การเข้าถึงวัคซีน COVID-19 กับผลกระทบทางเศรษฐกิจ

การเข้าถึงวัคซีน COVID-19 กับผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ด้วยความจำกัดของวัคซีน แต่ละประเทศมีโอกาสได้รับวัคซีนไม่พร้อมกัน บางประเทศได้เร็ว บางประเทศได้ช้า

ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 วัคซีนคือหัวใจใช้รับมือการแพร่ระบาด ประเทศใดจัดหาวัคซีนได้เร็ว ในจำนวนที่เพียงพอ ย่อมลดความสูญเสีย ทั้งผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิต ตลอดจนทำให้เศรษฐกิจกลับมาดำเนินการตามปกติหรือใกล้เคียงปกติได้

ทั้งนี้ นับแต่เกิด COVID-19 IMF ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกปี 2020 หดตัวไปแล้ว 4.4% โดยคาดว่าปี 2021 จะกลับมาโตได้ที่ 5.2% ปัจจัยหลักของการเติบโตมาจากเศรษฐกิจอินเดียและจีนที่คาดว่าจะโตที่ 8.8% และ 8.2% ตามลำดับ

นอกจากนี้ ตามที่ ดร.แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ ให้ความเห็น การฉีดวัคซีนให้ได้เร็วและครอบคลุมมากสุด ยังช่วยชะลอการเกิดขึ้นของไวรัสกลายพันธุ์ด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วยความจำกัดของวัคซีน แต่ละประเทศมีโอกาสได้รับวัคซีนไม่พร้อมกัน บางประเทศได้เร็ว บางประเทศได้ช้า Duke Global Health Innovation Center ประเทศสหรัฐอเมริกา ประมาณการว่า อย่างเร็วสุด ต้องใช้เวลาอีก 3 ปี หรือเข้าปี 2024 โลกถึงจะผลิตวัตซีนได้เพียงพอ

แต่ละประเทศจะได้วัคซีนเมื่อไร

ล่าสุด (28 ม.ค. 2021) นิตยสาร The Economist เผยแพร่บทความเรื่อง “Vaccine nationalism means that poor countries will be left behind” พูดถึงสถานการณ์การเข้าถึงวัคซีนในแต่ละประเทศทั่วโลก

ในบทความ พูดถึงผลวิเคราะห์ของ Economist Intelligence Unit (EIU) ที่คาดการณ์ช่วงเวลาที่แต่ละประเทศจะได้รับวัคซีน โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม

กลุ่มแรก ประเทศฐานะดี เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สหภาพยุโรป ประชากรกลุ่มเสี่ยงสามารถได้รับวัคซีนตั้งแต่กลาง มี.ค. 64 ยกเว้นสหภาพยุโรปที่อาจเลื่อนออกไปเล็กน้อย จากความล่าช้าในการส่งมอบวัคซีนจาก AstraZeneca

กลุ่มสอง ประเทศฐานะดีอื่นๆ ทยอยได้รับภายใน มิ.ย. 64

กลุ่มสาม ประเทศรายได้ขั้นกลางส่วนใหญ่ ไม่ได้รับวัคซีนจนปลายปีหน้า (ปี 2565) ในรายงานระบุว่ายกเว้นรัสเซียที่มีวัคซีน Sputnik V ของตัวเอง ส่วนจีนและอินเดีย แม้ผลิตวัคซีนได้เอง แต่อาจไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับปริมาณประชากร อย่างไรก็ตาม แม้น้อยหรือไม่ครอบคลุม อินเดียยังวางแผนฉีดวัคซีนให้ได้ 300 ล้านคนภายใน ก.ค. ปีนี้ (2021)

กล่มสี่ ประเทศรายได้ต่ำ กว่าได้วัคซีนในจำนวนที่เพียงพอกับประชากรตัวเอง เพื่อให้สังคมกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ต้องรอถึงปี 2566 หรือ อีก 2 ปีเป็นอย่างน้อย

