นวัตกรรมเพื่อลมหายใจ ลดมลพิษอากาศจริงหรือ?

นวัตกรรมเพื่อลมหายใจ ลดมลพิษอากาศจริงหรือ?

"อากาศดีล้วนเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต้องการ" เพราะนั้นจะหมายถึงคุณภาพชีวิตของผู้คนที่ดี ทว่าในปัจจุบันประชาชนทั่วโลก 90% ล้วนอยู่ในคุณภาพอากาศแย่

"นวัตกรรมเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม และคุณภาพอากาศ” เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ “คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหามลพิษทางการอากาศ คุณภาพอากาศ เพื่อทำให้อากาศกลับมาบริสุทธิ์อีกครั้ง โดยได้นำองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมเพื่อความยั่งยืน

นวัตกรรมจัดการคุณภาพอากาศคืออะไร ?

ภายในงานประกาศเจตนารมณ์การจัดการพลังงาน คุณภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อม “Breathe our Future รวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต” โดยมี 5 หน่วยงาน ประกอบด้วยกระทรวงพลังงาน ร่วมกับ กรมควบคุมมลพิษ GISTDA จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กฟผ. รวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต จัดขึ้นเมื่อวันนี้ (4 มี.ค.2564)

ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าการที่จุฬาฯ ได้เริ่มดำเนินการนวัตกรรมเพื่อลมหายใจแห่งอนาคตนั้น จุดเริ่มต้นเกิดจากไฟของกลุ่มนิสิตที่เขาต้องการพัฒนาองค์ความรู้ของตนเองให้ยั่งยืน อยากเห็นสังคม ชุมชนมีคุณภาพชีวิต โดยการสร้างเทคโนโลยี นวัตกรรม  เข้ามาช่วยแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบประบา การบำบัดน้ำเสีย

1614851865100

ส่วนเรื่อง "มลพิษอากาศ" นิสิตได้คิดระบบเซนเซอร์เรื่องของฝุ่น ร่วมกับอาจารย์ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ดังนั้น นวัตกรรมเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีล้ำลึก แต่เป็นเทคโนโลยีที่มีต้นกำเนิดมาจากการค้นคนของกลุ่มนิสิต ต่อยอดโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จนทำให้ขณะนี้เกิดระบบ Sensor for All สำหรับติดตามข้อมูลด้านคุณภาพอากาศ และปริมาณฝุ่น PM2.5 มาอย่างต่อเนื่องกว่าหลายปี

“วัตถุประสงค์ของนวัตกรรมเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต  เพื่อต้องการเห็นคุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ มาจากพฤติกรรมของมนุษย์ และไฟป่า การนำระบบ Sensor for All ไปติดตั้งในชุมชน สถานที่ จังหวัดต่างๆ  จะทำให้พื้นที่เหล่านี้มีการติดตามคุณภาพอากาศ และคนในชุมชนต้องเข้าไปช่วยดูแล ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในชุมชน ทำให้เกิดความยั่งยืนจากการรวมตัวของทุกภาคส่วน เพราะ Sensor for All เป็น การหลอมรวมทุกภาคส่วน ไม่ใช่เฉพาะโรงเรียนสีเขียว พื้นที่สีเขียว แต่นักเรียน ครู ผู้ปกครองชุมชน ต้องมาทำงานร่วมกัน ให้เกิดความยั่งยืนในตนเองและองค์กรของตน นวัตกรรมการจัดการคุณภาพอากาศ ในตอนนี้ คือ ระบบ Sensor for All  ที่เป็นผลงานของคนไทย”ศ.ดร.สุพจน์ กล่าว

  • ทำไม?ต้องเป็น “Sensor for All” วัดอากาศ

ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์นวัตกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าโครงการ Sensor for All กล่าวว่าขณะนี้ประชาชนทั่วโลก กว่า 90 % กำลังประสบปัญหาคุณภาพอากาศแย่ หรือมลพิษทางอากาศ ฉะนั้น ปัญหาอากาศจึงไม่ใช่เป็นเพียงเฉพาะปัญหาฝุ่น PM2.5 และสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดฝุ่น มลพิษทางอากาศ คือ พฤติกรรมและกิจวัตรประจำวันของคน  การจะแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น ต้องอาศัยข้อมูล (Database) มากทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ รวมถึงมีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึกและสื่อสารข้อมูลออกไป เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมของทุกคน และการสร้างความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ในการช่วยกันดูแลตักเตือน

161485199991

นวัตกรรมเพื่อคุณภาพอากาศ  Sensor for All จะตอบโจทย์ใน 2 ประเด็น คือ ทำให้รู้สถานการณ์คุณภาพอากาศในปัจจุบันอันเกิดจากพฤติกรรมของคน  และนวัตกรรมในการลดแหล่งกำเนิดและแก้ไขปัญหา เพราะการรู้สถานการณ์ พฤติกรรมคนจะทำให้แก้ปัญหาได้ อีกทั้งการมีข้อมูลจากทุกภาคส่วน จะทำให้ Sensor for All เป็นระบบวัดคุณภาพอากาศที่เป็นผลงานของคนไทย และมีข้อมูลจากประเทศไทย ทำให้การรายงานสถานการณ์ทั้งแบบเรียลไทม์ หรือคาดการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำมากขึ้น” ศ.ดร.พิสุทธิ์ กล่าว

  • หน้าที่ของ Sensor for All คืออะไร?

