สูติแพทย์เผยอัตราเจริญพันธุ์รวมของไทยวิกฤติ

สูติแพทย์เผยอัตราเจริญพันธุ์รวมของไทยวิกฤติ

อัตราเจริญพันธุ์รวมไทยวิกฤติ  อยู่ที่ 1.5 คน หวั่นแตะ 1.3คนในอีก 10 ปี  พ่วงปัญหาแม่อายุมาก ส่งผลต่อเด็กที่เกิด ชงประเทศไทยยอมรับ “การมีบุตรยาก” เป็นโรค เปิดทางเข้าถึงสิทธิการรักษามีบุตรฟรี โดยไม่ต้องรอให้อายุมาก

ศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์เด็กเกิดใหม่ของประเทศไทยขณะนี้ต่ำกว่า 600,000 รายต่อปี ถือว่ามีการลดลงอย่างมากเป็นครั้งแรกในประเทศไทย อัตราการเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rates - TFR)หรือ จำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่สตรีวัยเจริญพันธุ์คนหนึ่งจะมีได้ตลอดวัยเจริญพันธุ์ อยู่ที่ 1.51 คน ถือว่าต่ำมาก ซึ่งองค์การอนามัยโลกหรือฮู และธนาคารโลก บอกว่าตัวเลขที่ดีต้องอยู่ที่ 2.1 คน หากต่ำกว่านี้จะมีปัญหา 2 ประการ คือ 1. เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว และ2. ปัญหาแรงงานข้ามชาติ ซึ่งก็เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ปัญหาแล้ว

 “ก่อนหน้านี้ประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการเจริญพันธุ์รวมอยู่ที่ 1.6 คน ผู้นำประเทศประกาศว่าจะถึงหายนะแน่หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร จนสุดท้ายอาจจะถึงขั้นไม่มีคนญี่ปุ่นอยู่ในประเทศญี่ปุ่นเลย จึงออกมาตรการต่างๆ แต่สุดท้ายอัตราการเกิดยังลดลง ส่วนไทยเคยมีอัตราเจริญพันธุ์รวม 5.1 คน วันนี้ลงมาเรื่อยๆ จน 1.5 คน แต่ยังไม่ได้ทำอะไร และถ้าไม่ทำอะไรเลยจะลงไปถึง 1.3 คนภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี” ศ.นพ.กำธร กล่าว  

ศ.นพ.กำธร กล่าวด้วยว่า ไม่เพียงแต่อัตราการเกิดในประเทศไทยจะน้อยลง  ยังพบว่ามีจำนวนมากที่เกิดจากแม่ที่มีอายุมาก ซึ่งส่งผลกระทบกับเด็กที่เกิดมา เช่น เป็นโรคดาวน์ซินโดรม เป็นต้น โรคนี้เกิดจากกรรมพันธุ์ก็จริง แต่จะพบมากขึ้นเมื่อแม่มีการตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก โดยหากเกิดจากแม่ที่อายุต่ำกว่า 35 ปี โอกาสพบ 1 ต่อ 800 ของอัตราการเกิด ถ้าแม่อายุมากกว่า 35 ปี โอกาสพบได้ 1 ต่อ 350 และถ้าแม่อายุ 40 ปี จะอยู่ที่ 1 ต่อ 100 ของอัตราการเกิด ถือว่าเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า เมื่อแม่อายุมากขึ้น จึงอยากเสนอให้มีการเข้าถึงการรักษาเพื่อให้มีบุตรโดยไม่ต้องรอให้อายุมาก เช่น แต่งงานระยะหนึ่งไม่มีลูกก็ไปพบแพทย์ได้ เพื่อให้คุณแม่ที่มีความพร้อมสามารถมีบุตรได้ก่อนที่จะมีอายุเพิ่มมากขึ้น

            ตัวเลขในต่างประเทศที่ให้สิทธิผู้หญิงเข้ารับการปรึกษา และรักษาการมีบุตรยาก เช่น ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศในยุโรป สามารถเข้ารับการรักษาได้เฉลี่ยที่อายุ 32 ปี แต่ประเทศไทยกว่าจะได้รับการรักษาเมื่ออายุเฉลี่ย 38 ปี ถือว่าใจเย็นเกินไป ไม่ทัน ยิ่งอายุมากยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่ทารกจะเกิดมาเป็นดาวน์ซินโดรม ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญคือประเทศไทยไม่ได้ถือว่าการมีบุตรยากเป็นโรคจึงไม่ได้ให้สิทธิในการเข้ารับการรักษาฟรี ทำให้เสียเงินจำนวนมาก บางคนเข้าไม่ถึงการรักษา ดังนั้นประเทศไทยต้องตั้งต้นจากการพิจารณาให้การมีบุตรยากเป็นโรคเสียก่อน จากนั้นจึงจะมีการพิจารณาเรื่องสิทธิประโยชน์ตามมา