ประเทศส่วนใหญ่ที่ได้วัคซีนเร็ว จองซื้อไว้ตั้งแต่ปีก่อน (2563) เพราะประเมินได้ว่า ภายใต้ความต้องการทั่วโลกที่สูง แต่กำลังการผลิตมีจำกัด เมื่อวัคซีนผลิตออกมาสำเร็จ ต้องไม่เพียงพอแน่ๆ

ทั้งนี้พบว่า จาก 12,500 ล้านโดสที่บริษัทผู้ผลิตวัคซีน คาดว่าจะผลิตในปีนี้ (2564) เกินครึ่งหรือกว่า 6,400 ล้านโดสถูกจองโดยประเทศร่ำรวยไปตั้งแต่อยู่ในช่วงทดลองแล้ว หลายประเทศจองซื้อเกินความจำเป็นจากจำนวนกลุ่มเสี่ยงที่ประเทศตนเองต้องใช้ในระยะแรกด้วยซ้ำ

สอดคล้องกับ Duke Global Health Innovation Center ที่ประเมินว่า นับถึงกลางเดือน ม.ค. 2564 กลุ่มประเทศร่ำรวยไม่กี่ประเทศ ที่มีประชากรรวมเพียง 16% ของประชากรโลก ซื้อวัคซีนไปแล้วถึง 60% ของที่ผลิตออกมา

Vaccines Nationalism (วัคซีนชาตินิยม)

จากความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีน ดร.เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาเตือนว่า ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนของแต่ละประเทศ ส่งผลให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยาวนานขึ้น ส่งผลร้ายต่อทั้งสุขภาพมนุษย์และเศรษฐกิจโดยรวม

บางคนเรียกสถานการณ์นี้ว่า Vaccines Nationalism หรือวัคซีนชาตินิยม กล่าวคือ ประเทศใดประเทศหนึ่งเร่งจัดหาวัคซีนเป็นจำนวนมากให้เพียงพอกับประชาชนในประเทศตัวเอง เช่น ทำข้อตกลงจัดซื้อล่วงหน้าระหว่างรัฐบาลกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนไว้ก่อนเป็นจำนวนมาก โดยมุ่งเน้นไปที่ผลประโยชน์ประเทศตนเองเป็นหลัก

สำหรับประเทศยากจนหลายประเทศ ต้องพึ่งโครงการ COVAX (Covid-19 Vaccines Global Access Facility) หรือโครงการเพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ระดับโลก ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนา จัดซื้อ และส่งวัคซีนไปยังประเทศต่างๆ โดยมี WHO เป็นผู้นำ ร่วมกับองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน (The Vaccine Alliance หรือ Gavi) ที่ก่อตั้งโดยบิลและเมลินดา เกตส์ และกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations หรือ Cepi) ปัจจุบัน COVAX มีประเทศเข้าร่วมกว่า 180 ประเทศ

อย่างไรก็ตามจำนวนวัคซีนที่ COVAX จัดหาให้ประเทศเหล่านี้ดูไม่เพียงพอ เพราะจัดหาให้ได้ คิดเป็นเพียง 20% ของประชากรในแต่ละประเทศ โดยอาจไม่ได้รับในทีเดียว ต้องใช้เวลานานและหลายครั้งในการส่งมอบ

นิตยสาร The Economist สรุปว่า ตราบใดที่ประเทศฐานะดียังได้วัคซีนไม่ครบตามที่ต้องการ ประเทศยากจนก็ยังต้องรอวัคซีนต่อไป

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ในแง่ผลกระทบทางเศรษฐกิจ EIU ประเมินว่า จากการที่ประเทศรายได้สูงได้รับวัคซีนก่อนจะช่วยให้เศรษฐกิจครึ่งหลังของปี 2564ประเทศเหล่านี้ดีขึ้น ช่วยฉุด GDP โลกขึ้น อย่างไรก็ตามประเทศรายได้ต่ำยังคงต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์หรือควบคุมต่อไป ซึ่งส่งผลต่อการค้าโลก เศรษฐกิจรวมของโลกอยู่ดี

