดูว่ามีการแพ้วัคซีนหรือไม่

โดยปกติการฉีดวัคซีนจะสังเกตอาการ 15 นาที แต่ระบบของประเทศไทยเพื่อความปลอดภัยจะให้อยู่สังเกตอาการ 30 นาที ตามโปรแกรมการฉีดวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขวางไว้เพื่อความปลอดภัยอย่างรอบคอบ และเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอาการใดๆ ก่อนจะอนุญาตให้กลับบ้านและนัดให้มาฉีดเข็มที่สองต่อไป รวมถึงให้คำแนะนำ แผ่นพับในการเฝ้าระวังอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ และเบอร์ติดต่อกับโรงพยาบาลที่ให้บริการ

สำหรับการเฝ้าระวัง สังเกตและติดตามอาการหลังรับวัคซีน นั้น เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการดังนี้ สังเกตและถามอาการหลังฉีดทันที, เฝ้าระวังและสังเกตอาการในสถานที่รับวัคซีน 30 นาที จากนั้นจะมีการติดตามอาการอีกในวันที่ 1, 7 และ 30 ผ่านทางไลน์ หมอพร้อม หรือมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล, รพ.สต. หรือ อสม. เป็นผู้ติดตามอาการ ทั้งนี้ ผู้ที่รับวัคซีนควรสังเกตอาการต่อไปจนครบ 30 วันตามโปรแกรมที่กระทรวงสาธารณสุขวางไว้เพื่อความปลอดภัย

  • อาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน

อาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ

1.อาการไม่รุนแรง ได้แก่ มีไข้ต่ำ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และปวดบริเวณที่ฉีด หากมีอาการเหล่านี้หลังฉีดขอให้รายงานในระบบไลน์ “หมอพร้อม” ซึ่งอาการเพียงเล็กน้อยเหล่านี้จะหายได้ภายใน 1-2 วัน

2.อาการรุนแรง ได้แก่ ไข้สูง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ปวดศีรษะรุนแรง ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีจุดเลือดออกจำนวนมาก ผื่นขึ้นทั้งตัว อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง ชัก และหมดสติ ถ้ามีอาการขณะเฝ้าระวังอาการหลังฉีด 30 นาที ขอให้รีบแจ้งแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ที่สังเกตอาการทันที แต่หากกลับบ้านแล้วเกิดอาการดังกล่าว ขอให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว หรือโทรสายด่วน 1669 เพื่อแจ้งรถพยาบาลมารับหรือถ้าหมดสติให้ญาติรีบพาไปโรงพยาบาลทันที

161501159399

 

  • ทั่วโลกฉีดวัคซีนโควิด 291 ล้านโดส

นับตั้งแต่วัคซีนได้รับการอนุมัติจาก FDA จนถึงปัจจุบัน 6 มีนาคม 2564 ทั่วโลกฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วกว่า 291,579,627 โดส จำนวนวัคซีนที่ฉีดแล้วเฉลี่ยต่อวัน 7,229,004 โดส โดย 5 อันดับ ประเทศที่ฉีดวัคซีนไปมากที่สุด ได้แก่ 

1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 85,008,094 โดส

2. จีน จำนวน 52,500,000 โดส

3. สหภาพยุโรป จำนวน 38,571,244 โดส

4. สหราชอาณาจักร จำนวน 22,392,883 โดส

5. อินเดีย จำนวน 19,040,175 โดส