"กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ" แก้สาระ8จุด - เติมความให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ หากพบการตราขัดรัฐธรรมนูญ

"กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ"  แก้สาระ8จุด - เติมความให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ หากพบการตราขัดรัฐธรรมนูญ

เปิดสาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับกมธ.ฯ พบ 8จุดสำคัญ ไฮไลต์ คือ เติมความประเด็นให้อำนาจรัฐสภาตรวจสอบการตรารัฐธรรมนูญมิชอบ

       ผู้สื่อข่าวรายงานถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่)  รัฐสภา ที่มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ​ เป็นประธานกมธ.ฯ ได้พิจารณาแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์
       โดยเนื้อหามีการปรับแก้ทั้งสิ้น 8 ประเด็น ได้แก่  1. ว่าด้วยเสียงลงคะแนนในวาระแรก และวาระสาม ในมาตรา 256 จากร่างที่เป็นหลักพิจารณากำหนดให้ใช้เสียง 3 ใน 5 หรือ 450 เสียง ไปเป็น ใช้เสียง 2 ใน 3 หรือ 500 เสียงของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสองสภา
       2.ในหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แก้ไขให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ​(ส.ส.ร.) มีจำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จากเนื้อหาเดิม กำหนดให้มี ส.ส.ร.​200 คนมาจากเลือกตั้ง 150 คนและคัดสรร 50 คน  
       3.  มาตราว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพิ่มเนื้อหา ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.  รวมถึงบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้โดยอนุโลม จากเดิมที่ให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกหลักเกณฑ์และวิธีการเลือก ส.ส.ร. เท่านั้น  ทั้งนี้เพื่อให้การเลือกตั้ง ส.ส.ร.​ทำได้โดยรวดเร็ว ไม่ต้องรอการตราระเบียบหรือรายละเอียดที่เกี่ยวข้องที่อาจทำให้การเลือกตั้งส.ส.ร. ล่าช้ากว่า 90 วัน 
       4.ว่าด้วยการประกาศรายชื่อส.ส.ร. กำหนดให้ ประธานรัฐสภาเป็นผู้ประกาศรายชื่อในราชกิจจานุเบกษา หลังจาก กกต.​รับรองผลเลือกตั้งแล้ว  
       5.เพิ่มบทบัญญัติว่า ด้วยการเลือกส.ส.ร.แทนตำแหน่งที่ว่าง เพราะตายหรือลาออก หรือขาดคุณสมบัติ โดยกำหนดให้เลือกตั้ง ส.ส.ร. ทดแทน ภายใน 45 วัน เว้นแต่จะเหลือเวลาทำร่างรัฐธรรมนูญไม่ถึง 90 วัน
       6. กรณีกระบวนการการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีประเด็นว่าควรตั้งคณะกรรมาธิการยกร่าง หรือคณะทำงานอีกชุดเพื่อทำหน้าที่แทนส.ส.ร. หรือไม่ กมธ.​ได้เพิ่มบทบัญญัติให้ ส.ส.ร. มีอำนาจแต่งตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ จากบุคคลที่เป็น ส.ส.ร. ส่วนกรรมาธิการอื่น อาจตั้งบุคคลที่ไม่เป็นส.ส.ร.ได้ พร้อมกำหนดคุณสมบัติให้เลือกจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือประสบการในการทำหน้าที่และกำหนดให้กรรมาธิการเท่าที่จำเป็น
       7. ประเด็นเมื่อทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ ได้แก้ไข และมีสาระสำคัญ​คือให้นำเสนอต่อรัฐสภา และกำหนดหน้าที่รัฐสภาเพียงแค่อภิปรายแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ภายใน 30 วัน โดยไม่ลงมติ จากนั้นภายใน  7 วันให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ กกต.ออกเสียงประชามติ เดิมที่กำหนดให้รัฐสภาลงมติตัดสินหากมติไม่เห็นด้วย จึงต้องไปทำประชามติสอบถามประชาชน 
       และ 8. ประเด็นการตรวจสอบกระบวนการตรารัฐธรรมนูญ กมธ.​กำหนดรายละเอียดให้ สมาชิกรัฐสภา เข้าชื่อกัน เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยมีประเด็นที่เพิ่มเติม คือ หากพบกระบวนการตราไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ  โดยประเด็นดังกล่าวมีการอภิปรายถึงกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่น การเสียบบัตรแทนกัน เป็นต้น

        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเทียบเนื้อหากับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 256 ฉบับที่บังคับใช้ปัจจุบัน พบว่า หากรัฐสภาลงมติเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกรรมาธิการแล้ว จะทำให้ เกิดความเปลี่ยนแปลงในประเด็นสำคัญ ว่าด้วยการออกเสียง ทั้งในวาระแรก ที่ตัดบทบังคับให้ มีเสียงส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกวุฒิสภาที่มีอยู่ หรือ 85 เสียง ต้องลงคะแนนในการรับหลักการด้วย, วาระสาม ที่ตัดบทบังคับเสียงเห็นชอบ ที่ต้องมีเสียงส.ว.เห็นชอบด้วย ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 85 เสียง และเสียงของฝ่ายค้านและส.ส.ของพรรคที่ไม่มีบุคคลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ร้อยละ 20 ออก และเหลือเพียงใช้เสียงเห็นชอบ  2 ใน 3 แทน 

       และมาตรา 256 (9)  ที่เพิ่มบทบัญญัติเป็นช่องทางตรวจสอบการทำร่างรัฐธรรมนูญ ที่เพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการตราไม่ถูกต้องต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ  จากเดิมที่มีข้อกำหนดว่า ขัดต่อมาตรา 255,  แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป, หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรืออำนาจหน้าที่ของศาล องค์กรอิสระ หรือทำรเื่องให้ศาลหรือองค์กรอิสะรปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้

        ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับขั้นตอนการทำงานของกมธ. หลังจากนี้ คือ การพิจารณารับฟังคำแปรญัตติของสมาชิกรัฐสภา จำนวน 108 คน.