RAND Europe ประเมินผลกระทบของวัคซีนต่อเศรษฐกิจ ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ พบว่า

- หากเกิด Vaccine nationalism รุนแรง ที่ต่างคนต่างแย่งวัคซีน และมีแต่ประเทศฐานะดี ที่ได้วัคซีน ประเทศฐานะไม่ดี เข้าไม่ถึงวัคซีน จะก่อต้นทุนต่อเศรษฐกิจ (GDP) โลก 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

- กรณีเฉพาะประเทศกลุ่มรายได้ต่ำสุดเข้าไม่ถึงวัคซีน ก่อต้นทุนต่อเศรษฐกิจ (GDP) โลก 60,000 - 340,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

ผลการศึกษาที่น่าสนใจของ RAND Europe คือ มันคุ้มค่าสำหรับประเทศร่ำรวยในการสนับสนุนประเทศยากจนให้เข้าถึงวัคซีน เพราะทุก 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ประเทศร่ำรวยสนับสนุนค่าวัคซีนให้ประเทศยากจน ประเทศร่ำรวยจะได้ผลประโยชน์คืนกลับมา 4.8 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ในทางตรงข้าม หากปล่อยให้ประเทศยากจนเข้าไม่ถึงวัคซีน จะเป็นผลร้ายต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม งานวิจัยของ NBER เรื่อง The Economic Case for Global Vaccinations: An Epidemiological Model with International Production Networks วิเคราะห์ว่า หากประเทศรวยได้วัคซีนครบภายในกลางปี 2564 แต่ประเทศยากจนส่วนใหญ่ยังไม่ได้วัคซีน เศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบที่ 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ คือผู้จ่ายต้นทุนนี้

ผลกระทบต่อประเทศไทยจากการมีวัคซีนเร็วหรือช้า

ประการสุดท้าย ตามรายงานข่าวที่โฆษก ศบค. การที่ประเทศมีวัคซีนเร็วหรือช้าไม่ต่างกัน สิ่งที่น่าคิดคือ ถ้าไม่ต่างกัน ทั่วโลกจะแย่งวัคซีนกันทำไม

การได้วัคซีนเร็ว และครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ ช่วยให้ประชาชนประเทศนั้นลดความเสี่ยงเสียชีวิต และที่สำคัญ ช่วยให้คนกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ รักษาเศรษฐกิจไว้ได้

วัคซีนสำคัญต่อเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลายมิติ

1. ลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขทั้งของรัฐและประชาชน

2. ลดความสูญเสียต่อชีวิตและการเจ็บป่วย ซึ่งส่งผลต่อผลิตภาพทางเศรษฐกิจรวมของประเทศ และการหารายได้ของแต่ละครัวเรือน

3. ลดต้นทุนด้านงบประมาณที่รัฐต้องใช้เพื่อเยียวยาหรือรักษาเศรษฐกิจ

4. ช่วยให้ผู้คนและเศรษฐกิจกลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม หรือใกล้เคียงเดิมมากสุด

..ที่เคยค้าขาย ก็กลับไปค้าขายได้ ที่เคยเป็นแอร์ สจ๊วต นักบิน พนักงานโรงแรม หมอนวด นักดนตรี พนักงานเสิร์ฟ ใครทำอาชีพอะไร ก็กลับไปทำอาชีพตนเองได้ ชีวิตมีคุณค่า นายจ้างเลี้ยงลูกน้องไหว ลูกน้องมีงานทำ เลี้ยงครอบครัวได้ เพราะตราบใดที่เราไม่มีวัคซีนเพียงพอ หลายอาชีพ หลายธุรกิจ เช่น สายการบิน โรงแรม ไม่มีทางกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ

ดังนั้นรัฐบาลไทยต้องเร่งจัดหาวัคซีน เพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพและเศรษฐกิจ และประการสำคัญสุดคือ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน