สสว.เปิดผลสำรวจเอสเอ็มอี ทนพิษเศรษฐกิจได้แค่5เดือน

สสว.เปิดผลสำรวจเอสเอ็มอี  ทนพิษเศรษฐกิจได้แค่5เดือน

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบ 2 ที่มีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอี นั้น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ จำนวน 660 ราย ในช่วงระหว่างวันที่ 1 - 15 ก.พ. 2564

วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า พบว่า วิสาหกิจขนาดกลางได้รับผลกระทบมากที่สุด รองลงมา คือ วิสาหกิจขนาดย่อมและวิสาหกิจขนาดย่อย ตามลำดับ เนื่องจากวิสาหกิจขนาดกลางส่วนใหญ่จะมีสินทรัพย์ถาวรในสัดส่วนที่มากกว่าวิสาหกิจอื่นๆ ซึ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 รายได้ลดลงไปมากหรือไม่มีรายได้เลย ในขณะที่ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดังกล่าวยังคงต้องจ่ายอยู่ เช่น ค่าเช่า ค่าบำรุงรักษาเครื่องมือ/อุปกรณ์ ยานพาหนะ ซึ่งไม่สามารถลดรายจ่ายในส่วนนี้ได้

เมื่อพิจารณาผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอี จำแนกตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ พบว่า ธุรกิจในภาคบริการได้รับผลกระทบมากกว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ในทุกด้าน เนื่องจากธุรกิจในภาคบริการมีความเกี่ยวข้องกับการเดินทาง และภาคการท่องเที่ยวอย่างมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่หายไป แม้ว่าจะช่วยกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศได้บ้าง แต่ยังไม่กลับสู่ระดับปกติก่อนการแพร่ระบาด

นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งใหม่ในช่วงปลายเดือนธ.ค.2563 ซึ่งเป็นช่วงใกล้เทศกาลปีใหม่ ซึ่งโดยปกติประชาชนจะมีการเดินทางท่องเที่ยว แต่สถานการณ์กลับเงียบลง ทำให้ในช่วงต้นปี 2564 ธุรกิจภาคบริการยังคงได้รับผลกระทบอยู่ค่อนข้างมาก ทั้งนี้การขาดรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งคิดเป็น 2 เท่าของรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทย ทำให้ธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ช้ากว่าธุรกิจในภาคอื่นๆ

ด้านผลกระทบตามพื้นที่ตั้งกิจการ พบว่าเอสเอ็มอีในภาคตะวันออกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มากที่สุด รองลงมาได้แก่ กรุงเทพและปริมณฑล และภาคเหนือ ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งใหม่ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ ได้รับผลกระทบโดยรวมน้อยที่สุด

สำหรับระยะเวลาที่เอสเอ็มอี คาดว่าจะสามารถประคองธุรกิจต่อไปได้ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบัน พบว่า โดนเฉลี่ยธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งหมดจะประคองธุรกิจอยู่ได้ 6.1 เดือน โดยในธุรกิจขนาดกลาง จะมีระยะเวลาที่คาดว่าจะประคองธุรกิจได้นานที่สุด 7.1 เดือน  และธุรกิจขนาดย่อย (Micro) ประคองตัวได้สั้นที่สุด 5.8 เดือน หากพิจารณาในเชิงพื้นที่พบว่า กทม. และปริมณฑล ประคองธุรกิจได้นานที่สุด 6.6 เดือน รองลงมาเป็นพื้นที่ภาคกลางและตะวันออก 6.4 เดือน พื้นที่ภาคเหนือ 6.2 เดือน พื้นที่ภาคใต้ 6.1 เดือน และพื้นที่ภาคอีสานประคองตัวได้สั้นที่สุด 4.9 เดือน

161426005666

การวิเคราะห์โดยเปรียบเทียบกับผลสำรวจครั้งก่อนในเดือนก.ค. 2563 แบ่งเป็น 1. ธุรกิจขนาดย่อม และธุรกิจขนาดกลาง ได้รับผลกระทบที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนก.ค. 2563 เนื่องจากในขณะนั้น มีมาตรการช่วยเหลือทางการเงินออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการพักชำระหนี้/ผ่อนผันการชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ แก้ไขเอ็นพีแอล และการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งธุรกิจดังกล่าวมีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากกว่าธุรกิจรายย่อย ดังนั้นผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงแรกจึงน้อยกว่าธุรกิจรายย่อย และมาตรการภาครัฐส่วนใหญ่ในขณะนั้น เป็นมาตรการเพื่อลดค่าใช้จ่าย หรือการให้เงินอุดหนุนหรือเยียวยา ซึ่งส่วนใหญ่ก็ถูกนำไปใช้จ่ายในค่าใช้จ่ายประจำหรือสิ่งที่จำเป็นต่อความอยู่รอดของธุรกิจ ขณะที่มาตรการเชิงกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวยังไม่ค่อยเห็นผลมากนักจนกระทั่งต่อมามีโครงการ “คนละครึ่ง” ซึ่งเป็นมาตรการที่เอสเอ็มอีมองว่าเป็นประโยชน์มากที่สุด

2. ธุรกิจในภาคบริการ ยังคงได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ธุรกิจในภาคผลิต และธุรกิจภาคการค้ามีผลกระทบลดลง เนื่องจากธุรกิจภาคบริการมีความเกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างสูง ซึ่งสถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศยังคงไม่กลับสู่ภาวะปกติ

3. ธุรกิจในแต่ละพื้นที่ จะพบว่าพื้นที่ที่ธุรกิจ SMEs ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นจากเมื่อเดือนก.ค. 2563 จะเป็นพื้นที่มีความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งใหม่สูง ได้แก่ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่ธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบลดลงมากที่สุด ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากการเปลี่ยนจุดหมายในการเดินทาง โดยหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงสูง และหันไปท่องเที่ยวในพื้นที่ๆ มีความเสี่ยงต่ำแทน

ขณะนี้ สสว. ได้เตรียมที่จะนำเสนอมาตรการลดรายจ่ายให้กับเอสเอ็มอี โดยจะทำโครงการ “คนละครึ่งภาคเอสเอ็มอี” ซึ่งจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 8 มี.ค.นี้ โดยมาตรการดังกล่าวให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีผ่านระบบผู้ให้บริการทางธุรกิจ (Business Development Service : BDS) ซึ่ง สสว. จะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้กับเอสเอ็มอีครึ่งหนึ่ง 

ล่าสุดมีหน่วยงาน BDS เข้าร่วมกับ สสว. แล้วกว่า 100 ราย และจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ธุรกิจออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การขอใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ แลฃะหน่วยงานฝึกอบรมต่าง ๆ เป็นต้น

“ขณะนี้ สสว. กำลังรายละเอียดในการสนับสนุน และมาตรฐานของหน่วยงาน BDS ที่เข้าร่วมโครงการ ที่จะต้องมีมาตรฐาน และมีระดับราคาตามที่กำหนด เพื่อให้เอสเอ็มอีที่เข้ามาใช้บริการได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ และเอสเอ็มอีมีทางเหลือที่หลากหลายตรงกับความต้องการ”

เบื้องต้นวงเงินที่จะนำมาสนับสนุน ประมาณ 80 ล้านบาท ซึ่งหากมาตรการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบ ภาครัฐก็จะสนับสนุนวงเงินเพิ่ม เพื่อให้ช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ตามเป้าหมาย