อีลิทการ์ดยอดสมาชิกพุ่ง มั่นใจปี64‘กำไรครั้งแรก’

อีลิทการ์ดยอดสมาชิกพุ่ง  มั่นใจปี64‘กำไรครั้งแรก’

'อีลิทการ์ด’ มั่นใจปีงบประมาณ 64 ล้างขาดทุนสะสมสำเร็จ หลังยอดขายบัตรสมาชิก 4 เดือนแรกพุ่ง “นักธุรกิจจีนในเมียนมา” สนใจสูง หวังหลบความวุ่นวายทางการเมือง ขณะที่ อีลิท เฟล็กซิเบิ้ล วัน จับมือ 10 อสังหาฯ จับนักลงทุนต่างชาติ

นายสมชัย สูงสว่าง ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ผู้ดำเนินโครงการบัตรสมาชิก ไทยแลนด์ อีลิท กล่าวว่า บริษัทฯมั่นใจว่าภายในปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.2563-ก.ย.2564) จะล้างขาดทุนสะสมที่มีต่อเนื่องตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทฯเมื่อปี 2546 หรือกว่า 18 ปีได้ทั้งหมด และจะเป็นปีที่มีกำไรเป็นครั้งแรก โดย ณ สิ้นปีงบฯ2563 บริษัทฯขาดทุนสะสมอยู่ 246.15 ล้านบาท

“เหตุผลสำคัญที่จะทำให้บริษัทฯล้างขาดทุนสะสมได้ เป็นเพราะยอดการจำหน่ายบัตรสมาชิกไทยแลนด์ อีลิทในปีงบฯนี้มีแนวโน้มสูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 2,607 ใบ โดยตั้งแต่เริ่มต้นปีงบฯนี้มาได้เพียง 4 เดือน (ต.ค.2563-ม.ค.2564) บริษัทฯสามารถขายบัตรสมาชิกได้แล้วถึง 2,066 ใบ”

สำหรับชาวต่างชาติที่สมัครบัตรสมาชิกไทยแลนด์ อีลิท อันดับ 1 ยังคงเป็นชาวจีน แม้กระทั่งล่าสุดที่มีการทำรัฐประหารในประเทศเมียนมา ทางบริษัทฯได้รับการติดต่อจากนักธุรกิจชาวจีนในเมียนมา แสดงความต้องการสมัครบัตรสมาชิกฯเพื่อเดินทางมาพำนักในไทย หนีความวุ่นวายทางการเมืองในเมียนมา แต่ยังอยู่ระหว่างการสอบถามและติดต่อกับสถานทูตไทยในเมียนมา เพราะแม้จะสมัครสมาชิกและได้รับการอนุมัติจนได้รับวีซ่าเข้าประเทศไทยแล้วก็ตาม ก็ยังมีเงื่อนไขการเดินทางที่รัฐบาลเมียนมายังประกาศปิดสนามบินนานาชาติอยู่

ส่วนสมาชิกบัตรฯที่เดินทางเข้าไทยมากเป็นอันดับ 1 คืออังกฤษ ขณะที่ชาวจีนเดินทางเข้ามามากเป็นอันดับ 4 โดยผลจากการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในไทย ทำให้สมาชิกบัตรฯชะลอการเดินทางเข้าไทยประมาณ 70% จากที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 อนุญาตให้เข้ามาได้เดือนละ 200 คน เดินทางเข้าไทยแล้วประมาณ 800 คน จากสมาชิกที่เตรียมเข้าไทยมาประมาณ 1,800 คน

ด้านสมาชิกบัตรฯที่พำนักอยู่ในไทยตอนนี้มีประมาณ 3,000 คน จากยอดสมาชิกทั้งหมดประมาณ 10,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ที่ จ.เชียงใหม่, จ.ภูเก็ต และ จ.ชลบุรี มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณวันละ 3,000 บาท อยู่พำนักในไทยยาวเฉลี่ย 4-6 เดือน มีการใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณคนละ 360,000-540,000 บาทต่อรอบการพำนักในไทย เมื่อคำนวณกับจำนวนสมาชิกบัตรฯ 3,000 คนที่อยู่ในไทยตอนนี้ มีการใช้จ่ายประมาณ 1,350 ล้านบาท

นายสมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับความคืบหน้าในการร่วมมือกับกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทย ให้ชาวต่างชาติที่ซื้อคอนโดมิเนียม มูลค่าราคารวมกันไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท จะได้รับสิทธิ์เป็นสมาชิกไทยแลนด์ อีลิท ภายใต้โครงการบัตร Elite Flexible One ล่าสุดมีผู้พัฒนาอสังหาฯ 10 ราย รวม 46 โครงการเข้าร่วม ได้แก่ บริษัท ไรมอนแลนด์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท แสนสิริ จำกัด, บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน), บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด(มหาชน), บริษัท ไซมิส แอสเสท จำกัด (มหาชน), บริษัท วรลักษณ์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน), บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท 888 ทองหล่อ จำกัด และบริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

“เพื่อให้สอดคล้องตรงตามวัตถุประสงค์ของภาครัฐที่มีความต้องการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคธุรกิจอสังหาฯ จึงอนุญาตให้ผู้สมัครที่มีสิทธิครอบครองอสังหาฯแบบสัญญาเช่าหรือ Leasehold สามารถสมัครบัตรสมาชิกในโครงการ Elite Flexible One ได้ด้วย”

และแม้โครงการนี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564-31 ธ.ค.2565 แต่ได้อนุญาตให้ชาวต่างชาติที่ซื้ออสังหาฯตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2563 คือเป็นผู้ที่ซื้อดาวน์ไปแล้ว แต่ยังไม่ได้โอน สามารถสมัครบัตรสมาชิกได้ด้วย เพื่อช่วยโครงการอสังหาฯได้รับการโอนโดยเร็ว ตลอดจนให้รวมโครงการอสังหาฯที่ถูกซื้อกิจการ ทั้งโครงการโดยนักลงทุนหรือบริษัทที่เป็นทั้งของไทยและต่างชาติ สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ด้วย