ทุกวันนี้สภาพอากาศวิศวกรรม จุฬาฯ ได้ร่วมศึกษา ออกแบบ และพัฒนาแบบจำลองการวิเคราะห์และการคาดการณ์ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM-2.5) รวมถึงประยุกต์ใช้ข้อมูลและการคาดการณ์ฝุ่น PM-2.5 ร่วมกับข้อมูลดาวเทียม เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ และเทคโนโลยี Machine Learning ตลอดจนเชื่อมโยงข้อมูลปริมาณฝุ่นละอองและคุณภาพอากาศเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลเปิด (open data) การแสดงผลผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน เพื่อรายงานผลคุณภาพอากาศและการแจ้งเตือนอัตโนมัติกรณีเข้าพื้นที่ที่คุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐาน

ศ.ดร.พิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า Sensor for All มีหน้าที่สำคัญอยู่ 3 ด้าน คือ 1.ทำให้คนมาใช้บริการรู้ข้อมูลเป็นเรียลไทม์  เพราะปัจจุบันข้อมูลที่ทุกคนใช้เป็นแอปพลิเคชั่นจากต่างประเทศ ดังนั้น การคำนวณมาตรฐานต่างๆ เป็นไปตามมิติต่างปะรเทศ ไม่ใช่มิติไทย แต่ Sensor for All เป็นการรวบรวมข้อมูลจากหลากหลายหน่วยงานในไทย ทำให้ข้อมูลมีความชัดเจน และรายงานสถานการณ์ได้ดี 2.คาดการณ์อนาคตอย่างแม่นย้ำ   และ3.มีแอปพลิเคชั่น Sensor For All   ที่เป็นฝีมือของคนไทย ไม่ได้เพียงทำให้รับรู้ แต่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการแจ้งเตือนต่างๆ หากมีการใช้แอปพลิเคชั่น Sensor For All   30-40 ล้านคนใช้ ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพอากาศได้

โครงการ Sensor for All ปีแรก เริ่มจากการพัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่น PM2.5 และทดลองติดตั้งในพื้นที่รอบจุฬาฯ โครงการปีที่ 2 มุ่งพัฒนาระบบการส่งและแสดงผลข้อมูล รวมทั้งขยายการตรวจวัดปริมาณฝุ่นให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่าย คือการเคหะแห่งชาติ และ True Corporation

นอกจากเซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่นแล้ว ยังมีการเผยแพร่องค์ความรู้ โดยจัดทำเป็น Pocketbook “ยุทธการดับฝุ่น” เพื่อปลูกฝังความรู้เรื่องฝุ่นให้กับเยาวชน สำหรับโครงการปีที่ 3 ซึ่งเปิดตัวโครงการเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายวางแผนติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่น PM2.5 ทั้งหมด 1,000 จุดทั่วประเทศ

161485199886

  • Sensor for All  ใช้งานอย่างไร?

สำหรับการใช้งานของ Sensor For All สามารถติดตั้งเครื่องได้ทุกบริเวณ ยกเว้นในที่โล่งแจ้ง  เพราะหากโดนฝนอาจทำให้ข้อมูลสับสน  โดยหน้าจอแสดงผล 3 ข้อมูลหลัก ได้แก่ Real-time PM 2.5, AQI Calculated by US Standard และ  Real-time PM10  เพื่อให้ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ได้ทราบค่าของฝุ่น เครื่องนี้ใช้กำลังไฟเพียง 1 แอมป์  แต่มีข้อจำกัด ระยะเวลาการใช้งาน  3-5 ปี

ปัจจุบันโครงการ Sensor for All  ได้เผยแพร่ข้อมูลคุณภาพอากาศทาง http://sensorforall.eng.chula.ac.th/ มีการรายงานสถานการณ์พร้อมให้ความรู้เรื่องฝุ่น PM2.5 เป็นประจำทุกวันทาง Facebook : Sensor for All นอกจากนี้จะมีการต่อยอดโดยพัฒนาแอปพลิเคชัน Sensor For All บนสมาร์ทโฟน ซึ่งจะเปิดตัวกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ ข้อมูลที่น่าสนใจในแอปพลิเคชันนี้ประกอบด้วยข้อมูลคุณภาพอากาศเกี่ยวกับค่าฝุ่น PM2.5 จากเซ็นเซอร์ของคนไทย การคาดการณ์เรื่องคุณภาพอากาศที่มีความแม่นยำ การแบ่งปันความรู้ เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน และมีการโต้ตอบกันระหว่างผู้ใช้งานกับทีมงานผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน

161485199976

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาคุณภาพอากาศต้องเริ่มจากทุกคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ปล่อยมลพิษทางอากาศ และหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนในการทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน