ไทยห่วง 'ข้าวหอมกัมพูชา' ชิงตลาดจีน

ไทยห่วง 'ข้าวหอมกัมพูชา' ชิงตลาดจีน

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผย ข้าวหอมกัมพูชา มาแรงในตลาดจีน ไล่บี้มาข้าวหอมมะลิไทยมาติดๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เหตุราคาถูกกว่ามากแต่คุณภาพใกล้เคียงกัน แนะผู้ส่งออกไทยพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ดีขึ้น

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผย ข้าวหอมกัมพูชา มาแรงในตลาดจีน ไล่บี้มาข้าวหอมมะลิไทยมาติดๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เหตุราคาถูกกว่ามากแต่คุณภาพใกล้เคียงกัน แนะผู้ส่งออกไทยพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ดีขึ้น จับมือเน็ตไอดอล สร้างการรับรู้คุณประโยชน์และภาพลักษณ์อันดีของข้าวไทย และจับมือห้างท้องถิ่นจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว ประเทศจีนว่า ปัจจุบัน แม้ข้าวหอมมะลิของไทย ยังได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน ที่มีรายได้สูง ที่นิยมซื้อไปเป็นของขวัญมอบให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ หรือมอบให้ญาติสนิทมิตรสหายในวันเทศกาลสำคัญต่างๆ รวมถึงถูกนำไปเสิร์ฟในโรงแรม และภัตตาคารระดับสูง แต่ข้าวหอมมะลิไทย มีคู่แข่งหน้าใหม่แล้ว คือ ข้าวหอมกัมพูชา ที่มีการนำเข้าและสร้างแบรนด์ ในตลาดจีนอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนทำให้ขณะนี้ เริ่มติดตลาด และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
“ข้าวหอมกัมพูชา เริ่มไปรับความนิยมมากขึ้น เพราะราคาที่ถูกกว่าข้าวหอมมะลิไทย และคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน ทำให้ผู้บริโภคเริ่มนิยมและบริโภคมากขึ้น และค่อยๆ แย่งชิงสัดส่วนตลาดข้าวหอมมะลิไทยในจีน ดังนั้น ผู้ผลิตและผู้ประกอบการข้าวไทย จึงควรเร่งพัฒนาคุณภาพและสายพันธุ์ข้าวไทย ทั้งในด้านรสสัมผัส คุณประโยชน์และความปลอดภัยด้านอาหารของข้าวไทย ตลอดจนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ ร่วมกับซุปเปอร์มาร์เก็ตของจีน เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข้าวไทย สร้างการรับรู้ และสร้างภาพลักษณ์อันดีของข้าวไทย แก่ผู้บริโภคชาวจีนให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางการตลาด และเจาะตลาดจีนได้อย่างยั่งยืน”
สำหรับการประชาสัมพันธ์ข้าวไทยนั้น ผู้ส่งออกไทยต้องสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของข้าวไทย ผ่านช่องทางออนไลน์ให้มากขึ้น ทั้ง WeChat, Weibo เป็นต้น รวมถึงจับมือกับผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดทางอินเตอร์เน็ต (อินฟลูเอนเซอร์) หรือเน็ตไอดอล เพราะผู้บริโภคจีนสมัยใหม่ เลือกซื้อสินค้าจากการประชาสัมพันธ์ของอินฟลูเอนเซอร์มากขึ้น
ส่วนการทำตลาดข้าวทั่วไปนั้น ควรเน้นการทำตลาด โดยเจาะผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม และบุกเบิกตลาด (นิช มาร์เก็ต) เช่น กลุ่มผู้บริโภคสุงอายุ และคนหนุ่มสาว ที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และบริโภคข้าวสีข้าวกล้อง ที่มีประโยชน์มากขึ้น จึงเป็นโอกาสให้ผู้ส่งออกไทยขยายสินค้าข้าวเพื่อสุขภาพ รวมทั้งบุกเบิกตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่น ข้าวสำหรับคนป่วย ข้าวน้ำตาลต่ำ และข้าวสำหรับเด็ก เพื่อเพิ่มความหลากหลายของข้าวไทย ที่จะทำตลาดในจีน และรักษาส่วนแบ่งทางกรตลาดข้าวของไทยไว้ให้ได้
ทั้งนี้ เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ข้าวไทยเสียส่วนแบ่งให้กับข้าวคู่แข่งอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 63 จีนนำเข้าข้าวไทยเพียง 192,172 ตัน ลดลง 41.21% จากช่วงเดียวกันของปี 62 ที่นำเข้า 526,656 ตัน ลดลง 41.43% ส่วนช่วงเดียวกันปี 61 นำเข้าเพียง 899,237 ตัน ลดลง 6.64% แต่ช่วงเดียวกันปี 60 นำเข้าสูงถึง 1.11 ล้านตัน ขณะที่ช่วง 10 เดือนปี 63 จีนนำเข้าข้าวจากเวียดนาม 606,543 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 71.52% เมียนมา 562,868 ตัน เพิ่ม 46.58% เป็นต้น เพราะราคาข้าวคู่แข่งของไทยต่ำกว่าราคาข้าวไทยมาก อีกทั้งมีแนวโน้มว่า ปี 64 จีนอาจนำเข้าข้าวลดลงได้อีก
“ปี 64 ปริมาณผลิตในประเทศจะเพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศ และอาจนำเข้าลดลง เพราะทางการจีน ได้ประกาศพื้นที่เพาะปลูกข้าว และปริมาณการผลิตข้าวในประเทศ โดยพบว่า มีพื้นที่เพาะปลูกข้าว 187.87 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบกับปี 62 และมีผลผลิต ข้าวอยู่ที่ 423 กิโลกรัม (กก.) เพิ่มขึ้น 1.1% แสดงให้เห็นถึงอุปทานข้าวในตลาดจีน มีเพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค”