‘ล้มประมูล’สายสีส้ม ถ่วงหุ้น BTS-BEM

‘ล้มประมูล’สายสีส้ม  ถ่วงหุ้น BTS-BEM

เรียกว่าเป็นข่าวใหญ่ที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

มีมติสายฟ้าผ่าสั่ง “ล้มประมูล” โดยไม่รอคำตัดสินของศาล ทั้งๆ ที่ยังมีคดีความฟ้องรองกันอยู่ ทำให้เกิดคำถามตามมาทันทีว่า เกิดอะไรขึ้นกับบิ๊กโปรเจคมูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาท ทำไมถึงยกเลิกประมูลกลางคันแบบนี้? โครงการก็ไม่ใช่โครงการเล็กๆ ที่จะมาเปลี่ยนใจกันง่ายๆ อยากทำก็ทำ อยากเลิกก็เลิก

คณะกรรมคัดเลือกฯ มีอำนาจหรือไม่? และเมื่อยกเลิกแล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อไป? เอกชนที่เข้าประมูลจะยอมหรือไม่? เรียกว่ามีสารพัดคำถามตามมามากมาย ซึ่งต่อมา “กิตติกร ตันเปาว์” รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะประธานกรรมการคัดเลือกฯ ออกมาชี้แจงว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีสิทธิล้มประมูล โดยได้ระบุไว้ในเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการ (RFP)

ส่วนที่ต้องยกเลิกเพราะยังไม่ชัดเจนว่ากระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาลจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ หลังกลุ่มบีทีเอสยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดลือกฯ กรณีเปลี่ยนเกณฑ์การประมูลทั้งๆ ที่ขายเอกสารประกวดราคาไปแล้ว โดยให้นำข้อเสนอด้านเทคนิคมาพิจารณาควบคู่กับข้อเสนอด้านราคาในสัดส่วน 30 คะแนน และ 70 คะแนน จากเดิมใช้เกณฑ์ราคาอย่างเดียว 100 คะแนน เป็นตัวชี้ขาด

ซึ่งต่อมาศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินให้กลับไปใช้เกณฑ์เดิมจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาล สุดท้ายมีเอกชนเข้ายื่นประมูลเพียงแค่ 2 กลุ่ม จากที่ซื้อซองประกวดราคาไปทั้งหมด 10 บริษัท ได้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในกลุ่มบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS

โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ มองว่าหากต้องรอคำตัดสินของศาลโครงการจะยิ่งล่าช้า ขณะนี้กรอบเวลาในการพิจารณานานเกินกว่าที่ รฟม. ประเมินไว้ ส่งผลต่อการเปิดให้บริการส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2565 และมีกำหนดการเปิดให้บริการในเดือน มี.ค. 2567 ทำให้ รฟม. ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลบำรุงรักษางานโยธาของส่วนตะวันออกเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการล้มประมูลจะเป็นสิทธิของคณะกรรมการคัดเลือกฯ แต่ในมุมเอกชนก็มีสิทธิที่จะยื่นฟ้องได้เช่นกัน ทั้งการฟ้องแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจากการยกเลิกประมูล, ฟ้องอาญาเพื่อเอาผิดคณะกรรมการคัดเลือกฯ และรฟม. และยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อเพิกถอนคำสั่งล้มประมูล

โดยขณะนี้เอกชนทั้ง 2 กลุ่ม ยังสงวนท่าทีว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยต้องการคำชี้แจงอย่างเป็นทางการจาก รฟม. แต่ถ้าในที่สุดแล้วเอกชนตัดสินใจยื่นฟ้องศาลจริง น่าจะทำให้โครงการล่าช้าออกไปอีก เพราะต้องมาต่อสู้กันในชั้นศาล

ส่วนในมุมของ รฟม. เร่งเดินหน้ากระบวนการประมูลใหม่ทันที หวังว่าจะออกประกาศเชิญชวนในช่วงเดือน มี.ค. นี้ และเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอโครงการราวๆ เดือน มี.ค.-พ.ค. 2564 หวังทราบผลผู้ชนะการประมูลในเดือน ส.ค. 2564

แต่สิ่งสำคัญที่สุดหากต้องเริ่มต้นประมูลใหม่คือ เกณฑ์ที่จะนำมาใช้ซึ่ง รฟม. ยังไม่ได้ประกาศว่าจะใช้เกณฑ์อะไร จะเป็นเกณฑ์เดิมที่พิจารณาจากข้อเสนอด้านราคาอย่างเดียว หรือ จะนำข้อเสนอด้านเทคนิคมาพิจารณาด้วย

หากดูจากเหตุผลที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ หยิบยกขึ้นมาเพื่อล้มประมูล หลักๆ แล้วคือเรื่องของระยะเวลาที่ล่าช้า เนื่องจากต้องรอผลการตัดสินของศาล ดังนั้นถ้าหากกังวลเรื่องของระยะเวลาจริงๆ คณะกรรมคัดเลือกฯ ควรจะยึดเกณฑ์เดิม คือ เอกชนรายใดเสนอผลตอบแทนให้รัฐสูงสุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล

เพราะเป็นหลักเกณฑ์ที่ผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคมและ ครม. มาแล้ว รวมทั้งใช้ประมูลงานก่อสร้างขนาดใหญ่ในประเทศไทยมาโดยตลอด ดังนั้นหาก รฟม. จะเริ่มต้นขายซองประมูลใหม่น่าจะใช้เวลาไม่นาน

แต่ถ้าหากใช้เกณฑ์ใหม่ดูคะแนนเทคนิคควบคู่กับคะแนนด้านราคา น่าจะยิ่งทำให้โครงการล่าช้า เพราะต้องจัดทำร่างทีโออาร์ใหม่ เปิดรับฟังความคิดเห็น ก่อนที่จะเสนอร่างกลับมาที่กระทรวงคมนาคม และส่งต่อให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง ซึ่งขั้นตอนยุ่งยากกว่าการใช้เกณฑ์ราคาอย่างเดียว

แน่นอนว่าเมื่อโครงการยังไม่มีความชัดเจน ย่อมส่งผลกระทบทางจิตวิทยาต่อเอกชนที่ตัดสินใจเข้าประมูล จะเห็นว่าราคาหุ้นทั้ง BTS และ BEM ปรับตัวลงเล็กน้อยในวันที่มีมติออกมา จากนั้นก็แกว่งตัวในกรอบแคบๆ แทบไม่ไปไหน สวนทางตลาดหุ้นไทยที่ดีดตัวแรง