OR ไอพีโอประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย รายย่อยจองซื้อสูง5.3แสนราย

OR ไอพีโอประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย รายย่อยจองซื้อสูง5.3แสนราย

นับตั้งแต่ บริษัทปตท.น้ำมันและค้าปลีก หรือ OR เปิดให้นักลงทุนรายย่อยจองซื้อหุ้นผ่านตัวแทนจำหน่ายหุ้น 3 ธนาคาร (BBL-KBANK-KTB)โดยวิธีจัดสรรหุ้นสำหรับผู้จองซื้อรายย่อยจะดำเนินการโดยใช้วิธี Small Lot First

ซึ่งเป็นวิธีจัดสรรหุ้นให้แก่นักลงทุนทุกคนที่ต้องการอย่างทั่วถึง โดยในรอบแรกจัดสรรที่กำหนดจองซื้อขั้นต่ำ ซึ่งทุกคนจะได้หุ้นตามจำนวนขั้นต่ำ 300 หุ้น และในรอบถัด ๆ ไป ผู้จองซื้อทุกคนได้รับการจัดสรรเพิ่มครั้งละ 100 หุ้นจนหุ้นหมด ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ของ บริษัท เซ็ทเทรด ดอท คอม จำกัด ระยะเวลา 10 วัน ในกรอบราคา 16-18 บาท โดยปิดการจองเที่ยงวัน 2 ก.พ. ภายหลังการปิดจองซื้อพบว่ามีผู้จองซื้อรายย่อยแสดงความสนใจลงทุนเป็นจำนวนมาก มีจำนวนรายการที่จองซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายหุ้น 3 แบงก์ ทั้งช่องทางการจองซื้อที่สาขาและช่องทางออนไลน์รวมกว่า 530,000 รายการ นับว่าเป็นการทำรายการจองซื้อหุ้นที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ของตลาดหุ้นไทย 

สำหรับนักลงทุนจองซื้อหุ้นจะได้รับจัดสรรมากสุดอยู่ที่ 4,500 หุ้น ต่อคน  โดยOR เสนอขายครั้งนี้ไม่เกิน 3,000 ล้านหุ้น แบ่งเป็นเสนอขายแก่นักลงทุนรายย่อย 1,036.94 ล้านหุ้น (รวมกรีนชู) เสนอขายแก่นักลงทุนสถาบันที่จองซื้อแบบเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) ที่จองซื้อในประเทศไทย 1,213.05 ล้านหุ้น และ Cornerstone Investors ที่จองซื้อในต่างประเทศ 450 ล้านหุ้น และเสนอขายหุ้นแก่ผู้ถือหุ้นเดิม PTT ที่ได้รับสิทธิจองซื้อหุ้น OR จำนวน 300 ล้านหุ้น  และในวันนี้ (11 ก.พ.2564) หุ้น OR เข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)

จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ OR เปิดแผนการดำเนินงาน โดยตั้งงบลงทุน 5 ปีข้างหน้า (2564-2568) มูลค่า 74,600 ล้านบาท สำหรับขยายการลงทุนใน 3 ธุรกิจหลัก แบ่งเป็นลงทุนในธุรกิจน้ำมัน 34.6% ธุรกิจค้าปลีกและบริการอื่นๆ (Non-Oil) 28.6% ธุรกิจต่างประเทศ 21.8% และธุรกิจอื่นๆ 15% ที่เป็นการเปิดโอกาสในธุรกิจใหม่

โดย 1.ธุรกิจน้ำมัน วางเป้าในปี 2568 สถานีบริการน้ำมัน PTT เป็น 3,100 แห่ง จากปัจจุบัน 1,968 แห่ง โดยจะใช้กลยุทธ์ลงทุนต่ำด้วยการให้ดีลเลอร์ที่ต้องการขยายสถานีบริการเป็นผู้ลงทุนหลักในสัดส่วน 80% และบริษัทลงทุน 20% 

2.ธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ (Non-Oil) วางเป้าในปี 68 มีร้านกาแฟแบรนด์ คาเฟ่ อเมซอน (Cafe Amazon) เพิ่มเป็น 5,800 สาขา จากปัจจุบันที่มีอยู่ 3,168 สาขา  รวมทั้งจะขยายฐานรายได้และขีดความสามารถในการทำกำไรจากธุรกิจ Non oil ด้วยการเพิ่มความหลากหลายของบริการอาหารและเครื่องดื่มในปั๊ม โดยเฉพาะการซื้อแบรนด์ใหม่เข้ามาเพิ่ม พร้อมไปกับแผนขยายร้านเดิมที่มีอยู่ขยายร้าน Texas Chicken 20 สาขาต่อปี

3.ธุรกิจต่างประเทศ เน้นขยายลงทุนไปยังกลุ่มอาเซียน อาทิ CLMV, ฟิลิปปินส์ เป็นการขยายทั้งสถานีบริการน้ำมันและร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน อีก 310 แห่ง ซึ่งหลังบริษัทมีการเปลี่ยนรูปแบบลงทุนมาเป็นผ่านแฟรนไชส์ ทำให้การขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว โดยในเวียดนามได้ร่วมทุนกับกลุ่มเซ็นทรัล ขยายสาขาร้านคาเฟ่อะเมซอน ในทำเลหลัก ทำให้ปัจจุบันขยายธุรกิจไปต่างประเทศมีอยู่ 10 ประเทศแล้ว ทำให้ปัจจุบัน คาเฟ่ อเมซอน เป็นแบรนด์ร้านกาแฟที่ใหญ่ระดับโลก โดยในแง่ของจำนวนสาขาอยู่ที่อันดับ 6 ของโลก และ เพื่อพิจารณาในแง่ของรายได้เป็นอันดับที่ 12 ของโลก