เอกชนรับนำเข้าวัคซีนเสรียาก ‘หมอบุญ’ชี้รัฐไม่ชัดหวั่นราคาพุ่ง

เอกชนรับนำเข้าวัคซีนเสรียาก  ‘หมอบุญ’ชี้รัฐไม่ชัดหวั่นราคาพุ่ง

รพ.เอกชน รอสัญญาณรัฐบาล ไฟเขียวนำเข้าวัคซีน เพิ่มทางเลือกประชาชน ยอมรับไม่ใช่เรื่องง่าย เหตุนำเข้าได้แค่ 2 ราย “ซิโนแวค-แอสตร้าฯ”แต่ต้องรอออเดอร์ภาครัฐครบก่อน“หมอเฉลิม” เสียดายไทยเข้าถึงวัคซีนรายอื่นยาก หมอบุญ ติงนโยบายรัฐไม่ชัด หวั่นล่าช้าทำราคาพุ่ง

นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนอาเซียน และกรรมการผู้จัดการ รพ.เมดพาร์ค กล่าวว่า การเริ่มมีวัคซีนโควิด-19 จะส่งผลดีในภาพรวม ช่วยให้ประชากรมีภูมิคุ้มกันส่วนหนึ่ง และผู้เจ็บป่วยหนักลดลง แต่การที่ทุกประเทศไม่สามารถผลิตและวิจัยได้ ดังนั้นใครหาได้ก็เป็นประโยชน์กับประเทศนั้นๆ ซึ่งในกลุ่มเพื่อนบ้านของไทย สิงคโปร์ ฉีดมากที่สุดเพราะยอมจ่ายแพง เนื่องจากเห็นว่าเป็นการลงทุนคุ้มค่าเพราะช่วยให้เริ่มต้นธุรกิจได้เร็วขึ้น

ขณะที่ไทย หลักการนำเข้าจะต้องถูกพิสูจน์โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขว่าใช้ได้หรือไม่ได้ ภายใต้มาตรฐานเดียวกันทั่วโลก และต้องเลือกว่ากลุ่มฉีด ซึ่งขณะนี้กำหนดกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่อายุต่ำกว่า 60 ปี

ส่วนแนวทางการนำเข้าวัคซีนโดยโรงพยาบาลเอกชน ขณะมีผู้ผลิตหลายราย เช่น ไฟเซอร์-ไบออนเทค , โมเดิร์นนา ฯลฯ ติดต่อกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลเอกชน แต่ต้องรอสัญญานจากรัฐบาลก่อน ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อวัคซีนก็เพิ่มขึ้น จากเดิมมีคนอยากฉีด 20-30 % เพิ่มเป็น 70-80% และที่ผ่านมา การฉีดได้ผลดี เช่น สหรัฐ พบว่าหลังฉัดสถิติผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

“สำหรับ รพ.เอกชน ในอาเซียน คิดว่าทุกประเทศภาครัฐมีประสิทธิภาพสูงกว่าในเรื่องของทุน และทางกฎหมาย เช่น วัคซีนโควิด-19 จริงๆ แล้ว หลักการยังนำเข้ามาไม่ได้ ต้องใช้มาตราพิเศษของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพราะหลักการจัดซื้อ หากซื้อต้องได้ของ แต่วัคซีนโควิด-19 ต้องจ่ายเงินมัดจำไว้ก่อน”

นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวว่า วัคซีนมี 2 ส่วน คือ วัคซีนที่เอกชนจะจัดหามาบริการลูกค้า และวัคซีนที่รัฐบาลจัดให้กับบุคลากรทางด้านสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีไม่มาก  โดยไทยมีแพทย์ 4 คน/ประชากร 1 หมื่นคน ขณะที่ประเทศอื่น เช่น มาเลเซียมี 13 คน สิงคโปร์ 20 คน และ สหรัฐ 40 คน ไทยจึงต้องปกป้องกลุ่มนี้ และเป็นสาเหตุว่าทำไมไทยต้องควบคุมเข้มข้น และให้มีผู้ติดเชื้อน้อยโดยเฉลี่ยน้อยกว่าประเทศอื่น 


พาสปอร์ตวัคซีนใช้ได้แค่ในประเทศ


นพ. มนต์เดช สุขปราณี กรรมการบริหาร และ แพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ รพ.เมดพาร์ค กล่าวว่า เนื่องจากรัฐบาลตั้งเป้าให้ประชาชนได้รับวัคซีนอย่างน้อย 50% หรือ 33 ล้านคนภายในปีนี้ ดังนั้น รพ.เอกชนจะเป็นทางเลือกให้กับกลุ่มที่เหลือ ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าไม่ได้ปิดกั้น ให้เสนอขออนุญาตนำเข้า หากมีผลในทางปฏิบัติ ก็จะมีวัคซีนที่หลากหลายให้เลือก โดยเมดพาร์คจะพยายามนำเข้าในส่วนที่รัฐบาลไม่ได้นำเข้า เพราะต้องการสร้างทางเลือกให้มากที่สุด

ส่วนพาสปอร์ตวัคซีนสำหรับไทย ต้องเข้าใจว่าวัคซีนที่ใช้ในแต่ละพื้นที่ประสิทธิภาพไม่เท่ากัน การยอมรับก็ต่างกัน เช่น หากฉีดซิโนแวคแล้วออกพาสปอร์ตซิโนแวค ต้องดูว่าประเทศอื่นจะรับหรือไม่ เห็นว่าพาสปอร์ตวัคซีนขณะนี้ใช้ได้ในประเทศเท่านั้นที่จะยอมรับกันเอง

“เช่น อิสราเอล มีกรีนพาสปอร์ต เข้ายิมได้ เพราะฉีดไฟเซอร์-ไบออนเทค แล้ว 2 เข็ม แต่จะข้ามประเทศอาจใช้เวลาสักพักหนึ่ง แต่หากเป็นประเทศเพื่อนบ้านก็อาจจะต้องมีการตกลงกัน เป็นบับเบิ้ล ว่าเขารับเราหรือไม่”

ทั้งนี้ หลังมีการฉีดวัคซีน หลายประเทศมีอัตราการป่วย เข้ารักษาตัว และเสียชีวิตลดลง แต่อัตราการติดเชื้อ และการแพร่เชื้อต้องจับตาดูต่อไป

นพ. บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนต้องการนำเข้าวัคซีนเพราะมียอดสั่งจากลูกค้าสั่งถึง 10 ล้านโดส แต่นโยบายรัฐยังไม่ชัดเจนแม้ประกาศให้นำเข้าเสรีไม่มีปิดกั้น แต่เมื่อยื่นขอไปกลับต้องรอการพิจารณาจากหลายฝ่าย เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน

ที่สำคัญเมื่อเทียบประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์ และโมเดอร์นาสูงกว่าอยู่ที่ 70-80% เทียบกับซิโนแวค 50% แอสตร้าเซนเนก้า 60-70% หรือแม้สปุตนิก วี ก็ยังสูงกว่าอยู่ที่ 80-90% ทำให้หากต้องจ่ายเงินซื้อวัคซีนต้องเป็นตัวที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ยังไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งหากล่าช้าอาจะทำให้ราคาที่เคยพูดคุยกับผู้นำเข้าต้องขยับขึ้นไปอีก เช่น ซิโนแวคเคยอยู่ที่ 16 ดอลลาร์ต่อโดส เป็น 37 ดอลลาร์

นพ.อังกูร ฉันทนาวานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโรงพยาบาลลาดพร้าว จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  การนำเข้าวัคซีนของภาคเอกชนน่าเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากวัคซีนที่ผ่าน อย. มีแค่ซิโนแวค และ แอสตรา เซเนก้า ซึ่งยังไม่สามารถนำเข้าได้ เพราะต้องให้ออเดอร์กับทางภาครัฐก่อน

ส่วนวัคซีนรายอื่นต้องผ่านอย. ซึ่งไม่ยากแต่อยู่ที่จะมีใครสั่งซื้อหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีคำสั่งซื้อผู้นำเข้าก็ไม่มีความจำเป็นต้องขอขึ้นทะเบียน ด้วยที่ผ่านมาเอกชน เน้นไปที่ซิโนแวค และ แอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากการจัดส่งและดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก แต่รายอื่นจำเป็นต้องมาวางแผนการจัดส่ง และมีตู้คอนเทนเนอร์ที่มีอุณหภูมิติดลบ -100 องศาเซลเซียส เพื่อมาถึงไทยจะได้รักษาอุณนหภูมิ 70-80 องศาเซลเซียส ซ

“การเปิดกว้างนำเข้าวัคซีนแค่การสร้างภาพแต่ทำจริงไม่ได้ ซึ่งทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้เคยรวมตัวเลขที่ต้องการนำเข้าส่งให้ทางการแล้ว แต่ไม่เกิดอะไรขึ้น สุดท้ายมีการผลิตในประเทศได้ผ่านทางสยามไบโอไซเอนซ์ หากเผลิตได้พียงพอตามเป้าหมายก็ไม่จำเป็นต้องนำเข้าก็ได้"

