โควิดฉุดรายได้ชุมชนพื้นที่พิเศษ ‘อพท.’ ลุยยกเครื่องแหล่งเที่ยวสู่สากล

โควิดฉุดรายได้ชุมชนพื้นที่พิเศษ  ‘อพท.’ ลุยยกเครื่องแหล่งเที่ยวสู่สากล

วิกฤติโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อรายได้ท่องเที่ยวในกลุ่มกระแสหลักเท่านั้น แต่ยังสะเทือนถึง “รายได้ท่องเที่ยวชุมชน” ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนให้เกิดการกระจายรายได้แก่ชุมชนผู้เป็นเจ้าของบริการและแหล่งท่องเที่ยว

น.อ.อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เล่าว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้ของท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่พิเศษ 6 แห่ง จำนวน 20 ชุมชนที่ อพท.ดูแลทั่วประเทศ ทำให้รายได้ต่อครัวเรือนลดลง โดยปี 2563 รายได้เฉลี่ยของชุมชนเหลือ 814,775.6 บาท/ครัวเรือน/ปี ลดลง 46.54% จากปีก่อนหน้าที่มีรายได้เฉลี่ย 1,524,109 บาท/ครัวเรือน/ปี

ทั้งนี้มีหลายชุมชนที่รายได้ปรับลดลงจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เช่น พื้นที่ใน 4 จังหวัดที่เป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงสร้างสรรค์ ได้แก่ เลย สุโขทัย น่าน และสุพรรณบุรี ทั้งหมดมีการลดลงของรายได้ชุมชนค่อนข้างมาก ทั้ง 4 จังหวัดท่องเที่ยวนี้มีรายได้ปี 2563 ประมาณ 10,592 ล้านบาท ลดลง 41.33% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

“การลดลงอย่างมากของรายได้ท่องเที่ยวชุมชน เกิดจากไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปในพื้นที่ช่วงโควิด-19 ระบาด”

ยกตัวอย่างชุมชนที่ อพท.ดูแล เช่น ชุมชนกกสะทอน จ.เลย ปกติจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาจำนวนมากเกือบทั้งปี โดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่นฤดูหนาว แต่เมื่อมีโควิด-19 ระบาดในช่วงล็อคดาวน์ต้นปี 2563 นักท่องเที่ยวก็หายไป ไม่มีการเดินทาง เมื่อถึงช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมาเริ่มเห็นกระแสการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ แต่ก็ต้องมาเจอโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้รายได้ท่องเที่ยวชุมชนกกสะทอนลดลงจากปีก่อนหน้า 69.38%

ส่วนชุมชนที่ยังมีรายได้ท่องเที่ยวค่อนข้างดี ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก คือชุมชนบ้านสลักคอก เกาะช้าง จ.ตราด ด้วยภูมิประเทศเป็นเกาะ แม้จะมีการล็อคดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือน

“ในส่วนของรายได้ที่ลดลงในภาพรวมนั้นก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการกระจายรายได้ เพราะการกระจายรายได้ของชุมชนยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ดังนั้นในปี 2564 อพท.ตั้งเป้าหมายพัฒนาชุมชนต่างๆ ให้มีรายได้ไม่ติดลบเป็นอย่างน้อย โดยมีเป้าหมายเติบโตประมาณ 0.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว”

ผู้อำนวยการ อพท. เล่าเพิ่มเติมว่า อพท.ได้รับมอบนโยบายการทำงานจาก พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้พัฒนาช่องทางการหารายได้เป็นของตัวเองด้วยในปี 2564 เพื่อลดภาระด้านงบประมาณ และมีรายได้พึ่งพาตัวเอง รวมทั้งยังสามารถนำรายได้ไปพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ของ อพท.ได้ด้วย

เบื้องต้นจะหาทางส่งเสริมการพัฒนาสินค้าและบริการท่องเที่ยว รวมทั้งการนำหลักสูตรด้านการพัฒนาความรู้ทางด้านการจัดการท่องเที่ยวไปเผยแพร่ต่อ แม้ว่าจะมีรายได้ไม่มากนัก แต่ก็ช่วยให้ อพท.มีรายได้เพิ่มเติมเข้ามา

ส่วนแผนงานในปี 2564 อพท.อยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และเตรียมประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษแห่งใหม่ 3 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พื้นที่จังหวัดเชียงราย และพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะต้องผลักดันออกมาให้ได้ก่อน 1 แห่งเป็นการนำร่อง

ด้านภารกิจการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ มุ่งเน้นพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) ในพื้นที่พิเศษจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ตำบลเกาะหมาก จ.ตราด พื้นที่ตำบลนาเกลือ จ.ชลบุรี พื้นที่ตำบลเมืองเก่า จ.สุโขทัย พื้นที่ตำบลเชียงคาน จ.เลย พื้นที่ตำบลในเวียง จ.น่าน และพื้นที่เทศบาลตำบลอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โดยเป้าหมายสำคัญในปี 2564 คือการผลักดันให้พื้นที่ตำบลเมืองเก่า จ.สุโขทัย เป็น “Global Sustainable Destinations Top 100” หรือติด 1 ใน 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนที่ดีที่สุดในโลกให้ได้! เพื่อให้อยู่ในความสนใจของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

นอกจากนี้ยังเดินหน้าขับเคลื่อนเมืองตามแนวทางเครือข่ายเมืองท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (ครีเอทีฟ ซิตี้) ในปีนี้จะผลักดัน 2 จังหวัด ส่งประกวดเป็นเครือข่ายครีเอทีฟซิตี้กับองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ “ยูเนสโก” ได้แก่ จ.น่าน เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน และ จ.สุพรรณบุรี เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีแห่งใหม่ของประเทศไทย จากที่เคยได้รับการประกาศมาแล้ว 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ, จ.ภูเก็ต เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร และ จ.เชียงใหม่ กับ จ.สุโขทัย ที่เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน