จุฬาฯ ลุยยาจาก 'กัญชา' วิจัยสร้างโนว์ฮาวรอปลดล็อก

จุฬาฯ ลุยยาจาก 'กัญชา' วิจัยสร้างโนว์ฮาวรอปลดล็อก

“กัญชา” แม้ถูกจัดให้เป็นพืชเสพติด แต่ธุรกิจกัญชาในหลายประเทศกำลังกลายเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่เติบโตอย่างรวดเร็ว รายงานเรื่อง The Global Cannabis Report ระบุหลายภูมิภาคของโลกทยอยปลดล็อกกัญชาทั้งในการแพทย์และการใช้เพื่อความบันเทิงมาก

โดยมีการพัฒนาและยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับการนำสารสกัดกัญชาไปใช้ทางทางการแพทย์ ส่งผลให้ตลาดกัญชาที่ถูกกฎหมายขยายตัวขึ้นอย่างมาก และล่าสุดเมื่อวานนี้ (16 ก.พ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (รมว.สธ.)ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุขปลด 5 ตำรับยากัญชาแผนไทย ซึ่งมีส่วนประกอบของใบและกิ่งก้านกัญชาออกจากบัญชีตำรับยาเสพติด เปิดทางให้ภาคเอกชนขอผลิตยาแผนไทยทั้ง 5 ตำรับได้ตั้งแต่ 16 ก.พ.เป็นต้นไป ได้แก่ ยาศุขไสยาศน์ ยาแก้นอนไม่หลับ/ยาแก้ไข้ผอมเหลือง ยาแก้ลมแก้เส้น ยาทาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง และยาแก้โรคจิต

161348165358

วิจัยโทษยาเสพติดสู่การใช้ประโยชน์

รศ.ภญ.ดร.สรกนก วิมลมั่งคั่ง ประธานคลัสเตอร์วิจัยกัญชาและสารธรรมชาติจากกัญชา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กัญชาและกัญชงจะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวท็อปของประเทศ ที่สามารถทำรายได้ในอนาคตได้อย่างมหาศาล แต่ ณ ตอนนี้ยังเป็นแค่ช่วงเริ่มต้นโดยเฉพาะสำหรับกัญชา เพราะส่วนประกอบของกัญชารวมถึงสารสกัดที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้นั้นจะต้องมาจากหน่วยงานวิจัยของมหาวิทยาลัยภาครัฐเท่านั้น ฉะนั้น องค์กรธุรกิจต่างเสาะหาสถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัยภาครัฐหรือคลัสเตอร์ที่เกี่ยวข้อง 

จุฬาฯ โดยคลัสเตอร์วิจัยฯ จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายของภาคธุรกิจเอกชนที่ต้องการใช้ประโยชน์จากกัญชา จากเดิมที่มุ่งทำวิจัยเพื่อดูการเกิดพิษ/โทษของพืชเสพติดนี้ ซึ่งเป็นงานวิจัยทางสังคมเป็นหลัก แต่เมื่อเริ่มมีการผ่อนปรนกฎระเบียบ จึงเกิดคำถามเพื่อที่จะตอบให้ได้ว่าประโยชน์มีมากกว่าโทษจริงหรือไม่

“ก่อนหน้านี้แม้ในต่างประเทศมีกระแสแรงในเรื่องการใช้กัญชา แต่ยังไม่มีแรงกระเพื่อมมากพอ จึงไม่ค่อยได้รับความสนใจในไทย อีกทั้งมีความยุ่งยากในเรื่องของเอกสารต่างๆ เพราะเป็นการทำวิจัยยาเสพติด จึงมีการควบคุม มีกฎหมายและบทลงโทษ ทำให้นักวิจัยไม่ค่อยอยากจะยุ่งด้วย”

สุดท้ายเมื่อมีแรงทางสังคมเข้ามาและมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ประกอบ อีกทั้งพื้นฐานของไทยยังต้องการงานวิจัยจำนวนมากเพื่อสนับสนุนการใช้กัญชา และการวิจัยจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยนักวิจัยจากภาคการศึกษา จึงเป็นจุดตั้งต้นที่ทำให้เห็นความสำคัญมากขึ้น การสนับสนุนจากภาคเอกชนมากขึ้นยิ่งเป็นตัวผลักดันในการวิจัยกัญชา จึงเริ่มมีการพูดคุยเมื่อปี 2561 และเริ่มผลักดัน จนทำให้กลุ่มการวิจัยได้รับการสนับสนุนในปีถัดมา

