ครม. เคาะร่างกฎหมายกำกับดูแล NGO ต้องจดทะเบียนกับมหาดไทย

ครม. เคาะร่างกฎหมายกำกับดูแล NGO ต้องจดทะเบียนกับมหาดไทย

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ออกร่างกฎหมายว่าด้วยการองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ (NGO) กำหนดให้ องค์กรฯ ดังกล่าวต้องจดทะเบียนกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

วันนี้ (23 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. ในวันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล โดย น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ออกร่างกฎหมายว่าด้วยการองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ (NGO) จะต้องจดทะเบียนกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ก่อนหน้านี้ได้มีการประชุมหารือระหว่างปลัดกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงมหาดไทย, ผู้จัดการกองทุน สสส., ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และท่านอื่นๆ อีก รวม 7 คน ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงาน ให้คำปรึกษาจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ การส่งเสริมองค์กรภาคประชาชน ควบคู่ไปกับร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม

โดย ครม. มีมติเห็นชอบ ร่างหลักการกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง ในส่วนของการกำกับดูแลองค์กรภาคประชาสังคม (NGO) โดย น.ส.รัชดา ธนาดิเรก ระบุว่า

เนื่องด้วยทุกวันนี้ ประเทศไทยมีเอ็นจีโอ (NGO) จำนวนมาก แต่ที่จดทะเบียนถูกต้องมีเพียง 87 องค์กร ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญ ช่วยพัฒนาสังคม เป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อสาธารณะประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายองค์ที่จัดตั้งขึ้นมาและอ้างว่าเป็น “องค์กรไม่แสวงหารายได้” แต่ว่าเมื่อได้รับเงินสนับสนุนไปแล้ว กลับไม่ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์เพื่อสาธารณะประโยชน์อย่างที่ได้แจ้งไว้

หรือบางองค์กรเมื่อมีรายได้เข้าสู่องค์กรของตนเอง ก็พบว่ามีการนำกำไรนำผลประโยชน์มาแบ่งปันกับคนในกลุ่ม ไม่ได้ดำเนินการเพื่อสาธารณะอย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเข้าไปกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความโปร่งใส 

1614070192100

โดยในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้มอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ไปศึกษาเรื่องการส่งเสริมและกำกับดูแลองค์กรไม่แสวงหารายได้ของภาคเอกชน โดยไปศึกษากฎหมายในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ฯลฯ ซึ่งก็พบว่าหลักๆ แล้วก็จะมีแนวทางคล้ายกันคือ เน้นเรื่องธรรมาภิบาลในองค์กรภาคประชาชน

ดังนั้นวันนี้ ครม. มีมติเห็นชอบ ในหลักการของกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ เพื่อป้องกันไม่ให้นำกำไรมาแบ่งปันกัน ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอเข้ามา ซึ่งสาระสำคัญหลักๆ ของร่างกฎหมายฉบับนี้ ก็คือ เน้นเรื่องความโปร่งใสของธรรมาภิบาล ซึ่งเรื่องที่จะต้องปฏิบัติก็คือ

1. องค์กรไม่แสวงหารายได้ (NGO) จะต้องจดแจ้ง หรือจดทะเบียนกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

2. องค์กรไม่แสวงหารายได้ (NGO) จะต้องทำตามหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด ก็คือตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดว่าจะสามารถดำเนินงานในเรื่องใดได้บ้าง

3. องค์กรไม่แสวงหารายได้ (NGO) จะต้องเปิดเผยแหล่งที่มาของการดำเนินการ และเปิดเผยแหล่งที่มาของรายได้ให้ชัดเจน ต้องมีการรายงานผลการตรวจสอบบัญชี ซึ่งเมื่อส่งให้ทางกรมการปกครองตรวจสอบแล้ว ก็ต้องเผยแพร่ให้สาธารณะชนได้ทราบด้วย

ตรงนี้ก็เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ของความโปร่งใสของการดำเนินงาน และแหล่งที่มาของรายได้ และเพื่อใช้เงินนั้นไปตามวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณชนจริงๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่รัฐจะไปแทรกแซงใดๆ ก็ตาม 

--------------------------

อ้างอิง : ไทยคู่ฟ้า ThaigovSpokesman