วัคซีนโควิด-19ล็อตแรก 2 แสนโดสฉีด 4 กลุ่มในจ.สมุทรสาคร

วัคซีนโควิด-19ล็อตแรก 2 แสนโดสฉีด 4 กลุ่มในจ.สมุทรสาคร

สธ.เผยวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกเข้าไทย 2 แสนโดสจากซิโนแวค ภายในกรอบก.พ.นี้  เริ่มฉีด 4 กลุ่มแรกในสมุทรสาคร 2 แสนคน ระยะต้นหวังผลคุมการระบาดพื้นที่วงจำกัด ยันวัคซีนพอ แผนจัดหาเหมาะกับบริบทไทย แย้มคกก.จัดหาวัคซีนให้กรอบเพิ่มอีก 10-20 ล้านโดส

      เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 8 ก.พ. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.)เป็นประธานว่า  คณะกรรมการฯเห็นชอบกลยุทธ์การบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19และแผนกระจายวัคซีน โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ  คือ ระยะต้น วัคซีนของซิโนแวค 2 ล้านโดส ซึ่งจะฉีดให้ครบภายใน  2-3 เดือน ในกลุ่มเป้าหมาย เชิงบุคคลได้แก่ บุคลากรทำงานด่านหน้า  ประชาชนที่มีโรคประจำตัว อายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มอื่นๆ เช่น  แรงงานทำงานในภาคอุตสาหกรรม และเศราฐกิจ และเชิงพื้นที่  ได้แก่ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ จ.สมุทรสาคร เป็นการฉีดเพื่อมุ่งควบคุมโรค และพื้นที่ควบคุมสูงสุด คือ กรุงเทพฯและปริมาณ และจังหวัดที่มีการระบาดต่อเนื่อง เช่น จ.ตากและชลบุรี เป็นต้น   และระยะถัดไป เมื่อมีวัคซีนเพิ่มเติมจำนวน 61 ล้านโดส จะเร่งฉีดช่วงแรก 5 ล้านโดสต่อเดือน และขยับเป็น 10 ล้านโดสต่อเดือน

       “ส่วนของวัคซีนซิโนแวค 2 ล้านโดส จะเข้ามาล็อตแรกยังอยู่ในกรอบที่มีการหารือตั้งแต่ต้น คือ  เดือนก.พ. จำนวน 2 แสนโดส จะนำมาฉีดให้กับกลุ่มบุคคลเป้าหมายในจ.สมุทรสาครก่อน โดยฉีด 1 เข็ม จำนวน 2 แสนคน ทั้งนี้จากที่ได้รับรายงานบุคลากรในจ.สมุทรสาครมีความต้องการฉีดวัคซีน 90 % เดือนมี.ค. จำนวน 8 แสนโดส และเดือนเม.ย.อีก 1 ล้านโดส”นพ.โอภาสกล่าว  

0 ยันจัดหาวัคซีนเหมาะบริบทไทย

       นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า  ส่วนของวัคซีนจากแอสตราเซนเนก้า ตามข้อกำหนดเดิมคือมิ.ย.2564 แต่กรณีที่ขอให้มีการจัดหานำเข้ามาไทยให้ได้ก่อนแบบเร่งด่วน ตามกรอบเดือนก.พ.นั้น มีการติดชัดจากปัจจัยภายนอก แต่ขณะนึ้ยังอยู่ในแผนที่จะดำเนินการได้ ขอเวลาทำงานอีกระยะหนึ่ง จะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบ ซึ่งยังไม่ได้ปิดความพยายามที่จะจัดหาวัคซีนของแอสตราฯเข้ามาในช่วงเร่งด่วน และไม่ได้บอกว่าภายในกรอบเดือนก.พ.จะเป็นไปไม่ได้ 

         นพ.นคร กล่าวด้วยว่า 2-3 เดือนข้างหน้ากำลังการผลิตวัคซีนไม่พอกับความต้องการ เพราะความต้องการเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด แต่กำลังการผลิตค่อยๆเพิ่มขึ้น ซึ่งแผนกระจายวัคซีนของแต่ละประเทศมีความจำกัดของวัคซีน บางประเทศเริ่มฉีดมา 1 เดือนแล้วแต่ก็กระจายได้ไม่มาก เพราะข้อจำกัดอยู่ที่จำนวนวัคซีน ไม่ใช่กำลังการฉีด เพราะฉะนั้น ถ้าจะเห็นผลวัคซีนต้องใช้วัคซีนจำนวนมาก ถ้าฉีด1-2ล้านโดสไม่เห็นผล เว้นแต่ใช้คุมการระบาดของโรคในวงจำกัด ประเทศไทยจึงนำมาวัคซีนล็อตเร่งด้วน 2 ล้านโดสมาใช้ในวงจำกัดเพื่อให้ได้ผลดีในการคุมการระบาดของโรคในพื้นที่ที่มีการระบาดวงจำกัดไม่มาก ซึ่งหากนำวัคคซีน 2 ล้านโดสไปคุมระบาดในประเทศที่มีการระบาดวางกว้างจำนวนมากก็ไม่ได้ผล

