เจาะงบปี 65 'กลาโหม' เปิดแผนซื้ออาวุธ ' 3 เหล่าทัพ '

เจาะงบปี 65 'กลาโหม' เปิดแผนซื้ออาวุธ ' 3 เหล่าทัพ '

‘เรือดำน้ำ’ ลำที่สองและสาม มีแนวโน้มถูกชะลอไปอีกระลอก หลังไม่ปรากฎในรายการงบประมาณปี 2565 ของ กองทัพเรือ

 กลายเป็นประเด็นต้องจับตา สำหรับการจัดทำแผนงบประมาณปี 2565 ของกระทรวงกลาโหม โดยความน่าสนใจคงหนีไม่พ้นการจัดซื้อจัดหา ‘อาวุธ-ยุทโธปกรณ์’ ของ ‘เหล่าทัพ’ ที่จำเป็นต้องคงไว้ซึ่งแสนยานุภาพทางการทหารในภูมิภาคอาเซียน ท่ามกลางกระแสกดดันพรรคฝ่ายค้านและสังคมที่ต้องการ ‘ตัด -เฉือน’ นำมาช่วยเหลือประชาชนที่ต้องต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรค ‘โควิด-19’

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้วางกรอบนโยบายการบริหารงบประมาณปี 2565 โดยมุ่งเน้นถึงความคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และต้องสอดคล้องกับความจำเป็น ภายใต้สถานการณ์ ‘โควิด-19’ แต่ในขณะเดียวกันต้องรักษาความสมดุลของประเทศในทุกมิติ ผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

โดยรัฐบาลได้อนุมัติหลักการงบประมาณปี 2565 ไว้ที่ 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งทำให้การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2564 จำนวนกว่า 9.1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ต้องรอความชัดเจนในเรื่องตัวเลขงบประมาณรายกระทรวงที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนเมษายนนี้

สำหรับกระทรวงกลาโหม เตรียมเสนองบประมาณปี 2565 อยู่ในระดับไล่เลี่ยกับปีงบประมาณ 2564 ที่ได้รับจัดสรรจำนวน 223,463.7 ล้านบาท โดยเกือบ 50% เป็นการใช้จ่ายงบประจำ เช่น เงินเดือน สิทธิตามกฎหมาย และสวัสดิการ ที่เหลือเป็นภารกิจพื้นฐานการฝึกและการจัดซื้อจัดหาอาวุธ-ยุทโธปกรณ์

ปีนี้ทั้ง ‘3 เหล่าทัพ’ ได้ทำแผนการใช้จ่ายงบประมาณไว้เบื้องต้น โดยตั้งงบสำหรับโครงการจัดซื้อจัดหา ‘อาวุธ-ยุทโธปกรณ์’ เหล่าทัพละ 20% จากงบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาล

ในส่วน ‘กองทัพบก’ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ยังคงยืนยันถึงความจำเป็นจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อทดแทนของเดิมที่หมดอายุการใช้งาน แต่เนื่องจากการแพร่ระบาด ‘โควิด-19’ จึงปรับแผนมุ่งเน้นเฉพาะส่วนที่จำเป็น และคุ้มค่าในการใช้งาน

กองทัพบก จึงขอตั้งงบประมาณไว้ 2 ส่วน โดยส่วนแรกเกือบ 6,000 ล้านบาท ประกอบด้วย จัดหาเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไประยะที่ 2 จำนวน 3,500 ล้านบาท การจัดหารถกู้ซ่อม จำนวน 677 ล้านบาท การจัดหาเครื่องช่วยฝึกเทคโนโลยีขั้นสูง 600 ล้านบาท การจัดหาระบบควบคุมการยิงของรถถังเอ็ม 60 จำนวน 720 ล้านบาท

ส่วนที่สอง เป็นงบประมาณผูกพันข้ามปีอีก 6,000 ล้านบาท ทั้ง รถถัง VT-4 จำนวน 689 ล้านบาท เฮลิคอปเตอร์แบบโจมตี จำนวน 1,690 ล้านบาท ยานเกราะ Stryker (งบประมาณผูกพันข้ามปี รวม 2 ระยะ) จำนวน 2,560 ล้านบาท

161282873286

ทางด้าน'กองทัพเรือ' ที่เคยตกเป็นประเด็นร้อนอย่าง ‘เรือดำน้ำ’ ลำที่สองและสาม จนต้องชะลอการจัดซื้อในงบประมาณปี 2564 หลังจากหลายฝ่ายออกมาท้วงติงถึงความไม่เหมาะสมในห้วงที่เศรษฐกิจตกต่ำจากสถานการณ์ ‘โควิด-19 ’ และครั้งนี้ก็ไม่ปรากฎตัวเลขการจัดซื้อเรือดำน้ำในงบประมาณปี 2565 แต่ก็ยังมีแผนจัดซื้อจัดหาในส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ระบบการสื่อสารควบคุมบัญชาการเรือดำน้ำ จำนวน 300 ล้านบาท การก่อสร้างโรงจอดเรือดำน้ำ และอู่ซ่อมบำรุง จำนวน 650 ล้านบาท 

ส่วนโครงการอื่นๆ ของกองทัพเรือ มีทั้ง การจัดหาอากาศยานไร้คนขับ จำนวน 5,000 ล้านบาท การปรับปรุงชุดเรือหลวงปัตตานี จำนวน 3,300 ล้านบาท การจัดหารถยานเกราะสะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 813 ล้านบาท การปรับปรุงเครื่องบินดอร์เนีย จำนวน 800 ล้านบาท การจัดหาเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ จำนวน 997 ล้านบาท

ด้าน ‘กองทัพอากาศ’ ขอตั้งงบประมาณไว้ 2 ส่วนเช่นกัน คือ จัดหาเครื่องบินแบบที่ 19 (ทดแทน PC-9) จำนวน 1,800 ล้านบาท จัดหาเครื่องบินเครื่องบินโจมตีขนาดเบา (ทดแทน L-39) จำนวน 900 ล้านบาท

อีกส่วนเป็นงบประมาณผูกพันข้ามปี ได้แก่ การปรับปรุง Software Gripen จำนวน 1,700 ล้านบาท เครื่องบินโจมตี AT-6 TH จำนวน 2,000 ล้านบาท เครื่องบินขับไล่-ฝึก T 50 TH จำนวน 2,000 ล้านบาท ปรับปรุงอัลฟ่าเจ็ต จำนวน 1,200 ล้านบาท

เห็นชัดเจนว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่พ้นวิกฤติ ได้ส่งผลกระทบต่อการจัดซื้อ ‘อาวุธ-ยุทโธปกรณ์’ จนทำให้ ‘เรือดำน้ำ’ ลำที่ 2 และ 3 ของกองทัพเรือ ต้องขยับออกไปอีกปี จากนี้ต้องรอดูว่า รายการอื่นๆ ของ ‘กองทัพบก-กองทัพอากาศ’ จะมี ‘เอฟเฟค’ ตามมาหรือไม่