ธนารักษ์ผวาเสียงต้าน จ่อยกเลิกเวนคืน 'หมอชิต'

ธนารักษ์ผวาเสียงต้าน จ่อยกเลิกเวนคืน 'หมอชิต'

ธนารักษ์ เร่งสรุปย้ายสถานีขนส่งหมอชิต เล็งยกเลิกเวนคืนที่ดินหมอชิตคอมเพล็กซ์ คาดได้ข้อสรุป มี.ค.นี้

ยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ ลงพื้นที่ให้รายละเอียดการก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารบนพื้นที่ชดเชยในพื้นที่โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต (เดิม) พร้อมทำความเข้าใจกับประชาชนที่เดือดร้อนหากมีการเวรคืนที่ดืนเพื่อก่อสร้างทางยกระดับสำหรับเข้า - ออก โครงการหมอชิตคอมเพล็กซ์กับถนนวิภาวดีรังสิต

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมได้จัดประชุมหารือร่วมกับกรมการขนส่งทางบก บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และ บริษัท บางกอก เทอร์มินอล จำกัด (บีเคที) ในฐานะคู่สัญญาการดำเนินงานโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุพหลโยธิน หรือหมอชิตคอมเพล็กซ์ ที่มีมูลค่ากว่า 2.6 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ได้ข้อยุติร่วมกันเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ชดเชยในโครงการหมอชิตคอมเพล็กซ์และความจำเป็นในการก่อสร้างทางยกระดับสำหรับเข้า - ออก โครงการฯ กับถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งในที่ประชุมมีมติมอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก และ บขส. พิจารณารูปแบบการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ชดเชย 100,000 ตารางเมตร เพื่อเป็นสถานีขนส่งผู้โดยสาร ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เมื่อได้ข้อยุติแล้วให้กรมธนารักษ์จัดประชุมหารือร่วมกันระหว่าง กรมธนารักษ์ กรมการขนส่งทางบก บขส. สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และกรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาเรื่องการใช้ประโยชน์พื้นที่ชดเชยเพื่อเป็นเพื่อเป็นสถานีขนส่งผู้โดยสาร และความจำเป็นในการก่อสร้างทางยกระดับสำหรับเข้า - ออก โครงการฯ กับถนนวิภาวดีรังสิต ภายในต้นเดือนมีนาคม 2564

สำหรับปัญหาการเวนคืนที่ดินโดยรอบโครงการ ซึ่งมีชาวบ้านได้รับผลกระทบและออกมาร้องเรียนจำนวนมากนั้น มีแนวทางว่าอาจจะไม่ต้องเวนคืนที่ดิน เพราะการเวนคืนถือเป็นเรื่องใหญ่ต้องใช้งบประมาณในการเวนคืนหลายพันล้านบาท และยังทำให้ชาวบ้านหลายครัวเรือนได้รับความเดือดร้อน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโครงการมีความล่าช้ามานานกว่า 24 ปี โดยมีการเซ็นสัญญาตั้งแต่ปี 2539 ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าอยากให้โครงการเกิดขึ้นเร็วที่สุด โดยทางภาคเอกชนก็พร้อมรับฟังถึงแนวทางปรับรูปแบบการย้ายสถานีขนส่งใหม่เพื่อเร่งผลักดันโครงการให้เกิดขึ้น ขณะที่กรมฯก็จะรับประโยชน์จากการเก็บค่าเช่า และยังเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจทำให้เกิดย่านธุรกิจขึ้นใหม่ รวมถึงทำให้เกิดการลงทุน และการจ้างงานจำนวนมาก

ในส่วนของการย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 กลับมาที่เดิมนั้น เบื้องต้นอาจพิจารณาปรับรูปแบบให้ย้ายกลับมาเฉพาะในส่วนของรถโดยสารขนาดเล็ก เช่น รถตู้ เพื่อให้เหมาะสมกับขนาดพื้นที่ และลดผลกระทบทางจราจร ส่วนรถโดยสารขนาดใหญ่ รถบัสสองชั้นอาจให้อยู่ที่เดิมเพื่อลดความแออัด โดยหลังจากนี้ทางกรมการขนส่งทางบก และ บขส. เร่งหารือกับกระทรวงคมนาคมเพื่อหาข้อสรุป รวมถึงต้องหารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ในขอขยายสัญญาการใช้พื้นที่หมอชิตปัจจุบันด้วย