       “แต่ละประเทศมีบริบทไม่เหมือนกัน ยืนยันนการจัดหาวัคซีนเหมาะสมกับบริษัทของประเทศไทย ส่วนที่การฉีดวัคซีนเพื่อผลเชิงเศรษฐกิจ เมื่อมีวัคซีนกรมควบคุมโรคก็จะเร่งรัดการฉีดในปริมาณที่มากแบบไม่เคยทำมาก่อน ซึ่งการพิจารณาเลือกวัคซีนของประเทศไทยนั้น ไม่ได้พิจารณาเพียงแต่ประสิทธิผลอย่างเดียว แต่คำนึงถึงความเหมาะสมกับประเทศด้วย ขอยืนยันว่าประเทศไทยจะมีวัคซีนพอ”นพ.นครกล่าว

0 ให้กรอบจัดหาอีก 10-20 ล้านโดส

      นพ.นคร กล่าวอีกว่า คณะกรรมการจัดหาวัคซีนได้ให้กรอบการพิจารณาจัดหาเพิ่มเติมอีก 10-20 ล้านโดส เพิ่มเติมจากแผนเดิมที่มีอยู่แล้ว 2 ล้านโดส และ61 ล้านโดส แต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะต้องเป็นของบริษัทไหนอย่างไร แต่เป็นการให้กรอบไว้ เพื่อว่าหากมีวัคซีนตัวอื่นที่จะทยอยแสดงประสิทธิผลออกมาก็จะสามารถพิจารณาเจรจาได้ เพราะขณะนี้ยังมีวัคซีนอีกกว่า 20 ชนิดที่กำลังจะทยอยประกาศประสิทธิผล

   ผู้สื่อข่าวถามว่าการให้วัคซีนโควิด-19 ในส่วนของแรงงานภาคอุตสาหกรรมครอบคลุมแรงงานต่างด้าวหรือไม่ และค่าใช้จ่ายจะเป็นอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า  นโยบายของรัฐบาลคือฉีดให้คนที่อยู่ในประเทศไทย ดังนั้น หากแรงงานต่างด้าวอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะต้องได้รับวัคซีนก็จะต้องจัดให้กับแรงงานที่เข้ามาทำงานโดยถูกกฎหมาย เพราะไม่มีประโยชน์ถ้าจะฉีดคนไทยแต่ไม่ฉีดอีกกลุ่มคนที่ทำงานในประเทศไทยและมาจากประเทศที่เคยติดเชื้อมากมาก่อน ส่วนค่าใช้จ่ายวัคซีนสำหรับแรงงานต่างด้าว ก็จะต้องมีการหารือกับนายแจ้งและกระทรวงแรงงาน อย่างไรก็ตาม แรงงานก็จะมีประกันสุขภาพของตัวเองอยู่ด้วย จะต้องหาวิธีที่เหมาะสมที่สุด โดยคิดถึงความปลอดภัยของคน

      ต่อข้อถามถึงความเป็นไปได้ที่ผู้ผลิตรายอื่นๆจะมาขึ้นทะเบียนวัคซีนในประเทศไทย นายอนุทิน กล่าวว่า ประเทศไทยเปิดกว้างมาตลอด แต่ที่ผ่านมาผู้ผลิตจะยื่นเงื่อนไจบางอย่างมาก่อน เช่น จะมาขึ้นทะเบียนก็ต่อเมื่อประเทศไทยแจ้งก่อนว่าจะสั่งซื้อเท่าไหร่ ซึ่งเราไม่สามารถกำหนดเช่นนั้นตามเงื่อนไขได้ แต่ก็เชิญชวนให้มาขึ้นทะเบียนให้มากที่สุด เพื่อวันหน้าที่ภาคเอกชนจะจัดหาวัคซีนมาบริการประชาชนกลุ่มที่พร้อมเสียค่าใช้จ่ายเอง ในช่วงเวลาที่โรคสงบแล้ว เพราะก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องให้วัคซีน แต่หากไม่มมาขึ้นทะเบียน ก็จะขยับไปถึงขั้นนั้นไม่ได้

     “เราเปิดกว้างทุกบริษัทวัคซีน โดยทุกบริษัทก็อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้หมด แต่มีการติดเงื่อนเวลาของการส่งมอบล็อตแรกได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปี  ซึ่งถ้าเราจะซื้อก็ต้องเกิดประโยชน์มากที่สุด แต่เมื่อได้ในช่วงเวลาที่ซ้ำซ้อนกับที่เราจะได้จากแอสตราฯที่ผลิตในประเทศอยู่แล้ว แต่ถ้าจำเป็นก็สั่งได้ แต่ตอนนี้เรายังมีเวลาพิจารณา”นายอนุทินกล่าว