สศอ.โควิดรอบ2 ฉุดดัชนีอุตฯม.ค.ร่วง 2.8%

สศอ.โควิดรอบ2 ฉุดดัชนีอุตฯม.ค.ร่วง 2.8%

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เผย โควิดระบอดรอบ 2 ฉุดดัชนีอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2564 หดตัว 2.8% เมื่อเทียบปีก่อน คาดเดือนถัดไปดัชนีฯปรับตัวดีขึ้น เพราะเริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิดในไทย และต่างประเทศ

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2564 หดตัวร้อยละ 2.80 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 ส่งผลต่อเนื่องมายังเดือนมกราคม 2564 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การจับจ่ายใช้สอย รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศลดลง ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวในระยะสั้น

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยจะปรับตัวดีขึ้น แต่จะดีขึ้นมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการกระจายวัคซีนโควิค-19 ทั้งในและต่างประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จำนวนการแพร่ระบาดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามามีแนวโน้มที่ดีขึ้น อีกทั้งรัฐบาลได้ผ่อนคลายกิจกรรมในพื้นที่ควบคุม เช่น ร้านอาหารเปิดบริการได้ตามปกติ  สถานบันเทิง ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา สถาบันกวดวิชา และสถานที่ออกกำลังกาย เป็นต้น 

สำหรับในมุมเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ จากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหลายประเทศ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการผลิตและการบริโภค ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหักทองและรายการพิเศษเดือนมกราคม 2564 ขยายตัวร้อยละ 8.22 โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่  2 และเป็นการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 29 เดือน ซึ่งจากที่กล่าวมาสะท้อนให้เห็นสภาวะเศรษฐกิจของไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ

ด้าน อุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนมกราคม 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เม็ดพลาสติก ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.86  จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เพิ่มขึ้น เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อีกทั้งจากสถานการณ์โควิด-19  ที่หลายสถานประกอบการมีนโยบายให้พนักงาน work from home ประกอบกับการลดการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ จึงส่งผลให้กลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์ ถุงอาหาร ขวด และเครื่องใช้ในครัวเรือนขยายตัวมากกว่าปีก่อน

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.44 จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และบรรจุภัณฑ์อาหาร นอกจากนี้ สถานการณ์ราคาเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากจีนมีการนำเข้าสินค้าเหล็กเพิ่มสูงขึ้นมากจนเกิดภาวะขาดแคลนสินค้า (Short Supply) ผู้ผลิตจึงเร่งผลิตเพื่อขายทำกำไรในช่วงนี้

อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.63 จากเฟอร์นิเจอร์ทำด้วยไม้เป็นหลัก จากการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา รวมถึงสามารถกลับมาส่งสินค้าได้ตามปกติหลังมีปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในช่วงก่อนหน้า

อุตสาหกรรมอาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.21 จากอาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปและอาหารปลาเป็นหลัก โดยเพิ่มขึ้นจากการผลิตอาหารแมวเพื่อส่งออกไปสหรัฐอเมริกา เนื่องจากผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกาเลิกการผลิตและหันมาสั่งซื้อสินค้าจากไทยเพื่อจำหน่ายแทน

อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.74 จาก สินค้า Printer เป็นหลัก ซึ่งผู้ผลิตได้รับคำสั่งซื้อต่อเนื่องในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากผู้ผลิตจากอินโดนีเซีย จีน และฟิลิปปินส์ ไม่สามารถผลิตและส่งมอบสินค้าได้ รวมถึงความต้องการใช้เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการทำงาน work from home