ผู้ส่งออกหนุนรัฐ 'ต่ออายุ' แรงงานต่างด้าว

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย คงคาดการณ์การส่งออกไทยปี 2564 โต 3-4% พร้อมเสนอรัฐเร่งแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าว เพื่อรองรับการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม

ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ระบุ สรท. ยังคงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโตระหว่าง 3-4% โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญได้แก่ เศรษฐกิจและการค้าโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวในปีนี้ จากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเป็น 5.5% จาก 5.2% การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทั้งจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศในยุโรป รวมถึงความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนในหลายประเทศ จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจการค้า และธุรกิจของประเทศคู่ค้าได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2564 ได้แก่ ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน อัตราค่าระวางเรือปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนของผู้ประกอบการส่งออกที่สูงขึ้น ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ตามทิศทางของสกุลเงินภูมิภาค แนวโน้มการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวของภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากการอพยพกลับประเทศของแรงงานต่างด้าวจำนวนมากในช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นมา โดยเฉพาะแรงงานเมียนมาร์ ส่งผลโดยตรงกับภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมากในภาคการผลิต ได้รับผลกระทบจากแนวโน้มขาดแคลนแรงงาน ซึ่งกระทบต่อมูลค่าการส่งออกได้ในอนาคต

ทั้งนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐที่สำคัญ คือขอให้ผ่อนปรนมาตรการต่ออายุการแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทย ให้สามารถทำงานต่อเนื่องในปี 2564 เพื่อให้มีแรงงานเพียงพอต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง เร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน ขอให้ภาครัฐเช่าเรือและสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เปล่าที่ตกค้างในต่างประเทศกลับมาให้ผู้ส่งออกไทย และภาครัฐต้องให้การสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมบริการซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ภายในประเทศ จะช่วยเพิ่มปริมาณตู้หมุนเวียนเข้ามาในประเทศไทยให้เพิ่มขึ้น

ส่วนทิศทางค่าเงินบาทแข็งมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มส่งสัญญาณอ่อนค่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องเร่งรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทและใช้มาตรการทางการเงินเพื่อลดความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมการส่งออกซึ่งเป็นเครื่องจักรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย รวมถึงเร่งประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้ผู้ส่งออกทั่วไปใช้เครื่องมือทางการเงินในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน