ธีมลงทุนหลังวิกฤติโควิด-19 กำลังจะคลี่คลาย

ธีมลงทุนหลังวิกฤติโควิด-19 กำลังจะคลี่คลาย

กลยุทธ์การลงทุนด้วยธีมการลงทุนนี้ ก็คงต้องหาหุ้นที่ได้รับประโยชน์เมื่อแนวโน้มดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น อาทิ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มประกันภัย

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเกิดธีมการลงทุน 'Stay-at-Home' ที่คาดหวังว่าจะรับอานิสงส์จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนแปลงไปเพื่อรับกับมาตรการ 'Social Distancing' ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ดีสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังจะพลิกกลับ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกเริ่มลดลงเป็นลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการเริ่มต้นฉีดวัคซีนโควิด-19 มากขึ้นเรื่อยๆทั่วโลก ทำให้เริ่มมีแรงขายทำกำไรหุ้นกลุ่ม 'Stay-at-Home' เพื่อหาธีมการลงทุนใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ i) การเริ่มผ่อนคลายการเดินทางในแต่ละประเทศ ii) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลก iii) อัตราดอกเบี้ยที่พร้อมขยับขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

i) ธีมการลงทุน 'Re-opening' หรือ 'Go-Outside' : หุ้นในกลุ่มธีมการลงทุนนี้ ขอให้ผู้อ่านลองนึกในมุมกลับว่าหากยกเลิกมาตรการ “Social Distancing” และมาตรการกักตัวผู้เดินทางข้ามประเทศ หรือ 'State Quarantine' หุ้นในกลุ่มที่เคยได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการต่างๆเหล่านี้ อาทิ สายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร และหุ้นที่ประกอบธุรกิจการบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวสันทนาการต่างๆ ก็จะพลิกกลับมาสามารถดำเนินธุนกิจได้ตามปกติ นอกจากนี้ด้วยผลกระทบของโควิด-19 ได้ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมฯต่างๆเหล่านั้นลดจำนวนลงมาก เนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาระขาดทุนได้เป็นเวลายาวนาน จึงเหลือเพียงผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีฐานเงินทุนแข็งแกร่ง หรือมีแหล่งเงินทุน เช่น ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ยังคงอยู่รอดและพร้อมที่จะกลับมาดำเนินธุรกิจ ในสถานการณ์ที่ภาวะการแข่งขันลดลงเป็นอย่างมาก ซึ่งจะเป็นบวกต่อการดำเนินธุรกิจ (ของผู้ประกอบการที่มีความพร้อม) หากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ก่อนวิกฤตโควิด-19

ii) 'Inflation hedging' : ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลและธนาคารกลางแต่ละประเทศทั่วโลกออกมาตรการเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเน้นไปที่มาตรการที่ช่วยให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในช่วงวิกฤตฯ ผมเชื่อว่าภายหลังวิกฤตโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลแต่ละประเทศทั่วโลกจะเริ่มอัดฉีดมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว และกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง ซึ่งผลกระทบที่ตามมาของการอัดฉีดมาตรการดังกล่าวพร้อมๆกันในแต่ละประเทศทั่วโลก จะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ตามมานั่นเอง จึงเป็นที่มาของธีมการลงทุนที่ 2 ที่ผมอยากหยิบยกมานำเสนอ คือ การลงทุนในหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากภาวะเงินเฟ้อ หุ้นในกลุ่มนี้ ยกตัวอย่างเช่น หุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (น้ำมัน โลหะ เป็นต้น) หุ้นกลุ่มสินค้าเกษตร และหุ้นกลุ่มค้าปลีก เป็นต้น

