ก.ล.ต.เตือนคนรุ่นใหม่ ระวัง! ลงทุนคริปโตฯ

ก.ล.ต.เตือนคนรุ่นใหม่ ระวัง! ลงทุนคริปโตฯ

"ก.ล.ต." เตือน คนรุ่นใหม่ระวังการลงทุน "เงินดิจิทัล" หลังพบเปิดบัญชีลงทุนคริปโตพุ่งปีที่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ผู้ปกครองควรเปิดบัญชีให้และต้องดูแลใกล้ชิด

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เผย เยาวชนลงทุนคริปโตฯ ราว 3% จาก 4.7 แสนบัญชี เม็ดเงินลงทุนต่อรายเฉลี่ย 6,500 บาท และเกือบ 50% เป็นคนรุ่นใหม่วัยเริ่มทำงาน อายุต่ำกว่า 30 ปี เม็ดเงินลงทุนต่อรายเฉลี่ย 20,000 บาท เตือนระวังการลงทุนเป็นพิเศษ พร้อมเดินหน้าปรับปรุงกฎหมายหลักทรัพย์และสินทรัพย์ดิจิทัล รองรับการพัฒนาและคุ้มครองผู้ลงทุน

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวในงานสัมมนา ก้าวต่อไปของ ก.ล.ต. : ธุรกิจและการลงทุนในยุคดิจิทัล ว่า สถานการณ์คริปโตเคอเรนซีในช่วงนี้จะเห็นว่ามีความผันผวนสูงมาก และพบว่า ผู้ลงทุนอายุน้อยที่เป็นกลุ่มเยาวชน มีจำนวนพอสมควรหันมาลงทุนคริปโตฯ ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นน้อยครั้งมากที่จะเห็นกลุ่มเยาวชนอายุน้อยเข้ามาลงทุนในตลาดทุน

สาเหตุคาดว่า การลงทุนคริปโตฯมีการเข้าถึงได้ง่ายและสะดวก ดังนั้นขอให้ผู้ลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน ที่ผู้ปกครองต้องเปิดบัญชีให้แทนนั้น ต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษในการลงทุนและดูแลใกล้ชิด และสำหรับคนที่สนใจลงทุน ต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนการลงทุนเสมอ เนื่องจากคริปโตเคอเรนซีไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ เป็นการเก็งกำไร และมีความผันผวนสูง ผู้ลงทุนจึงต้องเข้าใจลักษณะความเสี่ยง และสามารถยอมรับการสูญเสียเกือบทั้งจำนวนได้ จึงควรลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสม และติดตามบัญชีอยู่เสมอ และหากไม่เคยลงทุนในหลักทรัพย์มาก่อนก็ควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ อย่าหลงเชื่อคำโฆษณา และควรเลือกผู้ให้บริการที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.

ปรับปรุงเกณฑ์กำกับไอซีโอ

นางสาวรื่นวดี กล่าวต่อว่า ก.ล.ต. มีแผนในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ประกอบธุรกิจ โดยระยะสั้นจะเป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลไอซีโอให้เทียบเคียงได้กับหลักทรัพย์ เนื่องจากการออกไอซีโอที่ภาคเอกชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจจะเป็น assetbacked ซึ่งหลายๆ กรณีมีความคล้ายกับหลักทรัพย์ เช่น real estate-backed ICO กับ REITs หรือ loan-backed ICO กับหุ้นกู้ securitization เป็นต้น

ในส่วนของตลาดรองและผู้ประกอบธุรกิจ สำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนด listing rules ของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์เรื่องการออกเสนอขายไอซีโอรวมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ trading rules การเปิดเผย ข้อมูลในตลาดและ market surveillance ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี2564

ส่วนระยะกลางของ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างปรับปรุง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ โดยจะกำกับดูแล investment token และ utility token ไม่พร้อมใช้ที่มีลักษณะ (substance) และความเสี่ยงคล้ายกับหลักทรัพย์ เพื่อให้การเสนอขาย โทเคนดิจิทัลดังกล่าวถูกกำกับดูแลภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ รวมทั้งรองรับหลักทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

รวมไปถึงปรับปรุงในส่วนของศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ให้สามารถรองรับผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้เพื่อให้สอดคล้องกับการกำกับดูแล investment token และ utility token ไม่พร้อมใช้ ภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ ตลอดจนเพิ่มการแข่งขันและรองรับผู้เล่นใหม่ ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีในการประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์

ชี้ต้องกำกับให้ทันยุค

นอกจากนี้ในส่วนของการกำกับดูแลตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่เหลืออยู่ ได้แก่คริปโตเคอเรนซีจะมีการทบทวนกฎหมายและเพื่อลดอุปสรรคในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการทำกิจการต่าง ๆ ของภาคเอกชนปรับปรุงรายละเอียดวิธีการกำกับดูแลให้เหมาะสม รวมทั้งพิจารณาทบทวนโทษและอัตราโทษให้เหมาะสมและได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด ผลกระทบ และความเสียหายต่อผู้ลงทุน

"ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงิน และในตลาดทุน เช่น การนำ blockchain มาอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรม รวมถึงการระดมทุนเพื่อออกเสนอขายหลักทรัพย์ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และการออกเสนอขายโทเคนดิจิทัลตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ดังนั้น การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. จึงต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและเท่าทันต่อพัฒนาการของธุรกิจและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และเทียบเคียงได้กับมาตรฐานสากล เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีกลไกการคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเพียงพอเหมาะสมทันต่อเหตุการณ์ป้องกันมิให้เกิด regulatory arbitrage และเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน”

ยอดเปิดบัญชีคริปโตพุ่ง

นายสุรศักดิ์ ฤทธิ์ทองธาพิทักษ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับตลาด ก.ล.ต. กล่าวว่า ภาพรวมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ณ วันที่ 1 ก.พ. 2564 พบว่ามีมูลค่าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยแยกตามประเภทสินทรัพย์สะสมตลอดปี มีการพุ่งทะยานสูงขึ้นมากตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยมีเหรียญที่มีการซื้อขายมากที่สุด คือ บิทคอยน์ อีเธอเรียม และเอ็กซ์อาร์พี ผู้ลงทุนส่วนใหญ่ เป็นผู้ลงทุนบุคคลในประเทศ

ทางด้านจำนวนบัญชี มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเมื่อปลายปี 2563 อยู่ที่ 1.6 แสนบัญชี และตั้งแต่เดือนม.ค.ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ยอดพุ่งสูงไปถึง 4.7 แสนบัญชี โดยในจำนวนนี้ยังพบว่า เป็นกลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้ามาลงทุนคริปโตฯด้วย คิดเป็นสัดส่วนราว 3% จำนวนเงินลงทุนเฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 6,500 บาท และอีกสถิติที่มีความน่าสนใจ คือ ผู้ที่สนใจเข้ามาลงทุนคริปโตฯส่วนใหญ่ คือ กลุ่มวัยเริ่มทำงาน อายุไม่เกิน 30 ปี คิดเป็นสัดส่วน 47% มีเงินลงทุนเฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 20,000 บาท ถือว่า สินทรัพย์ดิจิทัลตอบโจทย์การลงทุนของคนรุ่นใหม่เช่นกัน ที่เหลือเป็นกลุ่มวัยหลังเริ่มทำงาน อายุเกิน 30 ปี คิดเป็นสัดส่วนราว 50% มีเงินลงทุนเฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 53,000 บาท

ขณะที่ความผันผวนของราคาสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย มีความผันผวนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นไทย โดยที่ดัชนีหุ้นไทยมีความผันผวนเฉลี่ย 10-20% ขึ้นอยู่กับบางช่วงเวลา ขณะที่ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลพุ่งไปถึง 100-200% ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและประเภทเหรียญ ตอนนี้เหรียญ เอ็กซ์อาร์พี มีความผันผวนมากที่สุด หลังจากมีข่าวเรื่องก.ล.ต.ของสหรัฐ เริ่มมองว่าเอ็กซ์อาร์พี เป็นเรื่องของการกำกับหลักทรัพย์

สมาคมฯเตือนระวัง

นายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวว่า ปริมาณคนที่เข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัวในช่วง ธ.ค. 2563 - ม.ค. 2564 ซึ่งถือว่ามีนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาในตลาดคริปโตฯ มากขึ้นจริงๆ และส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้ เข้ามาลงทุนได้ไม่เกิน 1 ปี โดยพบว่า นักลงทุนกลุ่มหนึ่งเข้ามาลงทุนในช่วงเกิดโควิด-19 เนื่องจากธุรกิจซบเซา ทำให้อยากศึกษาและเข้ามาลงทุน มีอัพไซด์สูง

ดังนั้น อยากเตือนนักลงทุนว่าการลงทุนคริปโตฯไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด อัพไซด์มากจริงแต่ดาวน์ไซด์มากเช่นกัน นักลงทุนรับความเสี่ยงดาวน์ไซด์ได้แค่ไหน และการตีมูลค่าแต่ละเหรียญแตกต่างกัน เช่น บิทคอยน์ ต้องยอมรับว่า มีเรื่องของความเชื่อถือ หรือความรู้สึกว่าจะเติบโตในอนาคต เป็นสิ่งที่ไม่สามารถตีมูลค่าได้

เกราะป้องกันที่ดีที่สุด คือ ความรู้ ต้องศึกษาให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง และความเสี่ยงอยู่กับวิธีคิดของตัวเอง โดยส่วนตัวจึงอยากให้มองการลงทุนคริปโตฯเป็นการออมมากกว่า และพิจารณากำหนดกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะกับตัวเอง ปัจจุบันพบว่า เยาวชนหรือเด็กรุ่นใหม่เข้ามา มีความสนใจลงทุนคริปโตถือเป็นเรื่องที่ดี แต่คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือแม้แต่คนในอุตสาหกรรม ต้องให้ความรู้และทางเดินที่ถูกต้องด้วย ทางด้านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย ถูกกฎหมาย ได้รับการรับรองจาก ก.ล.ต. ตรงนี้ป้องกันความเสี่ยงทำให้มั่นใจได้