รัฐสภา เดินหน้าพิจารณาญัตติส่งตีความแก้รัฐธรรมนูญแล้ว "ส.ส.ปชป.-พท." จี้ให้ถอน

รัฐสภา เดินหน้าพิจารณาญัตติส่งตีความแก้รัฐธรรมนูญแล้ว "ส.ส.ปชป.-พท." จี้ให้ถอน

รัฐสภาพิจารณาญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความแก้รัฐธรรมนูญแล้ว "ไพบูลย์" อ้าง ส.ว. จะงดออกเสียงวาระสาม จึงจำเป็นต้องส่ง ด้าน "ส.ส.ปชป.-พท." จี้ให้ถอนญัตติ

     เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ได้เข้าสู่การพิจารณาญัตติด่วน เพื่อขอมติจากรัฐสภา ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2)  ซึ่งนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. พร้อมคณะเสนอ 
     ทั้งนี้นายไพบูลย์ ชี้แจงญัตติว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่ได้ระบุให้รัฐสภาทำรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ให้อำนาจเพียงการแก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้การตีความตามกฎหมายมหาชน หากรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียน จึงทำไม่ได้ อย่างไรก็ดีตนได้ตรวจสอบประเด็นข้อกฎหมายพบปัญหา แต่มีกรรมาธิการหลายคนมีความเห็นแตกต่าง
      “หากรัฐสภาไม่ส่งตีความ ผมเป็นห่วงว่าสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ ส.ว. จะมีปัญหา ต่อการลงมติวาระสาม อาจจะงดออกเสียง ได้เสียงเห็นชอบผ่านร่างรัฐธรรมนูญไม่เพียงพอ ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมองว่าควรส่งศาลรัฐธรรมนูญหลังจากผ่านวาระสามแล้ว กังวลว่าจะทำให้ต้องสูญเสียเงินจำนวนมาก เพราะเมื่อทำร่างรัฐธรรมนูญและลงมติแล้วเสร็จต้องทำประชามติ” นายไพบูลย์ กล่าว

161284214389

     นายไพบูลย์ ชี้แจงด้วยว่าก่อนหน้านี้มีบันทึกความเห็นของกรรมการกฤษฎีกา ต่อผลการศึกษาของกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีความเห็นโดยสรุปว่าให้ยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 ที่ และคำวินิจฉัยที่ 15-18/2556 ดังนั้นกรณีที่เป็นปัญหานั้น จึงควรส่งญัตติให้วินิจฉัยโดยด่วนทั้งนี้ญัตติไม่ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครองชั่วคราวให้ชะลอการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ​ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังดำเนินต่อไปได้ สำหรับผลการวินิจฉัยหากศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าทำได้ จะะทำให้ส.ว.สบายใจและะการลงมติวาระสาม ไม่มีปัญหา แต่หากรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่มีอำนาจจัดทำฉบับใหม่และแก้ไขรายมาตราเท่านั้น ตนเสนอให้ตั้งกรรมาธิการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ของรัฐสภา  ซึ่งจะแก้ไขกว่า 100 มาตราได้ เชื่อว่าจะไม่เสียเวลาและงบประมาณจำนวนหมื่นล้านบาท 
        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาต่อญัตติดังกล่าวได้แสดงความไม่เห็นด้วย พร้อมเรียกร้องให้ถอนญัตติ 
      โดย นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. นครพนม อภิปรายว่าการเสนอญัตติดังกล่าวเป็นการย้อนแย้งต่อนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ต้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  เพราะมีสมาชิกของพรรครัฐบาลดำเนินการยื่นญัตติดังกล่าว เสมือนดึงให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้า เพื่อประโยชน์ของพวกพ้องตนเอง อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ของรัฐสภาสามารถทำได้ตามมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และเป็นการกระทำโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นขอให้ผู้ยื่นถอนญัตติดังกล่าว
161284214354
       ขณะที่ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายยืนยันหลักการของพรรคประชาธิปัตย์ต่อการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนญัตติของนายไพบูลย์นั้นเป็นสิทธิเพราะความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ไม่ใช่การย้อนแย้งที่ต้องส่งตีความ และสิ่งที่นายไพบูลย์ ฐานะรองประธานกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระบุว่าการส่งตีความนั้น ไม่มีผลให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหยุดลง ตนฐานะรองประธานกรรมาธิการชุดดังกล่าวเช่นเดียวกัน มองว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ ไม่ต้องย้อนถามถึงความขัดแย้งทางการเมือง   เมื่อร่วมร่างรัฐธรรมนูญ และมีกลไกยื่นศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้ถูกกล่าวหาว่ามีเจตนาแอบแฝง ดังนั้นทางออกที่ดี ควรถอนญัตติเพื่อสร้างความสมานฉันท์และชอบธรรม  และใช้สิทธิ์ตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ​ที่ระบุว่า หากกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ  
161284214469
       “ผมได้ศึกษาอย่างรอบด้าน เชิญนักวิชาการมาให้ความเห็นและยืนยันว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และมีบทบัญญัติแบบอย่าง คือ การตั้งส.ส.ร. เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อมีอำนาจจึงมีผลบังคับ รัฐสภามอบอำนาจเพื่อให้มีส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และได้ศึกษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตามบริบท รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และพบการแก้ไขที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญ​ คือ เสียบบัตรแทนกัน แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดกระบวนการการแก้ไขไว้ ซึ่งการทำของกรรมาธิการฯ คือการแก้ไขหลักการของเสียง แต่ยังใช้หลักการเสียงข้างมาก คือ 3 ใน 5 และได้เพิ่มให้มี ส.ส.ร. โดยกำหนดรายละเอียดต่อการได้มาซึ่งส.ส.ร. ที่ทำหน้าที่รวมถึงเขียนเนื้อหาห้าม ส.ส.ร. แก้ไขหมวด 1 และ หมวด2 อีกทั้งยังกำหนดให้ทำประชามติ ซึ่งเป็นขั้นตอนสถาปนารัฐธรรมนูญ” นายชินวรณ์​ อภิปราย
       เช่นเดียวกับนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่าญัตติดังกล่าว ถือว่ายื้อเวลาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกรรมาธิการฯ​ได้ทำตามขั้นตอนของมาตรา 256 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และมีบทบัญญัติให้ทำประชามติหลังจากผ่านวาระสาม ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจของรัฐสภา ขอเรียกร้องว่าสมาชิกรัฐสภาออกเสียงไม่ควรส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ.