เตือน 'คนหางานต่างประเทศ' ระวังภัยจากสาย-นายหน้าเถื่อน

เตือน 'คนหางานต่างประเทศ' ระวังภัยจากสาย-นายหน้าเถื่อน

กรมการจัดหางาน เผย ยอด 4 เดือน "คนหางานต่างประเทศ" ร้องทุกข์และขอความช่วยเหลือ 129 ราย เหตุเพราะหลงเชื่อนายหน้าเถื่อนถึง 124 ราย

เมื่อวันที่ 3 มี.ค.64 นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในการตรวจสอบผู้ที่อ้างว่าสามารถจัดส่งคนไปทำงานต่างประเทศ โดยการโฆษณาชักชวนผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ และมีพฤติกรรมหลอกลวงคนหางาน ซึ่งพบผู้มีพฤติการณ์ดังกล่าว มักชักชวนเหยื่อผ่านทางเฟซบุ๊คหรือไลน์ อ้างรายได้ดี มีที่พัก เป็นกิจการที่มีความน่าเชื่อถือ โดยเรียกเก็บเฉพาะค่าธรรมเนียมการขอวีซ่า และสามารถพาไปทำงานต่างประเทศได้ทันทีไม่ต้องติดต่อกรมการจัดหางาน

พร้อมอ้างว่ารู้วิธีหลบเลี่ยงการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่เป็นความจริง ข้อมูลจากกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน ชี้ว่าตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – มกราคม 2564 มีคนหางานร้องทุกข์กับกรมการจัดหางานทั้งสิ้น 129 ราย  ในจำนวนนี้เป็นกรณีถูกสาย/นายหน้าเถื่อนหลอกลวงถึง 124 ราย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ให้ความช่วยเหลือในการรับเรื่องร้องทุกข์ และแจ้งความดำเนินคดีแล้วทั้งสิ้น

ประเทศที่คนหางานถูกหลอกลวงไปทำงานมากที่สุด 5 อันดับแรก

  • เกาหลีใต้
  • สหรัฐอาหรับเอมิเรทส์
  • ญี่ปุ่น
  • โรมาเนีย
  • บาร์เรน

ตำแหน่งงานที่สาย/นายหน้าเถื่อนมักใช้ประกาศรับสมัคร

  • งานโรงงาน
  • งานสวน/งานเก็บผลไม้
  • งานนวด
  • งานร้านอาหาร
  • ช่างเชื่อม

“กรมการจัดหางานได้สั่งการให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดและสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 ดำเนินการตรวจสอบ เฝ้าระวัง ผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงคนหางานในพื้นที่รับผิดชอบ และให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัดหากพบผู้กระทำความผิด ขอย้ำว่าการโฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน จะมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  และผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ โดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ขอให้คนหางานที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่าหลงเชื่อข้อความโฆษณาทางโซเชียลมีเดีย และขอให้ตรวจสอบข้อมูลตำแหน่งงาน ลักษณะงาน ตลอดจนประเทศที่จะไปจากเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางาน ก่อนตัดสินใจจ่ายเงินหรือโอนเงินให้กับผู้ใด หรือหากต้องการตรวจสอบว่าบริษัทจัดหางานที่ประกาศรับสมัครไปทำงานต่างประเทศนั้นได้รับอนุญาตจริงหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ของกองทะเบียนจัดหางานกลาง และคุ้มครองคนหางาน  www.doe.go.th/ipd  ซึ่งขณะนี้มีบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตทั้งสิ้น 127 บริษัท  โดยในเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา ด่านตรวจคนหางานได้ระงับการเดินทางของผู้ที่มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานในต่างประเทศแล้ว จำนวน 49 คน  และมีคนงานไทยเดินทางไปทำงานและฝึกงานในต่างประเทศ ที่เดินทางผ่านด่านตรวจคนหางาน จำนวน 2,096 คน”  อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

สำหรับผู้สนใจจะไปทำงานในต่างประเทศ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือ สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694