iii) อัตราดอกเบี้ย : ผมเชื่อว่านักลงทุนที่สนใจติดตามสถานการณ์การลงทุนจะได้ยินการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่านพูดถึงเรื่องของอัตราผลตอบแทนจากพันธบัตร หรือ 'Bond yield' กันมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ 'ตลาดหุ้นลง เพราะ Bond yield ขึ้น' หรือ 'ตลาดหุ้นเริ่มรีบาวด์ฟื้นตัว เพราะสถานการณ์ Bond yield เริ่มผ่อนคลาย' เป็นต้น สำหรับประเด็นนี้ ผมประเมินว่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดที่ผมอยากจะเน้นย้ำ ซึ่งผมเคยเขียนประเด็นเรื่องของอัตราดอกเบี้ยกับการลงทุนในตลาดหุ้นในบทความเก่าๆ หลายฉบับแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ผมจะเน้นย้ำว่า 'ดอกเบี้ยต่ำเป็นบวกกับการลงทุนในตลาดหุ้น' แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจกำลังจะมีแนวโน้มฟื้นตัวหลังวิกฤตโควิด-19 ทำให้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเริ่มที่จะขยับขึ้น สถานการณ์การลงทุนจึงกลับด้านกันกับช่วงก่อนหน้านี้ เมื่ออัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับขึ้น จะกลับเป็นผลลบต่อการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งถือเป็น 'ตลกร้าย' ของนักลงทุนในตลาดการเงินที่เสพติดอัตราดอกเบี้ยต่ำไปเสียแล้ว และกลัวการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคต (ที่จะไปทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้น)

... ก่อนที่จะกล่าวถึงกลยุทธ์การลงทุน ผมขอสรุปสั้นๆว่า อัตราดอกเบี้ยมีผลต่อการลงทุนอย่างไร 1) มีผลต่อต้นทุนทางการเงิน ii) มีผลต่อการปรับพอร์ตลงทุน หรือ 'Asset Allocation' และ iii) มีผลต่อ Valuation หุ้นในทุกทฤษฎี แม้จะเป็น วิธีการทำ Valuation ที่เหมือนจะง่ายๆ ไม่ซับซ้อนแต่อย่างใด เช่น วิธี PE ratio หรือ PBV ratio ซึ่งมีผลของอัตราดอกเบี้ยซ่อนอยู่ในทุกกรณี และเป็นการส่งผลในทิศทางที่ผกผันกัน ระหว่างอัตราดอกเบี้ยกับ Valuation ...

อยากให้ผู้อ่านลองนึกภาพตามนะครับ อัตราดอกเบี้ยที่นักลงทุนในตลาดการเงินใช้เป็นตัวแทนคือ Bond yield (ไม่ว่าจะอายุสั้น หรือ ยาว ก็ตาม) ซึ่งมีตลาดรอง ที่ทำการซื้อขายทุกวัน เหมือนตลาดหุ้น ที่ราคาหุ้นผันผวนตลอดเวลา Bond yield ก็เช่นกัน มีการปรับขึ้น-ลง เปลี่ยนแปลงตลอดทุกวัน

แต่ในทางกลับกัน กำไรของบริษัทจดทะเบียน กว่าจะมีการรายงานผลการดำเนินงานต้องรอเวลาเป็นรายไตรมาสหรือรายปี ซึ่งในบางกรณี กำไรของบริษัทจดทะเบียนก็ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกับภาวะเศรษฐกิจเสมอไป ดังนั้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยที่มีการปรับตัวแล้ว แต่กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ยังปรับตามไม่ทัน จึงส่งผลเชิงลบต่อราคาหุ้นในตลาดก่อน หากเราจะกำหน

กลยุทธ์การลงทุนด้วยธีมการลงทุนนี้ ก็คงต้องหาหุ้นที่ได้รับประโยชน์เมื่อแนวโน้มดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น อาทิ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มประกันภัย เป็นต้น และหุ้นควรหลีกเลี่ยงหุ้นที่ Valuation สูงๆ หรือ Forward PE ratio สูงๆ ซึ่งมีความเสี่ยงที่ราคาหุ้นจะผันผวนมากนั่นเอง ...

ไว้โอกาสหน้าผมจะมาวิเคราะห์เชิงลึกกับกลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้น ช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น เพิ่มเติมนะครับ