'ดิเอราวัณ' ลุยลงทุนหมื่นล้าน! บุก 'ฮ็อปอินน์' ลดพึ่งทัวริสต์ต่างชาติ

'ดิเอราวัณ' ลุยลงทุนหมื่นล้าน! บุก 'ฮ็อปอินน์' ลดพึ่งทัวริสต์ต่างชาติ

หลังจาก “ดิ เอราวัณ กรุ๊ป” ริเริ่มไอเดียปั้นแบรนด์ “ฮ็อปอินน์” (Hop Inn) โรงแรมราคาประหยัดหรือ “บัดเจ็ท โฮเทล” เรือธง! ในการลงทุนและบริหารเองเมื่อปี 2555 โดยเปิดให้บริการแห่งแรกเมื่อปี 2557

เพื่อสร้างความหลากหลายของโรงแรมในพอร์ตฟอลิโอ ไม่ให้กระจุกอยู่เฉพาะระดับลักชัวรีและระดับกลาง หวังเจาะเซ็กเมนต์ใหม่ที่มีคู่แข่งน้อย กระทั่ง “ฮ็อปอินน์” กลายเป็นหัวหอกสำคัญในการขยายอาณาจักร ณ สิ้นปี 2563 บริษัทมีโรงแรมทุกระดับรวม 73 แห่งในไทยและฟิลิปปินส์ คิดเป็นจำนวนห้องพักกว่า 9,802 ห้อง

เพชร ไกรนุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ฉายภาพว่า ทิศทางการลงทุนตามแผน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2568 ของดิเอราวัณกรุ๊ป หลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 เมื่อปีที่ผ่านมา คาดว่าจะใช้เม็ดเงิน 8,000-10,000 ล้านบาท สำหรับการลงทุนและพัฒนาโรงแรมโดยบริษัทเองหรือการเข้าซื้อกิจการ

โฟกัสหลักอยู่ที่การลงทุนขยายเครือข่ายแบรนด์ “ฮ็อปอินน์” ให้เติบโต 2 เท่า สู่เป้าหมายการเป็นผู้นำโรงแรมบัดเจ็ทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก!

เฉพาะประเทศไทย จะเพิ่มโรงแรมฮ็อปอินน์เป็น 100 แห่ง มีจำนวนห้องพักมากกว่า 7,000 ห้องในปี 2568 จากปัจจุบันมี 46 แห่ง คิดเป็นจำนวนห้องพักกว่า 3,600 ห้อง โดยมีโรงแรมที่อยู่ระหว่างพัฒนา 7 แห่งใหม่ คิดเป็น 648 ห้อง ได้แก่ กรุงเทพฯ 3 แห่ง ขณะที่นครราชสีมา น่าน มหาสารคาม และชัยภูมิ จังหวัดละ 1 แห่ง

ส่วนประเทศฟิลิปปินส์ จะเน้นสร้างเครือข่ายขยายไปเมืองอื่นๆ นอกจากกรุงมะนิลา ซึ่งเป็นจุดหมายหลักของโรงแรมฮ็อปอินน์ในปัจจุบัน ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 15 แห่ง จากปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 5 แห่ง คิดเป็น 843 ห้อง และอยู่ระหว่างพัฒนาอีก 5 แห่งใหม่ คิดเป็นจำนวน 937 ห้องพัก

นอกเหนือจากฟิลิปปินส์ บริษัทยังมองหาโอกาสขยายการลงทุนไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีความน่าสนใจของตลาดท่องเที่ยวในประเทศ เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะปักธงแบรนด์ฮ็อปอินน์ในประเทศใดเพิ่ม เพราะยังต้องศึกษาข้อมูลการลงทุนเพิ่มเติม

สำหรับรายละเอียดของแผนการใช้เงินลงทุน 5 ปี ที่ 8,000-10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินลงทุนพัฒนาโรงแรมฮ็อปอินน์แห่งใหม่ 12 แห่ง แยกเป็นในไทย 7 แห่ง และในฟิลิปปินส์อีก 5 แห่ง จำนวน 1,500 ล้านบาท, ค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาทั่วไปของโรงแรมที่มีอยู่ จำนวน 2,500 ล้านบาท และที่เหลือสำหรับโครงการที่มีศักยภาพในอนาคต

“ดิเอราวัณกรุ๊ปตั้งเป้าหมายขยายเครือข่ายจำนวนโรงแรมฮ็อปอินน์เติบโตเป็นเท่าตัวในอีก 5 ปีข้างหน้า ตามกลยุทธ์ลดความเสี่ยงจากการพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ หลังจากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อตลาดต่างชาติอย่างหนัก ด้วยการให้น้ำหนักกับการบุกตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น

ประกอบกับแบรนด์ฮ็อปอินน์เป็นเซ็กเมนต์ที่มีผลการดำเนินงานแข็งแกร่ง ได้รับผลกระทบช้า และฟื้นตัวเร็วที่สุด! โดยสามารถทำมาร์จิ้นได้สูงถึง 50% แตกต่างจากมาร์จิ้นของโรงแรมระดับลักชัวรีและระดับกลางซึ่งอยู่ที่ 35% และ 40% ตามลำดับในสถานการณ์ปกติ บริษัทจึงตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หรือ EBITDA ของกลุ่มโรงแรมฮ็อปอินน์ เพิ่มจาก 16% เมื่อปี 2562 เป็นมากกว่า 40% ในปี 2568 เพื่อให้การขยายโรงแรมในพอร์ตโฟลิโอของบริษัทฯเติบโตอย่างมั่นคง ส่วนโรงแรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่ฮ็อปอินน์ ยังต้องรอการฟื้นตัวของตลาดต่างชาติเที่ยวไทย

เพชร เล่าอีกว่า เพื่อเป็นการสร้าง “ความพร้อมทางการเงิน” สำหรับรองรับการเติบโตตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว คณะกรรมการบริษัทจึงได้อนุมัติแผนเพิ่มทุนจำนวน 3,000 ล้านบาท ประกอบด้วยการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนโดยการจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน (Rights Offering) จำนวน 2,000 ล้านบาท คาดจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 และการออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญจำนวน 1,000 ล้านบาท ซึ่งมีอายุ 3 ปีนับจากวันที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิ และมีกำหนดการใช้สิทธิในเดือนมิ.ย.2567 ทั้งนี้การเพิ่มทุนของบริษัทจะต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญที่จะจัดขึ้นในวันที่ 27 เม.ย.2564

วรมน อิงคตานุวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ สายบริหารการเงินและเทคโนโลยีสารสนเทศ ดิ เอราวัณ กรุ๊ป กล่าวเสริมว่า  ผลประกอบการปี 2563 บริษัทมีรายได้รวม 2,348 ล้านบาท ติดลบ 64% เมื่อเทียบกับรายได้รวม 6,439 ล้านบาทของปี 2562 โดยบริษัทได้บริหารค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงได้ตามเป้าหมายที่ 45% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทำให้ ณ สิ้นปีที่ผ่านมาขาดทุนสุทธิ 1,715 ล้านบาท ติดลบจากปีก่อนซึ่งมีกำไรสุทธิ 446 ล้านบาท