'กัมพูชา-เวียดนาม'ตัวเลือกลงทุนแทนเมียนมา

'กัมพูชา-เวียดนาม'ตัวเลือกลงทุนแทนเมียนมา

'กัมพูชา-เวียดนาม'ตัวเลือกลงทุนแทนเมียนมา โดยเม็ดเงินลงทุนโดยตรงที่ไหลเข้าไปในเมียนมา จะไม่เข้าไปที่นั่นอีก แต่ประเทศอื่นๆที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันจะได้ประโยชน์แทน

ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองที่ยืดเยื้อในเมียนมาขณะนี้ ทำให้บริษัทต่างชาติเริ่มคิดที่จะถอนการลงทุนออกจากประเทศนี้ ขณะที่มีบริษัทบางแห่งประกาศยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทท้องถิ่นที่มีสายสัมพันธ์กับกองทัพให้เห็นบ้างแล้ว และหันไปมองประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากกว่าอย่างกัมพูชาและเวียดนาม

เดลต้า แคปปิตัล แอนธีม เอเชีย และกองทุนอื่นๆที่เน้นลงทุนในเมียนมาประเทศเดียวมาตลอดกำลังรอดูสถานการณ์ว่าจะจบลงอย่างไร ขณะเดียวกันก็เริ่มเล็งหาจุดหมายปลายทางด้านการลงทุนอื่นๆแทนเมียนมา โดยเฉพาะกัมพูชาและเวียดนาม

“ทันทีที่เปิดพรมแดนหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19จบลง และบรรดานักลงทุนจะพากันหวนกลับเข้าไปลงทุนในเวียดนามและผมเชื่อว่าคุณจะได้เห็นการทำข้อตกลงธุรกิจในเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนทำให้เวียดนามเป็นประเทศตลาดเกิดใหม่ชั้นนำที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ” ฟิลด์ พิคเกอริง หัวหน้าหน่วยงานด้านการลงทุนจากวัลเพส อินเวสต์เมนท์ แมเนจเมนท์ ซึ่งเปิดตัวยานพาหนะซีด เมียนมาเมื่อปี2559 กล่าว

ในระยะ5ปีที่ผ่านมา ประเทศในอนุภูมิภาคทั้งกัมพูชา ลาว เวียดนาม และเมียนมา มีการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ต่อปีประมาณ 6% สูงกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข้อมูลจากสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน)ระบุว่า การลงทุนโดยตรงของต่างชาติ(เอฟดีไอ)ที่ไหลเข้าไปในกลุ่มประเทศ CLMV ขยายตัว 6.3% ในปี 2562 โดยเวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ1 ในแง่ของมูลค่าการลงทุนที่ 16,100 ล้านดอลลาร์ และเมียนมา เคยเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวของเอฟดีไอสูงสุดที่ 55.9% แต่เมื่อกองทัพเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1ก.พ.ที่ผ่านมา กระแสเอฟดีไอในเมียนมาก็ไม่เพิ่มขึ้นเลย

“เงินลงทุนที่ไหลเข้าไปในเมียนมา จะไม่เข้าไปที่นั่นอีก แต่ประเทศอื่นๆที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันจะได้ประโยชน์แทน” เดฟ ริชาร์ดส หุ้นส่วนด้านการบริหารจัดการของคาเพรีย เวนเจอร์ส กล่าว

ขณะที่ดีลสตรีทเอเชีย รายงานว่าบริษัทอเมริกันลงทุนประมาณ 8 ล้านดอลลาร์ในประเทศต่างๆที่เลือกแล้ว แต่เน้นลงทุนในเมียนมาและเนปาล

“ความพยายามของคาเพรียจะเน้นสนับสนุนบรรดาผู้จัดการกองทุนท้องถิ่นในเมียนมาให้สร้างความแข็งแกร่งแก่ธุรกิจ กระตุ้นการเติบโต และลงทุนในระดับโลก นอกจากนี้ ยังให้การสนับสนุนหุ้นส่วนจากเมียนมาสองหรือสามรายให้เข้าร่วมกับผู้จัดการ22รายที่เป็นเครือข่ายทั่วโลกของบริษัท” ดีลสตรีทเอเชียรายงาน

อย่างไรก็ตาม คาเพรียจำเป็นต้องชลอแผนการต่างๆเอาไว้ก่อน และเตรียมเข้าลงทุนครั้งแรกในเวียดนามในปีนี้ รวมทั้งมองหาโอกาสลงทุนในกัมพูชา บังกลาเทศและเนปาล

เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา เบียร์คิรินของญี่ปุ่น ประกาศถอนตัวร่วมลงทุนทหารเมียนมา เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกโยงกับกลุ่มเกี่ยวข้องรัฐประหาร ล้มรัฐบาลประชาธิปไตย โดยคิริน โฮลดิ้งส์ ผู้ผลิตเบียร์ชื่อดังของญี่ปุ่น ประกาศถอนตัวจากการร่วมทุนธุรกิจผลิตเบียร์ในประเทศเมียนมา ซึ่งคิรินอาจถูกมองว่า เอื้อประโยชน์ให้กับทหารเมียนมา และกลุ่มบริษัทมีเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหาร

คิริน ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทร่วมทุนชื่อ เมียนมา บริวเวอรี่ และมัณฑะเลย์ บริวเวอรี่ ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมเอ็มอีเอชแอลดำเนินธุรกิจด้วยทุนทหาร ซึ่งคิรินถือหุ้นราว 55% เป็นเงิน 560 ล้านดอลลาร์ในปี 2558 จากนั้นโอนถ่ายหุ้นเอ็มอีเอชแอลในปี 2560 ในอัตรา 4%

การร่วมทุนระหว่างคิริน และเอ็มอีเอชแอลในปัจจุบันจึงกลายเป็นคิรินถือหุ้นอยู่ในเมียนมา บริวเวอรี่ และมัณฑะเลย์ บริวเวอรี่ อย่างละ 51% ส่วนเอ็มอีเอชแอล ที่ดำเนินธุรกิจโดยทหารเมียนมาถือหุ้นอยู่ที่ 49%

“การรัฐประหารที่เกิดขึ้นในเมียนมา บ่งชี้ว่ากองทัพเมียนมาพร้อมจะยกเลิกความสัมพันธ์ทางการทูต การค้าและการลงทุนในช่วง10ปีที่ผ่านมา” โรเมน เคลล็อด ผู้บริหารเอสไอพีเอ พาร์ทเนอร์ส บริษัทที่ปรึกษาซึ่งมีฐานดำเนินงานในกรุงโตเกียว กล่าว

พิคเกอร์ริง กล่าวว่า ความไม่สงบเรียบร้อยที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ทำให้บรรดาผู้ประกอบการเมียนมาอาจเลือกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น และเข้าไปสร้างธุรกิจให้เติบโตในดินแดนอื่นภายในภูมิภาคอาเซียน เท่ากับว่าเป็นความสูญเสียของเมียนมาแต่เป็นการได้ประโยชน์ของประเทศอื่นๆในภูมิภาคแทน

“สำหรับนักลงทุนที่ตั้งเป้าลงทุนในอาเซียนและมองหาผลตอบแทนทางการเงินเพียงอย่างเดียว เวียดนามยังคงเป็นทางเลือกที่แข็งแกร่งสำหรับการเข้าลงทุนของต่างชาติและเวียดนามยังคงเป็นประเทศน่าดึงดูดใจเหมือนเมื่อ10ปีก่อน” พิคเกอร์ริง กล่าว