161348166815

ภารกิจของคลัสเตอร์ฯ คือ สร้างเครือข่ายนักวิจัย สร้างระบบนิเวศการทำงานภายในจุฬาฯ โดยใช้เทคโนโลยีเดิมที่เชี่ยวชาญ ต่อยอดองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญเหล่านั้นสู่โอกาสในการพัฒนา “กัญชา” ซึ่งจะดึงทั้งหมดเข้ามาร่วมกัน อีกทั้งเป็นการลดภาระด้านเอกสารให้กับนักวิจัย โดยคลัสเตอร์ฯ จะเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องของเอกสาร และการเชื่อมโยงกับแต่ละภาคส่วน พร้อมทั้งการหาทุนวิจัยมาสนับสนุน​ทั้งจากภาคเอกชน ที่สนใจการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และอีกส่วนคือทุนจากภาครัฐ ผ่านการสร้างโครงการวิจัยและขอรับการสนับสนุน 

สร้างผลงานต้นแบบเรียกทุน

คลัสเตอร์ฯ มุ่งสื่อสารความเข้าใจที่ถูกต้องผ่านผลงานวิจัยและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต้นแบบประเภทยา เพื่อให้คนไทยได้สามารถเข้าถึงยาจากกัญชาที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการรักษาโรค

“หากไม่มีชิ้นงานต้นแบบออกมา ก็เห็นจะยากที่จะได้รับทุนสนับสนุน ปัจจุบันจึงมีผลิตภัณฑ์ต้นแบบคือ “ขี้ผึ้งทาแผลในปาก” ซึ่งปีนี้จะเข้าสู่การวิจัยในมนุษย์จากนั้นก็ยื่นขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ตามไทม์ไลน์ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องเสร็จสิ้นภายในปีนี้ ขณะเดียวกันในช่วงนี้ได้พยายามหาเอกชนที่เป็นผู้ผลิตยามารับการถ่ายทอดนวัตกรรม ซึ่งเริ่มพูดคุย 2-3 รายที่มีมาตรฐานการผลิต" 

อย่างไรก็ตาม โครงการวิจัยพัฒนากัญชาร่วมกับภาคเอกชนยังยากอยู่และอาจจะต้องใช้เวลา ระหว่างนี้ทางคลัสเตอร์ฯ จะเดินหน้าทำงานวิจัยต่อไปเพื่อรอปลายทางหรือเวลาเหมาะสม ที่มีการปลดล็อกกฎหมายผลิตภัณฑ์สำหรับกัญชา

หากถามถึงมุมมองอุตสาหกรรมกัญชากับเรื่องของโอกาสใหม่ทางธุรกิจ ภายใต้ศักยภาพของประเทศไทยและในอนาคตเมื่อมีการปลดล็อก รศ.ภญ.ดร.สรกนก กล่าวว่า อุตสาหกรรมในประเทศในส่วนของกัญชาจะโฟกัสไปที่ “ผลิตภัณฑ์ยา” เพราะสามารถทำประโยชน์และมีมูลค่าสูงกว่าผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น แต่สิ่งที่ยากคือ สุดท้ายแล้วจะสามารถขึ้นทะเบียนเพื่อวางจำหน่ายได้หรือไม่ เมื่อเทียบกับพืชกัญชงกลับไปได้ทุกอุตสาหกรรมทั้งยา อาหาร อาหารเสริม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์ 

161348168274

เล็งเปิดบริษัทของมหาวิทยาลัย

“หากเอกชนประสงค์ขอรับการถ่ายทอดนวัตกรรม จะสามารถทำผ่านกระบวนการถ่ายทอดสิทธิ์ ขณะที่ทางคลัสเตอร์ฯ จะมีบางส่วนที่สปินออฟเป็นบริษัทของมหาวิทยาลัยที่จะต้องตกลงร่วมกัน เพื่อความสะดวกดำเนินงานร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน ทั้งการร่วมวิจัย การต่อยอดจากสิ่งเดิมที่มีหรือสิ่งใหม่ และสุดท้ายคือองค์ความรู้ เช่น การบริการทางวิชาการ เช่น การถ่ายทอดความรู้ด้านการตรวจวิเคราะห์ เป็นต้น”

161348169481

รศ.ภญ.ดร.สรกนก มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมคือ ภาครัฐต้องพยายามลดขั้นตอนความยุ่งยากต่างๆ อีกทั้งควรทำระบบออนไลน์เพื่อให้เห็นไทม์ไลน์ชัดเจน อาทิ การติดตามขั้นตอนต่างๆ และสุดท้ายความชัดเจนในเรื่องของกฎระเบียบว่าจะมีการปลดล็อกอีกหรือไม่ โดยรับฟังความคิดเห็นจากเอกชนแบบรอบด้าน  ส่วนของภาคเอกชนต้องคิดให้ดีว่าไม่ใช่แค่ด้านกำไร แต่จะต้องคิดว่าเกิดประโยชน์อะไร หากนำประโยชน์เป็นตัวตั้งด้านสินทรัพย์ก็จะตามมา และทำการบ้านในเรื่องของตลาด มองให้ลึกถึงผลกระทบ จึงจะทำให้งานวิจัยกัญชามีมูลค่าสูงขึ้น