‘ผู้นำ’ ที่ต้องการในยุคโควิด ควรเป็นอย่างไร?

‘ผู้นำ’ ที่ต้องการในยุคโควิด ควรเป็นอย่างไร?

ในสถานการณ์ของโควิด-19 "ผู้นำ" ควรมีคุณสมบัติสำคัญอย่างไร? และควรจะแสดงออกมาอย่างไรบ้าง?

ภายใต้สภาวการณ์ที่แตกต่างกัน ก็มักจะนำไปสู่ความต้องการคุณลักษณะของผู้นำที่แตกต่างกัน จริงอยู่ที่องค์กรย่อมไม่สามารถเปลี่ยนผู้นำไปตามทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ตัวผู้นำเองจะต้องปรับตัวเอง มีการเรียนรู้ และสามารถแสดงออกถึงคุณลักษณะสำคัญที่โดดเด่นที่เหมาะกับสถานการณ์นั้นๆ ออกมาได้ คำถามคือแล้วในสถานการณ์ของโควิด-19 นั้น คุณสมบัติสำคัญที่ผู้นำควรจะแสดงออกมาคืออะไร?

จากหลายๆ งานวิจัยพบว่าคุณสมบัติสำคัญของผู้นำในช่วงโควิดนั้น จะเป็นคุณสมบัติที่เกี่ยวข้องกับ “คน” (หรือบุคลากรในองค์กร) เป็นหลัก เริ่มจากคุณสมบัติที่สำคัญ (แต่หลายครั้งอาจจะถูกละเลย) นั้นคือความโอบอ้อมอารี (Kindness) โควิดทำให้ชีวิตทุกคนได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อยและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ไม่ได้วางแผนมาก่อน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมนำความเครียดมาสู่พนักงาน (ยังไม่นับความเครียดที่เกิดขึ้นจากความเสี่ยงในการติดโควิดอีก)

ดังนั้น ในยุคที่ทุกคนต่างต้องปรับตัวและเครียดนั้น การที่ผู้นำสามารถแสดงออกและมีความจริงใจในเรื่องของความโอบอ้อมอารี ความเมตตา ความมีน้ำใจ ต่อลูกน้องในองค์กรจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

ยิ่งถ้าองค์กรมีนโยบาย Work from Home ทำให้เจ้านาย ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน ไม่ได้มีโอกาสเข้ามาพบเจอ พูดคุยกัน ผู้นำยิ่งควรที่จะแสดงถึงความใส่ใจในสภาพจิตใจและความเป็นอยู่ของพนักงานมากขึ้น ท่านที่เป็นผู้นำและบุคลากรในองค์กรส่วนใหญ่ทำงานผ่านระบบทางไกลนั้น ลองถามตนเองว่าได้มีพูดคุย สอบถาม แสดงออกถึงความห่วงใยต่อบุคลากรของตนเองบ้างหรือไม่? จริงอยู่ที่ผู้นำได้มีโอกาสเจอหน้าลูกน้องผ่านการประชุมทางระบบดิจิทัล แต่การประชุมออนไลน์นั้นมักจะเน้นประสิทธิภาพและไม่มีโอกาสที่ผู้นำจะแสดงถึงความห่วงใยของต่อลูกน้องแต่ละคนได้อย่างสะดวกเท่ากับเจอหน้ากันจริงๆ

อย่างไรก็ดี วิกฤติจากโควิดที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้นำจะต้องให้ความสนใจกับการทำให้องค์กรอยู่รอด และแก้ปัญหาประจำวันและเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งอาจจะละเลยต่อการคิดถึงสวัสดิภาพ ความเป็นอยู่ และสุขภาพกายใจของพนักงาน แต่ถ้าผู้นำสามารถแสดงออกถึงความโอบอ้อมอารีนั้น จะไม่ได้ส่งผลต่อตัวพนักงานเป็นรายบุคคลเท่านั้น แต่จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ของความโอบอ้อมอารีไปทั่วทั้งองค์กร 

เนื่องจากงานวิจัยชี้ออกมาแล้วว่า ความโอบอ้อมอารีนั้นสามารถที่จะแพร่กระจายและติดต่อกันไปได้ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกที่ชี้ให้เห็นว่าเจ้านายที่มีความโอบอ้อมอารีนั้นจะนำไปสู่ขวัญกำลังใจ ความผูกพันของพนักงานที่เพิ่มขึ้น การลดการขาดงาน และสามารถรักษาพนักงานไว้ได้นานมากขึ้น แม้กระทั่งถึงขั้นที่ระบุออกมาว่าความโอบอ้อมอารีของเจ้านายนั้นจะช่วยทำให้พนักงานมีชีวิตที่ยาวนานขึ้น เนื่องจากจะไปช่วยลดความเครียดและทำให้สุขภาพหัวใจดีขึ้น

นอกจากเรื่องของความโอบอ้อมอารีแล้ว คุณลักษณะอื่นๆ ที่พนักงานต้องการจากผู้นำของตนเองในช่วงสถานการณ์โควิดนั้น ก็มักจะเป็นคุณลักษณะที่เป็นด้านที่เกี่ยวข้องกับคนและจิตใจเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมีสติ (แสดงว่าผู้นำจะต้องไม่โวยวาย แสดงออกถึงความขาดสติ) หรือผู้นำที่มีความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) หรือผู้นำที่มีความจริงใจ บริสุทธิ์ใจ ไม่เสแสร้ง

ผู้นำที่มีคุณลักษณะของความโอบอ้อมอารี ความเห็นอกเห็นใจ ความจริงใจ และการมีสติ จะทำให้พนักงานเกิดความไว้วางใจ (Trust) ต่อตัวผู้นำ ซึ่งความไว้วางใจนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บุคลากรในองค์กรยอมที่จะทำงานอย่างทุ่มเทและเต็มที่ให้กับผู้นำที่สามารถไว้วางใจได้

มีประเด็นที่น่าสนใจว่าในยุคที่ดิจิทัลเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างก้าวไกลนั้น กลับปรากฏว่าทักษะหรือคุณลักษณะที่เกี่ยวข้องกับความเป็น “คน” กลับเป็นคุณลักษณะที่สำคัญของผู้นำที่เป็นที่ต้องการ สาเหตุหลักนั้นนอกเหนือจากโควิดที่ทำให้พนักงานต้องการผู้นำที่มีความเป็น “คน” มากขึ้นแล้ว อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากพัฒนาของดิจิทัลเทคโนโลยี ที่ตอนนี้ทุกอย่างจะเป็นเรื่องของข้อมูล หรือ AI พนักงานในองค์กรกลับต้องการผู้นำที่สามารถช่วยสร้างสมดุลให้กับชีวิตมากขึ้น