ชี้ขั้นตอนนำเข้ายุ่งยาก

นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) จำกัด กล่าวว่า ขั้นตอนการจดทะเบียนยุ่งยาก ต้องเป็นบริษัทนำเข้าของไทย เพื่อไปยื่นกับอย. พร้อมเอกสารรับรองเป็นหมื่นหน้า และรอการอมุมัติ เมื่อได้แล้วต้องทำข้อมูลย้อนกลับทำจดหมายไปถึงผู้ผลิต ซึ่งกระบวนการระมาณ 3 เดือน โดยขณะนี้มีเอกชนจังหวัดท่องเที่ยวจองแล้ว 4 ล้านโดส

ส่วนของบริษัทมีการยื่นเป็นผู้นำเข้ากับทางอย.แล้วและรอหนังสือตอบรับ หากผ่านพร้อมนำเข้าเพราะมีการเจรจาไว้หลายราย ซึ่งเมื่อเป็นการจ่ายซื้อวัคซีนต้องเลือกเอาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งตอนนี้ทั่วโลกยกให้ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา แต่น่าเสียดายที่ไทยเข้าไม่ถึง เพราะไม่ได้เข้าโครงการโคแวกซ์ รวมทั้งแค่คำสั่งซื้อจากยุโรปและสหรัฐไม่เพียงพอจัดส่งระดับพันล้านโดส

นพ.อำนาจ เอื้ออารีมิตร กรรมการบริหารและผู้อำนวยการโรงพยาบาล บริษัท เอกชัยการแพทย์ จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า ทางบริษัทไม่นำเข้าวัคซีน เพราะต้องใช้เวลานาน คาดได้รับเือน ต.ค. แต่จะร่วมมือกับภาครัฐในการฉีดให้ประชาชนในพื้นที่สมุทรสาคร โดยพร้อมให้บริการวันละ 300 คน โดยเปิดให้ประชาชนในละแวกโรงพยาบาลลงเทะเบียนต้นเดือนมี.ค.นี้

เบื้องต้นได้รับจัดสรร 300-500 โดส เพื่อฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลก่อนต้นเดือนมี.ค.นี้

“ช่วง2 เดือนแรกปีนี้ โรงพยาบาลตรวจเคสโควิด-19 กว่า 10,000 ราย ส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลออกมาดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จะได้รับผลกระทบจากคนไข้เด็ก และผู้ใหญ่ลดลง”

คาดฉีดวัคซีน75%ทั่วโลกใช้เวลา5ปี

ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) และ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ (CDC) มองว่าการฉีดให้ครอบคลุมประชากรโลก 75% โดย 92 ประเทศที่มีการฉีดวัคซีนในปัจจุบัน อาจต้องใช้เวลา 5 ปี โดยแต่ละประเทศมีความเร็วต่างกันไป เช่น สหรัฐ ประเมินว่าใช้เวลา 10 เดือน 

“ข้อมูล ณ วันที่ 24 ก.พ. สหรัฐฉีดแล้ว 64.2 ล้านโดส เฉลี่ย 1.37 ล้านโดส/วัน เท่ากับ 19.3 โดสต่อ 100 คน โดยมี 44.1 ล้านคนที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส และ 19.4 ล้านคน ที่ได้รับวัคซีน 2 โดส ขณะที่ 92 ประเทศทั่วโลกทั่วโลกรับวัคซีน 209 ล้านโดส  อัตราการฉีด 6.24 ล้านโดส/วัน โดยอิสราเอลมีอัตราเฉลี่ยรับวัคซีนมากสุด 82.3 โดส ต่อประชากร 100 คน"

สิ่งที่น่าสนใจ คือ ประเทศที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก เช่น สหรัฐ อังกฤษ ที่สถานการณ์ร้ายแรงกว่าไทย จึงต้องหาวิธีฉีดที่ตรงวัตถุประสงค์ เช่น อังกฤษ อนุมัติวัคซีนของไฟเซอร์เมื่อต้นเดือนธ.ค. 2563 จึงฉีดไฟเซอร์โดสแรกก่อน ส่วนโดสที่ 2 ซึ่งปกติต้องฉีดภายใน 2 สัปดาห์ ก็ชะลอออกไป เพื่อให้โดสแรกกระจายไปยังประชาชนมากให้มากที่สุดก่อน และพบว่าสามารถลดอัตราการเข้ารพ.หรือการตาย 75% และคนอายุมากกว่า 80 ปี การเสียชีวิตลดลง 50% 

รายงานเหล่านี้ยืนยันด้วยอิสราเอลที่ฉีดไฟเซอร์-ไบออนเทค ครบ 2 โดส พบว่าประสิทธิภาพ 98.5% และป้องกันไม่ให้คนไข้ต้องแอดมิทกว่า 99%