'ไทยแอร์เอเชีย' วอนรัฐเปิดน่านฟ้าอุ้มท่องเที่ยว หวั่นไทยเสียตำแหน่ง 'ฮับบิน' ให้เวียดนาม!

'ไทยแอร์เอเชีย' วอนรัฐเปิดน่านฟ้าอุ้มท่องเที่ยว หวั่นไทยเสียตำแหน่ง 'ฮับบิน' ให้เวียดนาม!

“ไทยแอร์เอเชีย” หวั่นไทยเสียตำแหน่ง “ฮับบิน” ระดับภูมิภาคให้เวียดนาม หากภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวได้ไม่แข็งแกร่งพอจะฝ่าโลกการแข่งขันหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย วอนรัฐเร่งเปิดประเทศ ออกมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินอุ้มเอกชน

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ประเทศไทยอาจสูญเสียสถานะความเป็นศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาคไป และทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจได้ หากภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวได้ไม่แข็งแกร่งพอที่จะแข่งขันหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย จึงอยากให้รัฐบาลเร่งผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ เพื่อให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งสายการบิน โรงแรม และอื่นๆ สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้อย่างแข็งแรง รองรับการเปิดประเทศ แต่ถ้ายังทำไม่ได้ ก็อยากให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงินแก่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวให้สามารถประคองตัวอยู่รอดไปได้ อย่างธุรกิจสายการบินเอง ทั้ง 7 สายการบินก็ใช้เวลาเกือบ 1 ปีในการยื่นเรื่องขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลนจากกระทรวงการคลัง

“ไทยเราจะสูญเสียสถานะความเป็นศูนย์กลางทางการบินไปไม่ได้ เพราะจะทำให้เสียโอกาสทางเศรษฐกิจตามมา หากเสียความเป็นฮับบินให้แก่โฮจิมินห์ซิตี้หรือฮานอย ประเทศเวียดนามแทน นั่นหมายความว่าสายการบินรายใหญ่ที่ขนนักท่องเที่ยวต่างชาติจากทั่วโลกจะเปลี่ยนฮับบิน ขนนักท่องเที่ยวไปที่อื่น แทนที่จะมาประเทศไทยในจำนวนมากเหมือนเดิม”

ด้านเป้าหมายธุรกิจของไทยแอร์เอเชียปี 2564 ตั้งเป้ามีจำนวนผู้โดยสารรวมที่ 9.4 ล้านคน เท่ากับปีที่แล้ว แต่รายได้จะมากกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย เพราะสามารถคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น ตั้งเป้าจะลดต้นทุนให้ได้ 18-20% จากการปรับลดฝูงบินที่มีอยู่ 62 ลำ ให้เหลือ 54 ลำ ณ สิ้นปีนี้ เพื่อให้สอดรับกับดีมานด์การเดินทางจริง เพราะเครื่องบินเป็นต้นทุนหลัก มีค่าใช้จ่ายสูง โดย 8 ลำที่จะปรับออกจากฝูงบิน แบ่งเป็นการคืนเครื่องตามระยะสัญญา 6 ลำ และนำไปหมุนเวียนให้สายการบินในเครือแอร์เอเชียที่ประเทศอื่นใช้งาน 2 ลำ นอกจากนี้ยังคงบริหารกำลังพลพนักงานที่มีกว่า 5,000 คนตามการใช้งานเครื่องบินอย่างต่อเนื่อง

“ไทยแอร์เอเชียยังคงมั่นใจว่าภาคการท่องเที่ยวและเดินทางจะกลับมา จึงยังรักษาการจ้างงานเอาไว้ ด้วยการใช้วิธีแบบ Furlough หรือให้มีพนักงานแอคทีฟตามจำนวนเครื่องบินที่ใช้งาน ส่วนพนักงานที่ไม่ได้แอคทีฟ ก็ได้รับความร่วมมือในการหยุดงาน แต่ยังได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 25% ของเงินเดือน”

ส่วนในช่วง 2 ปีนี้ ตั้งแต่ปี 2564-2565 ธุรกิจของไทยแอร์เอเชียยังต้องพึ่งพารายได้จากตลาดเที่ยวบินในประเทศเป็นหลัก จึงได้ออกโปรโมชั่น “ตั๋วบินรัวๆ ทั่วไทย” เพื่อกระตุ้นดีมานด์ให้ฟื้นตัวภายในเดือน มี.ค.นี้ หวังส่งโมเมนตัมไปยังเทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นพีคซีซันของตลาดไทยเที่ยวไทย หลังสถานการณ์โควิด-19 ระลอกสองคลี่คลาย