เตือนกลุ่มเสี่ยง เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ระวังในการดื่มน้ำประปาเค็ม

เตือนกลุ่มเสี่ยง เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ระวังในการดื่มน้ำประปาเค็ม

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยช่วงน้ำทะเลหนุนเสี่ยงน้ำประปาเค็ม แนะชาวบ้านอย่าตื่นตระหนกเพราะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เตือนกลุ่มเสี่ยง เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เพิ่มความระวังในการดื่ม

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในปีที่แล้วและปีนี้ มีการคาดการณ์เรื่องภัยแล้งและน้ำหนุนสูงจากทะเลเข้าสู่ระบบน้ำดิบ จึงทำให้คุณภาพน้ำดิบที่นำมาผลิตประปาได้รับผลกระทบ ส่งผลให้น้ำประปามีระดับค่าของความเค็มที่เรียกว่า "กร่อย" เพิ่มมากขึ้น ผู้ที่บริโภคน้ำประปาเป็นประจำอาจจะรับรู้ถึงรสชาติที่เปลี่ยนไปจากปกติบ้าง โดยความเค็มดังกล่าวมาจากเกลือโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือแกงที่ใช้ปรุงอาหาร ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดค่าแนะนำเพื่อความน่าดื่มและการยอมรับของผู้บริโภคไว้คือ ในน้ำประปาควรมีโซเดียมไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตรและคลอไรด์ไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่ถ้าเจือปนในน้ำมากเกินไปจะทำให้น้ำมีรสกร่อยถึงเค็มได้ ซึ่งทางโภชนาการและการแพทย์แนะนำว่า ควรรับโซเดียมเข้าสู่ร่างกายไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน

โดยปัจจุบันน้ำประปามีโซเดียมประมาณ 100–150 มิลลิกรัมต่อลิตร จึงเป็นไปไม่ได้ที่คนปกติจะดื่มน้ำประปาจนได้รับโซเดียมเกินกว่าที่กำหนด แต่การดื่มน้ำกร่อยอาจได้รับโซเดียมเพิ่มเติมจากปกติ จึงควรลดปริมาณสารปรุงแต่งอาหารที่มีความเค็มลง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ้ว ซอสปรุงรส ผงปรุงรส งดการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น ขนมกรุบกรอบ มันฝรั่งทอด หรือเปลี่ยนเป็นใช้น้ำดื่มบรรจุขวด ปิดสนิทแทน และให้สำรองน้ำประปาในช่วงที่ภาวะน้ำปกติเพื่อใช้ทดแทนในช่วงภาวะน้ำประปาเค็ม

           

“ทั้งนี้ หากนำน้ำประปาเค็มไปต้มด้วยอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส สิ่งที่ระเหยคือน้ำ แต่ตัวเกลือไม่ได้ระเหยไปด้วย เพราะฉะนั้นยิ่งทำให้น้ำระเหยไปมากเท่าไร ยิ่งทำให้สัดส่วนความเค็ม หรือความกร่อยเพิ่มมากขึ้น เช่น จากเดิมน้ำ 1 ลิตรมีเกลือ 200 มิลลิกรัม แต่เมื่อต้มไปน้ำระเหยจะทำให้เหลือน้ำน้อยกว่า 1 ลิตร มีเกลือ 200 มิลลิกรัมเท่าเดิม เพราะฉะนั้น การต้มไม่ได้ช่วยให้น้ำประปาหายเค็มได้ ดังนั้น กลุ่มคนบางกลุ่มที่มีร่างกาย ไวต่อระดับเกลือโซเดียมที่เพิ่มขึ้น เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยและผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต หัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิต ตลอดจนผู้ป่วยโรคทางสมอง สัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก หรือกลุ่มที่ผู้ป่วยที่แพทย์แนะนำว่า ไม่ควรบริโภคเกลือ โซเดียมมากเกินไป ต้องระมัดระวังในการดื่มน้ำประปาช่วงนี้ เพราะอาจได้รับปริมาณโซเดียม หรือความเค็มเกินปริมาณที่สามารถบริโภคได้ และอาจจะส่งผลกระทบกับภาวะโรคที่เป็นอยู่ ในส่วนของ กลุ่มผู้ป่วยโรคไตที่รับบริการฟอกไตที่โรงพยาบาลไม่ต้องกังวล เนื่องจากโรงพยาบาลทุกแห่งมีระบบการกรองแบบ Reverse Osmosis (RO) ที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ มั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัย”