"รัฐสภา" ไม่เห็นชอบ บัญญัติข้อห้าม "ส.ส.ร." เว้นวรรคทางการเมือง หลังทำรัฐธรรมนูญใหม่

"รัฐสภา" ไม่เห็นชอบ บัญญัติข้อห้าม "ส.ส.ร." เว้นวรรคทางการเมือง หลังทำรัฐธรรมนูญใหม่

ช่วงบ่าย การพิจารณา ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระสอง เป็นไปอย่างรวดเร็ว เพราะ กมธ.ฯ​แก้ไขเนื้อหาเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้มี ผู้เสนอให้บัญญัติ ให้ ส.ส.ร.​เว้นวรรคการเมือง แต่รัฐสภาไม่เห็นด้วย

       ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมรัฐสภา พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ...  วาระสอง ในช่วงบ่าย ได้ผ่านการพิจารณาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากกมธ.ฯ ได้ปรับแก้ไขเนื้อหาเพียงเล็กน้อย และมีผู้ที่สงวนคำแปรญัตติ อภิปรายไม่กี่คน 
       ทั้งนี้ส่วนที่ที่ประชุมเห็นชอบและผ่านการพิจารณา ได้แก่ มาตรา ว่าด้วยการให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร.  ซึ่งกรรมาธิการฯ ได้ปรับแก้ไขเนื้อหา  
       สำหรับสาระสำคัญของมาตราดังกล่าวยังกำหนดให้เลือกตั้ง ส.ส.ร. แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่มีเหตุให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ กำหนดให้ ประกาศผลเลือกตั้ง ภายใน15 วัน  พร้อมกำหนดให้ กกต.​จัดการแนะนำตัวผู้สมัครอย่างเท่าเทียม การออกเสียงลงคะแนนเลือก ส.ส.ร.​ให้สิทธิประชาชน ลงคะแนนเลือก หรือไม่ลงคะแนนเลือกผู้ใดก็ได้ ทั้งนี้กมธ. ได้เพิ่มเนื้อหา ให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้  โดยเสียงข้างมากของที่ประชุม  529 เสียงเห็นชอบกับการแก้ไข ต่อ 51 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง

       ขณะที่มาตราว่าด้วยการเริ่ม การสิ้นสุด ของสมาชิกภาพ ส.ส.ร.  และหลักเกณฑ์ว่าด้วยกรณีที่ ส.ส.ร. ว่างลง นั้น กมธ. ได้ปรับแก้เนื้อหาในหลักการสำคัญ คือ กรณีที่ตำแหน่ง ส.ส.ร.ว่างลง ให้จัดการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ภายใน 45 วัน ยกเว้นเวลาทำรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ถึง 90 วัน 
       ทั้งนี้มี สมาชิกรัฐสภา ได้แก่ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และนายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. สงวนความเห็นในทำนองเดียวกัน คือ ให้เพิ่มเนื้อหา ห้าม ส.ส.ร. หรือ กรรมาธิการ หรือ อนุกรรมาธิการ หรือผู้มีหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ ​ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  2 - 5 ปี นับจากวันที่พ้นตำแหน่ง เพื่อให้เป็นไปตามหลักของการขจัดส่วนได้ส่วนเสียงของบุคคลที่ทำหน้าที่ร่างกติกาสูงสุดของประเทศ  อย่างไรก็ดี ประเด็นดังกล่าว กมธ.เสียงข้างมากชี้แจงว่า การบัญญัติดังกล่าวจะตัดสิทธิ์ล่วงหน้า ดังนั้นหากส.ส.ร.​ที่ทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญ จะเห็นควรเว้นวรรคทางการเมืองของตนเอง ขอให้นำไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
         หลังจากที่สมาชิกอภิปรายแล้วเสร็จ ได้ลงมติ ผลปรากฎว่าเสียงข้างมาก 571 เสียงเห็นด้วยกับการแก้ไข ต่อ 5 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง ซึ่งไม่มีข้อห้ามให้ ส.ส.ร.เว้นวรรคทางการเมือง ตามที่มีผู้เสนอ.