กรมการพัฒนาชุมชนสืบสานพระราชดำริ ‘เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ’ จัดประกวดผ้าลายพระราชทาน

กรมการพัฒนาชุมชนสืบสานพระราชดำริ ‘เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ’ จัดประกวดผ้าลายพระราชทาน

ตามที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ พระราชทานลายผ้า “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” จากพระราชดำริ “ผ้าไทย ใส่ให้สนุก” สืบสาน อนุรักษ์ ปลุกกระแสผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล ดึงรายได้สู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานรากนั้น

วันนี้ (19 ก.พ.64) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ นายอัครชญ แก้วอาภรณ์ ผู้แทนที่ปรึกษาคณะกรรมการประกวดผ้าฯ ร่วมกันแถลงข่าวการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี” ภายใต้โครงการจัดแสดงและเชื่อมโยงการตลาดภูมิปัญญา “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ณ สุราลัยฮอลล์ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม

161373296777

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า นับเป็นระยะเวลากว่า 60 ปี ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ต่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย และทรงมีพระราชดำริว่าควรจะมีการนำภูมิปัญญา ของราษฎรที่ได้ทอผ้าไว้ใช้กันอยู่ มาพัฒนาเป็นอาชีพก่อให้เกิดรายได้แก่ราษฎร

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานลายผ้าชื่อว่า “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ซึ่งผ้าลายพระราชทาน มาจากพระดำริ “ผ้าไทย ใส่ให้สนุก” จากการเสด็จไปทอดพระเนตร ผลิตภัณฑ์ด้านผ้าและงานหัตถกรรม 3 ภูมิภาค

“เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงมุ่งหวังพัฒนาผ้าไทยให้ก้าวหน้า ทรงเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าทอหลากหลายประเภทในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ

เมื่อครั้นเสด็จเยี่ยมศิลปิน ช่างทอผ้าตามหมู่บ้านทรงนำพระปรีชาสามารถด้านศิลปะ มาเป็นแนวทางในการให้คำแนะนำแก่ราษฎร ไม่ว่าจะเป็นต่อยอดจากลายผ้าดั้งเดิมประยุกต์เป็นลายทอผ้าขนาดต่างๆ ทรงให้ความสำคัญเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการรณรงค์ใช้สีจากธรรมชาติ อีกทั้งทรงนำเทรนด์แฟชั่นสากลมาจัดทำเป็นหนังหนังสือ THAI TEXTILES TREND BOOK S/S 2022 ให้กระทรวงวัฒนธรรมช่วยพิมพ์ ช่วยเผยแพร่ ให้ความรู้แก่ประชานทั่วประเทศ

รวมทั้งพระราชทานลวดลาย“ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ให้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ที่ผ่านมา และสื่อความหมาย ถึงการส่งมอบความรักและความสุขให้แก่ชาวไทยทุกคน และพระราชทานพระอนุญาตให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค สามารถนำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้า เป็นต้นแบบ และพัฒนาต่อยอดไปสู่ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตามวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น เพื่อให้รายได้ กลับเข้าสู่ชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค และส่งเสริม ผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากลเป็นที่นิยมในทุกเพศทุกวัยและทุกโอกาส

พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือพระราชทานพระอนุญาตให้ กรมการพัฒนาชุมชน และสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดประกวดลายผ้าพระราชทาน“ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี” เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในเรื่องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของไทย และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายสิ่งทอและการอนุรักษ์ผ้าไทย ประชาสัมพันธ์ผ้าไทยแต่ละประเภทให้เป็นที่รู้จักและก่อให้เกิดรายได้กลับเข้าสู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งเป็นการเชิดชูเกียรติแก่ผู้สืบทอดภูมิปัญญาผ้าไทยอีกด้วย” นายสุทธิพงษ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าว

161373299290

ด้านนาย อัครชญ แก้วอาภรณ์ ผู้แทนที่ปรึกษาคณะกรรมการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” คุณสมบัติของผู้ส่งผ้าเข้าประกวดว่า จะต้องเป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP หรือช่างทอผ้าทั่วไป ที่มีภูมิเนาอยู่ในจังหวัดที่สมัครเข้าประกวด ส่วนเงื่อนไขการส่งผ้าเข้าประกวด ต้องเป็นผ้าลายพระราชทานที่เป็นผ้าพื้นถิ่นของจังหวัดที่ส่งเข้าประกวด และต้องเป็นผ้าทอมือ หรือทำจากมือเท่านั้นโดยมีความกว้างของหน้าผ้า 1 - 1.5 เมตร

ต้องเป็นผ้าที่ตัดจากกี่ โดยไม่ผ่านการซัก อบ รีด หรืออาบน้ำยาเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น (Authentic) ยกเว้น ผ้าบาติก/ผ้าพิมพ์ลาย/ผ้ามัดย้อม/กลุ่มผ้าชาติพันธุ์ และห้ามเย็บริมผ้าเส้นใยที่ใช้ทอ หรือผลิตผ้าในกรณีเป็นประเภทผ้าบาติก/มัดย้อม/พิมพ์ลาย ต้องเป็นเส้นใยฝ้าย หรือเส้นใยไหมที่เป็นเส้นใยแท้ หรือเส้นใยธรรมชาติอื่นๆ โดยการประกวดจะแยกตามชนิดเส้นใย ใช้สีธรรมชาติไม่จำกัดสีในการย้อมเส้นใยทอผ้า หรือปักผ้า ยกเว้นผ้าบาติก/พิมพ์ลาย/มัดย้อมต้องมี Packaging และการนำเสนอเรื่องราวผลิตภัณฑ์

ประเภทผ้าลายพระราชทานที่ส่งเข้าประกวด แบ่งเป็น 15 ประเภท ตามเทคนิคเอกลักษณ์ของผ้าประจำถิ่นของจังหวัดนั้นๆ โดยต้องมีองค์ประกอบหลักของลายพระราชทานครบถ้วน ได้แก่

ผ้ามัดหมี่ 2 ตะกอ ผ้ามัดหมี่ 3 ตะกอขึ้นไป ผ้าขิด ผ้ายกดอก ผ้ายกใหญ่ชนิดมีสังเวียน ผ้ายกเล็ก ผ้าจกทั้งผืน ผ้าตีนจก (ตีนซิ่น) ผ้าแพรวา ผ้าลายน้ำไหล ผ้าเทคนิคผสม เป็นผ้าทอที่ใช้หลายเทคนิคผสมในผ้าผืนเดียวกัน ผ้าบาติก/ผ้ามัดย้อม ผ้าพิมพ์ลาย ที่เป็นผ้าทามือไม่ใช้เครื่องจักร ผ้าปักมือ (กลุ่มชาติพันธุ์) และผ้าเทคนิคสร้างสรรค์ บนพื้นฐานเอกลักษณ์ของจังหวัด

161373312711

สำหรับวิธีการประกวด ในการจัดประกวดผ้าลายพระราชทาน แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ โดยประชาสัมพันธ์ให้ผู้สนใจเตรียมตัวสำหรับการส่งผ้าลายพระราชทานเข้าประกวด โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมตัดสินพิจารณารางวัลการประกวด แบ่งเป็น 3 ประเภทรางวัล ได้แก่

ประเภท Best of Best จะเป็นรางวัลเดียวจากผ้าในแต่ละประเภท เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พร้อมรับพระราชทานรางวัลสร้อยทองและเหรียญพระนาม

ประเภทที่ 2 The Best นำที่ 1 ของ 15 ประเภท มาเรียงลำดับที่ 1 - 3 ได้รับพระราชทานรางวัลสร้อยทองและเหรียญพระนาม

ประเภทที่ 3 ชมเชย Top 10 ได้รับพระราชทานประกาศนียบัตร (Certificate)

ผู้สนใจสามารถส่งผ้าทอร่วมประกวดได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ ณ สำนักงานพัฒนาชุมชน อำเภอ หรือจังหวัดทั่วประเทศ โดยรอบตัดสินระดับประเทศจะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2564